MGR Online - โฆษกศาลยุติธรรมชี้แจงคดีจำคุก “อดีตพลทหารชายแดนใต้” เหตุลักไม้แผ่นเดียว ตามที่มีการแชร์ในโลกโซเชียลฯ เป็นการเข้าใจผิด ระบุจำเลยร่วมกับพวกลักทรัพย์ 9 รายการ รวมมูลค่ากว่า 1.8 แสนบาท ยืนยันจำเลยมีทนายว่าความให้ตั้งแต่ศาลชั้นต้น
วันนี้ (10 ก.พ.) นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงกรณีที่มารดาและภรรยาของพลทหาร สัจพันธุ์ จารณา ร้องเรียนขอความเป็นธรรมหลังถูกกล่าวหาว่าร่วมกันลักทรัพย์ของโรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่งใน อ.เกาะคา จ.ลำปาง แต่ครอบครัวตนไม่มีเงินค่าจ้างทนายความ สุดท้ายศาลจังหวัดลำปางพิพากษาจำคุก 16 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ซึ่งต่อมานายเอกสิทธิ์ มานะรุ่งโรจน์ หรือที่รู้จักกันในชื่อของทนายโจ้ ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับการประกันตัวและต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ และได้มีการโพสต์เรื่องราวดังกล่าวเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ว่าแค่หยิบไม้แผ่นเดียวจากข้างทางไปซ่อมแซมบ้าน โดนจำคุก 16 เดือนนั้น อาจก่อให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง โดยจากการตรวจสอบคำพิพากษาศาลจังหวัดลำปางพบว่า ในคดีดังกล่าวพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกที่ยังหลบหนีอีก 1 คนได้ร่วมกันลักเอาทรัพย์ของโรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่ง รวม 9 รายการ มูลค่า 181,251 บาท โดยใช้จักรยานยนต์เป็นพาหนะ ต่อมาเจ้าพนักงานได้ยึดไม้จำนวน 1 แผ่น สายคอนโทรลชุดเครน 1 เส้น รวมราคา 1,500 บาท จากความครอบครองของจำเลย และศาลจังหวัดลำปางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าจำเลยกระทำผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์เฉพาะ 2 รายการดังกล่าวในเวลากลางคืน โดยเข้าทางช่องซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า อันเป็นเหตุฉกรรจ์ที่ทำให้ได้รับโทษหนักขึ้น
โฆษกศาลยุติธรรมกล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่มารดาและภรรยาของอดีตพลทหาร สัจพันธุ์ ได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมเนื่องจากไม่มีเงินค่าจ้างทนายความ สุดท้ายถูกศาลพิพากษาให้จำคุกนั้น ขอชี้แจงว่าจำเลยได้มีการแต่งตั้งทนายความ คือ นายเอกสิทธิ์ มานะรุ่งโรจน์ เมื่อเดือนกันยายน 2558 ซึ่งหลังจากนั้นได้สืบพยานโจทก์จำนวน 5 ปาก และพยานจำเลยจำนวน 2 ปาก เพื่อประกอบการพิจารณาของศาล
ต่อมาศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 โดยพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1), (4), (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จำคุก 2 ปี แต่คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 16 เดือน ส่วนข้อหารับของโจรและคำขออื่นให้ยกฟ้อง ทั้งนี้ แม้จำเลยไม่สามารถหาทนายความได้ ศาลก็จะต้องจัดหาทนายความหรือทนายขอแรงให้ตามสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา เนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 กำหนดไว้ว่า คดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาคดีให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ หากไม่มีและจำเลยต้องการทนายความก็ให้ศาลตั้งทนายความให้โดยศาลจะสั่งจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งโดยที่จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ทนายความที่ศาลแต่งตั้ง
อนึ่ง ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ซึ่งจำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวได้ตามบทบัญญัติของกฎหมาย