MGR Online - รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประชุมคณะทำงานปรับปรุงตำแหน่งพนักงานสอบสวน ตามคำสั่ง คสช. เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ยืนยันไม่มีการลิดรอนสิทธิประโยชน์ วอนทำความเข้าใจยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ด้านประธานสมาคมพนักงานสอบสวน นัดประชุมทำความเข้าใจ 14 ก.พ. นี้
วันนี้ (10 ก.พ.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน ให้สอดคล้องกับโครงสร้าง และระบบการบังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยใช้เวลาประชุมประมาณ 30 นาที
พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวภายหลังประชุม ว่า หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. มีคำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 7/2559 ปรับตำแหน่งงานสอบสวน ตร. มีเวลา 90 วัน ในการปรับระบบตำแหน่งใหม่ ให้เหมาะสม สร้างบ้านที่เหมาะสมให้พนักงานสอบสวนที่มีอยู่ กว่า 10,000 คน โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มีวัตถุประสงค์สำคัญว่า ต้องเพิ่มประสิทธิภาพงานสอบสวนในระดับสถานีตำรวจให้มีคุณภาพขึ้น ประชาชนไว้วางใจเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม
ทั้งนี้ ได้มีการพิจารณาเรื่องขวัญกำลังใจของพนักงานสอบสวนด้วย มองว่า เมื่ออยู่ในโรงพักเดียวกัน ทุกสายงาน ทั้งปราบปราม สืบสวน จราจร สอบสวนต้องทำงานร่วมกัน ช่วยกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการคุยกันถึงการเชื่อมโยงงานทะเบียนประวัติอาชญากร นิติเวช บูรณาการ อย่างไร วันนี้ได้ตั้งคณะทำงานเพิ่มเติม ให้ตัวแทนพนักงานสอบสวนจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาคต่าง ๆ มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้เกิดความพึงพอใจจากพนักงานสอบสวน รวมทั้งตำรวจสายงานอื่น ๆ ที่ต้องทำงานร่วมกัน จุดประสงค์หลัก คือ เพิ่มประสิทธิภาพงานสอบสวน สืบสวน อำนวยความยุติธรรม คลี่คลายคดี จับคนร้ายได้เร็ว เป็นที่พึ่งของประชาชนได้
“คำสั่ง คสช. ถือเป็นกฎหมายที่ต้องปฏิบัติ ต้องทำความเข้าใจนั่งคุยกับพนักงานสอบสวนทั้งหมื่นนาย และตำรวจอีก 2 แสนนายทั่วประเทศ โดยจากนี้จะเชิญตัวแทนพนักงานสอบมาร่วมกันระดมความคิด ออกแบบแนวทางให้สอดคล้องคำสั่ง คสช. ยอมรับว่า มีพนักงานสอบสวนบางส่วนที่ยังไม่เข้าใจ เป็นปัญหาบ้าง บางส่วนยังไม่เข้าใจเจตนา แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่เข้าใจการเปลี่ยนผ่าน และยึดถือประโยชน์ส่วนรวมว่าเป็นการทำเพื่อแก้ปัญหา หวังให้งานสอบสวนตำรวจมีประสิทธิภาพ ให้ความยุติธรรมทางอาญา คิดว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นเรื่องดี แต่ก็มีฝ่ายที่ยังไม่เห็นด้วย แต่ ตร. พร้อมรับฟังข้อคิดความเห็น ตร. พยายามดูแลทุกคน เราบ้านใหญ่ เราให้ความสำคัญคนเห็นต่าง รับฟังทุกคน แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การเปลี่ยนผ่านยังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ย้ำว่า เราเปลี่ยนเพื่อให้ทุกองคาพยพ สืบสวน สอบสวน ปราบปราม เดินไปด้วยกัน” รอง ผบ.ตร. กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นการลดสิทธิประโยชน์ ที่พนักงานสอบสวนบางกลุ่มกังวล พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการลิดรอนอะไร สิทธิที่เคยได้ตอนนี้ยังได้รับเหมือนเดิม และหลังจากนี้ มีการคุยกันว่า จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ด้วยซ้ำ โดยต้องประสานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์สายงานอื่น ๆ ทั้งนี้ มีการตั้งคณะทำงานย่อย มี พล.ต.ท.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นหัวหน้า เชิญตัวแทนพนักงานสอบสวนที่เห็นด้วยและเห็นต่าง คนที่เคยยื่นหนังสือร้องเรียน ก็จะเชิญมาพูดคุยกัน หารือแนวทางใประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนว่ากระบวนการยุติธรรมชั้นต้นเชื่อถือได้ ตนเชื่อว่า ตำรวจทุกคนเข้าใจว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำอะไรอยู่ แต่ระหว่างทางการเปลี่ยนผ่านต้องมีการทำความเข้าใจบ้าง
พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวอีกว่า จากนี้ต้องมีกระบวนการกำหนดตำแหน่ง นำเข้าพิจารณาในคณะอนุกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) สำหรับตำแหน่งระดับนายพล ต้องเข้าสู่การพิจารณาในคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ต้องใช้เวลาพอสมควร เมื่อกำหนดตำแหน่งแล้วเสร็จก็จะแต่งตั้งใน ก.ตร. ซึ่ง ผบ.ตร. เร่งรัดให้ทันการแต่งตั้งวาระประจำปี ขณะเดียวกัน ต้องวางกฎกติกาให้ชัดเจนเป็นธรรม ไม่ให้ใครเข้ามาแทรกแซงกระบวนการการทำงานของตำรวจ
ด้าน พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษก ตร. กล่าวยืนยันว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ เพื่อพัฒนาให้งานสืบสวนสอบสวนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อเรียกเพื่อให้การบริหารบุคคลคล่องตัว และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ให้ทำงานสืบสวนควบคู่สอบสวน เดิมพนักงานสอบสวนแยกสายงานเป็นแท่ง มีปัญหาในการเติบโตข้ามสายงาน มีปัญหาในการบริการงานบุคคล แต่คำสั่งนี้ปลดเดดล็อก แก้ปัญหา แต่กลับมีพนักงานสอบสวนบางกลุ่มไม่เข้าใจ เฉไฉเอาเรื่องนี้มีอ้าง มีเจตนาแอบแฝง ก็อยากให้กลุ่มนี้ทบทวน เป็นตำรวจต้องมีวินัย มีระเบียบ กฎหมายอยู่ หากจะชุมนุมรวมตัวให้คำนึงด้วยว่ามี พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะอยู่ ทั้งนี้ ขอให้พนักงานสอบสวนเชื่อมั่นในผู้บังคับบัญชา ว่า สิ่งที่ทำเพื่อประโยชน์ระยะยาว ให้ตำรวจที่ทำงานในสายสืบสวนมีโอกาสเติบโต และให้การบังคับบัญชาในสถานีตำรวจคล่องตัวมีประสิทธิภาพในเชิงบริหารบังคับบัญชา
ขณะที่ พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย ผกก.สน.ท่าพระ และเลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวน กล่าวว่า ส่วนตัวทำงานสอบสวนมาตลอดชีวิตราชการ เป็นครูบาอาจารย์งานสอบสวน เห็นด้วยกับคำสั่งนี้ เชื่อว่า จะทำให้งานสอบสวนมีประสิทธิภาพมากขึ้น งานสอบสวนต้องควบคู่งานสืบสวน การอำนวยความยุติธรรมชั้นต้นจะมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้มองว่า กลุ่มพนักงานสอบสวนที่ออกมาเคลื่อนไหว ส่วนหนึ่งยังไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลง ไม่มั่นใจว่า เมื่อเปลี่ยนแล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่บางส่วนมีเจตนาแอบแฝง อยากแยกงานสอบสวนออกจากตำรวจ ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่ใช่คำตอบของงานอำนวยความยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ในวันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ ประธานสมาคมพนักงานสอบสวน นัดประชุมพนักงานสอบสวนเพื่อพูดคุยทำความเข้าใจเรื่องนี้