xs
xsm
sm
md
lg

อัยการแจงขั้นตอนไต่สวนชันสูตรพลิกศพ สว.เอี๊ยด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ASTV ผู้จัดการ - รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แจงขั้นตอนการทำงานเพื่อพิสูจน์การเสียชีวิตของสารวัตรเอี๊ยด โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วม 4 ฝ่าย เพื่อดำเนินการสอบสวนให้เสร็จภายใน 30 วัน เนื่องจากเป็นการตายผิดธรรมชาติ

นายยรรยง เดชภิรัตนมงคล อัยการผู้เชี่ยวชาญในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงขั้นตอนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ผู้ต้องหาคดีกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้ผูกคอตัวเองกับลูกกรงห้องขังภายในเรือนจำชั่วคราว แขวงถนนนครไชยศรี ว่า ตามกฎหมายแล้วเมื่อปรากฏแน่ชัดว่าบุคคลใดตายผิดธรรมชาติ หรืออยู่ในระหว่างความควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ 5 แบบ คือ ฆ่าตัวตาย ถูกสัตว์ทำร้ายตาย ตายโดยอุบัติเหตุ ถูกผู้อื่นทำให้ตาย และตายโดยไม่ปรากฏสาเหตุจะมีพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่พบศพ และแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ เป็นผู้มีหน้าที่ชันสูตรพลิกศพ แต่หากสาเหตุที่ตายกรณีการตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน หรืออยู่ในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานแล้ว จะต้องมีพนักงานอัยการกับเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่า แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ และพนักงานสอบสวนร่วมเป็นผู้ชันสูตรพลิกศพ ซึ่งการชันสูตรพลิกศพในชั้นนี้จะเป็นการร่วมการเก็บตรวจพยานหลักฐาน สภาพศพและสถานที่เกิดเหตุ

นายยรรยง กล่าวอีกว่า ซึ่งหลังจากมีการชันสูตรพลิกศพโดยเจ้าหน้าที่ทางวิชาชีพทั้ง 4 แล้วจะเข้าสู่ขั้นตอนการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ ซึ่งพนักงานสอบสวนจะต้องเป็นผู้แจ้งแก่พนักงานอัยการให้เข้าร่วมสอบสวนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่รับแจ้ง และหากมีการขยายระยะเวลา จะขยายเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน และไม่สามารถเลื่อนได้เกิน 2 ครั้ง และทุกครั้งต้องแจ้งเหตุผลในการขอขยายเวลา และเมื่อพนักงานอัยการได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการจะต้องทำคำร้องต่อศาลชั้นต้น และขอให้ศาลทำคำสั่ง ว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน ตายเมื่อไหร่ ตายอย่างไร และพฤติการณ์แห่งการตาย และถ้าเหตุเป็นการตายโดยถูกทำร้าย อัยการจะต้องกล่าวต่อศาลด้วยว่า ใครเป็นผู้ทำร้ายให้ตายหากทราบ โดยการร้องต่อศาลอัยการจะต้องยื่นคำร้องหลังจากได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนภายใน 30 วัน นับแต่ได้สำนวนจากพนักงานสอบสวน และสามารถเลื่อนได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน พร้อมเหตุผลในการเลื่อน โดยการไต่สวนพยานในศาลนั้น เมื่อพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลแล้ว จะต้องร้องขอให้ศาลส่งสำเนาคำร้องให้ญาติผู้ตาย ไม่ว่าจะเป็น แม่ สามีภรรยา หรือผู้มีอำนาจอย่างน้อย 1 คน เพื่อให้รับทราบ ก่อนที่อัยการจะนำสืบพยานหลักฐานที่แสดงถึงเหตุ การตายไม่น้อยกว่า 15 วัน ซึ่งญาติจะมีสิทธิแต่งตั้งทนายทนายความมาซักถามขณะสืบพยานได้หรือหากถ้าไม่มีจะสามารถขอศาลแต่งตั้งทนายความให้ และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลอาจเรียกสืบพยานเพิ่มเติมได้หากมีข้อสงสัย และคำสั่งของศาลถือเป็นที่สิ้นสุด

รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดยังกล่าวถึงกรณีที่มีการนำศพออกไปบำเพ็ญกุศลโดยไม่ต้องนำศพไปที่สถาบันนิติเวชนั้น สามารถที่จะกระทำได้และถือว่าชอบตามกฎหมายแล้ว เนื่องจากผ่านการไต่สวนชันสูตรพลิกศพจากเจ้าหน้าที่จาก 4 สาขาวิชาชีพตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว โดยอัยการที่เข้าไปร่วมไต่สวนชันสูตรพลิกศพจะเป็นอัยการจากศูนย์ชันสูตรพลิกศพของสำนักงานอัยการสูงสุดที่เข้าเวรในช่วงเวลานั้นพอดี ส่วนผลชันสูตรพลิกศพในเบื้องต้นเป็นอย่างไรนั้นตนยังไม่ทราบข้อเท็จจริง แต่ขั้นตอนการชันสูตรพลิกศพยังไม่ได้หยุดแค่นี้ ยังมีข้อเท็จจริงอีกขั้น ซึ่งต้องทำสำนวนเพื่อยื่นคำร้องต่อศาล เมื่อเข้าสู่ชั้นศาลกระบวนการพิจารณาจะเป็นไปอย่างเปิดเผย ญาติสามารถเข้าร่วมฟังและสามารถแต่งตั้งทนายความได้ถือว่ากฎหมายให้ความยุติธรรมในเรื่องนี้ได้ดีมาก
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น