MGR Online - ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหารถแท็กซี่เร่งด่วน หวั่นผลกระทบภาพลักษณ์ต่อประเทศไทย โดยเฉพาะกรณี ปฏิเสธรับผู้สาร พบมีการร้องเรียนเป็นอันดับหนึ่ง พร้อมยอมรับกฎหมายยังไม่สามารถบังคับใช้ได้เท่าที่ควร
วันนี้ (3 ก.พ.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมเพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหารถแท็กซี่ที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยและการท่องเที่ยว โดยมี พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานด้านต่างประเทศ ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจจราจร กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมการขนส่งทางบก การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย กองทัพบก ร่วมทั้งสหกรณ์และผู้ประกอบการรถแท็กซี่กว่า 100 ราย
พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน เกี่ยวกับแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร หรือไม่คิดค่าโดยสารตามมิเตอร์ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แสดงความวิตกกังวลต่อปัญหาดังกล่าว จึงสั่งการให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนให้เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ สืบเนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ร้องเรียนปัญหารถแท็กซี่ผ่านทางหมายเลข 1583 ของกรมการขนส่งทางบกกว่า 43,000 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2557 กว่าร้อยละ 50 ซึ่งปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนเป็นอันดับหนึ่งคือ “การปฏิเสธผู้โดยสาร” ที่มีผู้ร้องเรียนมากถึง 22,000 ราย โดยมักเกิดขึ้นในพื้นที่ท่องเที่ยวโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และภูเก็ต จึงได้สรุปเป็นมาตรการแก้ไขปัญหา ดังนี้
1. บูรณาการการปฏิบัติหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกวดขันจับกุมผู้กระทำผิดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ในทุกพื้นที่ที่เป็นปัญหาโดยใช้มาตรการตามกฎหมายขั้นสูงสุด 2. ประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทราบถึงวิธีการและขั้นตอนที่ถูกต้องเหมาะสมในการโดยสารแท็กซี่ 3. กรณีที่ผู้ขับขี่รถแท็กซี่กระทำความผิดอาญาหรือทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวอย่างรุนแรง เช่น ทำร้ายร่างกายผู้โดยสาร อนาจาร ปรับมิเตอร์ ลักทรัพย์ เป็นต้น จะต้องถูกดำเนินคดีและเพิกถอนใบอนุญาตทันที
4. จัดทำระบบเชื่อมโยงข้อมูลการจับกุมจากทุ่งหน่วยงานให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้ทราบหากผู้ขับขี่รายใดที่กระทำผิดซ้ำซากต่อเนื่อง นำไปเป็นพยานหลักฐานในการเพิ่มโทษหรือเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป 5. ติดตามผลการปฏิบัติของทุกหน่วยงาน ทุกวันที่ 5 ของเดือน โดยเริ่มตั้มแต่วันที่ 5 มีนาคมนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ การปฏิบัติการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการใน 6 พื้นที่ที่เป็นปัญหาซึ่งได้แก่ ทั่วพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร ย่านศูนย์การค้า และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในจังหวัดต่างๆ เช่น ภูเก็ต พัทยา เกาะสมุย รวมถึงบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง
พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาพบว่ากฎหมายยังไม่สามารถบังคับใช้กับกรณีนี้เท่าที่ควร บางครั้งพบว่า ผู้ใช้บริการรถแท็กซี่ไม่ได้เข้ามาแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งบางส่วนได้ดำเนินการจับกุมไปแล้วแต่ยังมีจำนวนน้อยมาก นอกจากนี้หากพบว่าผู้ขับรถแท็กซี่กระทำความผิดซ้ำก็ดำเนินการตามกฎหมายกรมการขนส่งทางบกโดยระบุว่าหากกระทำความผิดซ้ำซากจะมีโทษปรับโดยการยึดใบขับขี่หรืออาจมีการลงโทษอื่นๆ ด้วย
“จริงๆ แล้วแท็กซี่ก็เหมือนหน้าตาของประเทศไทย ดังนั้นขอความร่วมมือหากแท็กซี่คันใดทำไม่ดี ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ขณะเดียวกันแท็กซี่ในเมืองไทยมีประมาณ 130,000 คัน อยู่ใน กทม. จำนวน 100,000 คัน เท่ากับเรามีกระบอกเสียง 1 แสนคน อย่าให้พบว่าแท็กซี่ทำไม่ดี หากอัพโหลดคลิปลงโซเซียลมีเดีย เขาก็กลับมาตำหนิ ประเทศไทยก็เสียหาย นอกจากนี้ผมคิดว่าแท็กซี่ในประเทศไทยควรมีไม่เกิน 2 สี ซึ่งหากมองปัจจุบันมีจำนวนหลายสีที่อยู่ในความครอบครองของสหกรณ์ เวลามีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็จะจดจำได้ยาก” ผบ.ตร.กล่าว
พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าวถึงรถแท็กซี่ในพื้นที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี หรือเชียงใหม่ ที่พบว่าเป็นของกลุ่มผู้มีอิทธิพล ตรงนี้ตนได้สั่งการลงไปตรวจสอบเชิงลึกถึงกลุ่มผู้มีอิทธิพล ขณะนี้กำลังตรวจสอบอยู่ แต่คิดว่าสำหรับสถานการณ์ตอนนี้กลุ่มผู้มีอิทธิพลคงทราบดีอยู่แล้วว่าสิ่งไหนควรทำ หรือสิ่งไหนไม่ควรทำ
ด้าน พล.ต.อ.วุฒิกล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ทั้งตำรวจ ทหาร กรมการขนส่งทางบก และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะบูรณาการกำลังแบบคู่ขนาน ทั้งการประชาสัมพันธ์ให้แท็กซี่ปฎิบัติตามกฎหมาย พร้อมนำกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.ขนส่งทางบก, พ.ร.บ.จราจร และพ.ร.บ.รถยนต์ มาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด เน้นในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง เซ็นทรัลเวิลด์ สยามพารากอน สุขุมวิท ถนนข้าวสาร ภูเก็ต เชียงใหม่ สมุย จากนั้นจะมีการประเมินผลในอีก 2 สัปดาห์