xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-พม่าบุกช่วยเหยื่อค้ามนุษย์ชาวพม่า 29 คน ที่ จ.ภูเก็ต พร้อมรวบ 2 ผู้ต้องหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - รอง ผบ.ตร.ร่วมกับทหารเรือ-สถานทูตพม่า แถลงช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ถูกบังคับใช้แรงงานบนเรือประมง จ.ภูเก็ต ก่อนหลับหนีมาขอความช่วยเหลือ จนท.ประสานค้นสถานที่กักขังบริเวณเกาะสิเหร่ พบชาวพม่าถูกกักขัง 29 คน รวบผู้ดูแลสถานที่ 1 คน พร้อมขยายผลจับกุมชาวพม่าเพิ่ม เผยพฤติการณ์ถูกหลอกให้มาทำงานที่ไทย ลักลอบเข้ามาทางชายแดนไทย-พม่า โดยมี “โกแป๊ะ” เป็นนายหน้าออกค่าทำบัตรชมพู 20,000-35,000 บาท ขณะที่ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา


วันนี้ (1 ก.พ.) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานด้านค้ามนุษย์ และ พล.ต.ท.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ต.กรไชย คล้ายคลึง ผบก.ปคม. พล.ร.ต.เกรียงไกร อนันตศานต์ ผู้อำนวยการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการกระทำการประมงผิดกฎหมาย และ Mr. Htun Aye เลขานุการโทฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตพม่า ร่วมกันแถลงข่าวช่วยเหลือแรงงานชาวพม่าถูกกักขังและบังคับใช้แรงงานประมงที่ จ.ภูเก็ต

พล.ต.ต.กรไชยกล่าวว่า ได้รับรายละเอียดทางคดีจากการประชุมความร่วมมือป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ระหว่าง บก.ปคม.ไทย และ บก.ปคม.พม่า เมื่อวันที่ 25-28 ม.ค.ที่ผ่านมา ณ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) ทางเจ้าหน้าที่ ปคม.พม่าได้แจ้งข้อมูลให้ทราบว่ามีแรงงานชาวพม่าจำนวน 4 คน ถูกบังคับใช้แรงงานบนเรือประมง และเรือจะกลับเข้าฝั่งที่ จ.ภูเก็ต แต่ไม่ทราบวันเวลาและสถานที่ จึงขอความร่วมมือให้ตรวจสอบข้อมูลและให้ความช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ปคม.จึงร่วมกับตำรวจสากลประเทศไทยตรวจสอบและประสานข้อมูลที่เกี่ยวข้องจนทราบว่าเมื่อวันที่ 27 ม.ค.มีแรงงานชาวพม่าได้แอบหลบหนีออกจากเรือประมงมาได้ขณะเรือเข้าเทียบท่าที่ จ.ภูเก็ต และได้หลบซ่อนตัวอยู่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ปคม.จึงได้เข้าให้ความช่วยเหลือไว้ได้

จากการสอบสวนขยายผลทราบว่ายังมีชาวพม่าอีกหลายคน รวมถึงแรงงานชาวพม่าจำนวน 3 คนที่ร้องขอความช่วยเหลือไปด้วยนั้นถูกกักขังอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่ง บก.ปคม.จึงได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้แก่ ทร., บก.รน., บก.ทท., ตม.จ.ภูเก็ต และ สภ.เมืองภูเก็ต ตรวจสอบจนกระทั่งทราบที่ตั้ง จากนั้นได้ร่วมกันวางแผนและผสานกำลังเข้าตรวจค้นสถานที่ดังกล่าว ผลการตรวจค้นพบว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นห้องไม่มีเลขที่ บริเวณเกาะสิเหร่ ถ.เทพประทาน ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ประตูทางเข้าใส่กุญแจล็อกจากด้านนอก ภายในห้องพบห้องกักขังขนาดประมาณ 4-6 เมตร ถูกปิดล็อกจากด้านนอกด้วยกลอนไม้ 2 ชั้น ภายในพบแรงงานชาวพม่าจำนวน 29 คนถูกกักขังอยู่ ไม่มีช่องทางหลบหนีออกทางอื่นได้

“ขณะตรวจค้น พบ Mrs. Jiw San Nyunt หรือนางมะโย ชาวพม่า เป็นผู้เฝ้าสถานที่กักขังดังกล่าว โดยจากการนำแรงงานพม่าทั้ง 30 คนมาคัดแยกผู้เสียหายร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่าเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ทั้ง 30 คน พนักงานสอบสวน กก.5 บก.ปคม.จึงได้ดำเนินการจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาต่อ Mrs. Jiw San Nyunt หรือนางมะโย ข้อหาร่วมกันค้ามนุษย์ (แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการบังคับใช้แรงงาน), ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั่นเองหรือของผู้อื่น โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น หรือไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น, ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใดให้แก่ผู้กระทำหรือบุคคลอื่น, สมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ และได้ลงมือกระทำตามสิ่งที่ได้สมคบกัน ร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยการแสวงหาประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงาน” ผบก.ปคม.กล่าว

พล.ต.ต.กรไชยกล่าวต่อไปว่า จากการสืบสวนขยายผลสามารถออกหมายจับและจับกุมผู้ต้องหาเพิ่มเติม คือ นายโซโม หรือวตุ สัญชาติพม่า อายุ 32 ปี จับกุมได้ที่ สภ.เมืองภูเก็ต เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ตามหมายจับศาลจังหวัดภูเก็ต ที่ 76/2559 ลงวันที่ 30 ม.ค. 2559 ในข้อหาร่วมกันค้ามนุษย์ (โดยแสวงหาประโยชน์มิควรได้โดยชอบจากการบังคับใช้แรงงาน) และ Mr. Soe Win Aung Zo หรือโกแป๊ะ หรืออะเปด สัญชาติพม่า อายุ 37 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดภูเก็ต ที่ 77/2559 ลงวันที่ 30 ม.ค. 2559 ในข้อหาร่วมกันค้ามนุษย์ (โดยแสวงหาประโยชน์มิควรได้โดยชอบจากการบังคับใช้แรงงาน) ขณะนี้อยู่ระหว่างหลบหนี

พล.ต.ต.กรไชยกล่าวอีกว่า ผู้เสียหายในคดีนี้ได้ถูกชักชวนโดยนายหน้าชาวพม่าจากประเทศพม่าให้มาทำงานในประเทศไทยโดยลักลอบเข้ามาตามแนวชายแดนไทย-พม่า จากนั้นมีนายหน้าฝั่งไทยมารับและเดินทางต่อไปยัง จ.ภูเก็ต เมื่อมาถึงภูเก็ตจะพามาส่งให้กับ Mr. Soe Win Aung Zo หรือโกแป๊ะ โดยเมื่อรับตัวไว้แล้วก็จะพาไปทำบัตรประจำตัวบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพูประเภทประมง) โดยโกแป๊ะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ค่าเดินทางที่จ่ายให้กับนายหน้าและค่าทำบัตรทั้งหมด รวมประมาณ 20,000-35,000 บาทต่อคน จากนั้นจะพาเข้าไปกักขังในสถานที่กักขังดังกล่าวข้างต้นระหว่างรอบัตรชมพู โดยมี Mrs. Jiw San Nyunt หรือนางมะโย และโกแป๊ะ เฝ้าอยู่ด้านนอกตลอดเวลา และทำอาหารส่งเข้าไปให้กินภายในห้องกักขัง เมื่อแรงงานได้รับบัตรชมพูแล้วก็จะถูกส่งไปทำงานในเรือประมง โดยมีนายโซโมทำหน้าที่เป็นคนขับรถนำพาจากห้องกักขังไปส่งที่ท่าเรือเพื่อลงเรือประมง ซึ่งโกแป๊ะจะเป็นผู้จัดการเรื่องการลงไปทำงานในเรือประมงทั้งหมด การทำงานในเรือประมงครั้งหนึ่งประมาณ 7 วัน ระหว่างอยู่บนเรือจะถูกบังคับใช้แรงงาน บางรายถูกทำร้ายร่างกาย เมื่อเรือกลับเข้าฝั่งแล้วก็จะถูกส่งกลับไปกักขังที่สถานที่กักขังดังกล่าวเพื่อรอลงเรือรอบต่อไป สำหรับค่าจ้างแรงงานนั้นโกแป๊ะจะเป็นผู้รับแทนเพื่อหักเป็นค่าเดินทาง ค่าทำบัตร ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ

ผบก.ปคม.กล่าวว่า จากการสอบสวน Mrs. Jiw San Nyunt หรือนางมะโย และนายโซโม หรือวตุ ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา สำหรับคดีนี้นับเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และเมียนมาที่มีความมุ่งมั่นต่อการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานบังคับในภาคประมง นอกจากนี้แล้วยังเป็นการแสดงเจตน์จำนงที่แท้จริงในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งรัฐบาลไทยถือเป็นวาระแห่งชาติ ปัญหาการค้ามนุษย์ต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศที่เกี่ยวข้องเนื่องจากเกี่ยวพันกับหลายเส้นทาง ขณะที่ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศทางผ่าน ปัญหาการค้ามนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวโรฮีนจา ในเฉพาะพื้นที่เฝ้าระวังใน ภ.จว.8, 9 และ ศชต.รวม 22 จังหวัด โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขปัญหาในทุกมิติ ช่วงปีที่ผ่านมา ตร.สามารถจับกุมและทลายเครือข่ายค้ามนุษย์รายสำคัญได้ มีการจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวนมาก มีการยึดทรัพย์ และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการกองแผนงานอาชญากรรมสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ กล่าวถึงผลการติดตามจับกุมเรือประมงที่ออกนอกน่านน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยได้ทำการตรวจยึดเรือประมงทั้งสิ้น 68 ลำ โดยก่อนการจัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) มีการจับกุมได้ 15 คดี ผู้ต้องหา 41 คน ผู้เสียหาย 43 คน ทั้งนี้หลังจัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายมีการจับกุมได้ 37 คดี ผู้ต้องหา 105 คน ผู้เสียหาย 130 คน แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการปราบปรามค้าประมงผิดกฎหมายที่ชัดเจน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังสามารถดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดกฎหมายใช้แรงงานในเรือประมงอีก 3 คดี ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สามารถยึดเรือประมงได้ 7 ลำ จับกุมผู้ต้องหาได้ 4 คน และเจ้าของเรืออีก 1 คน ในส่วนของสถานีตำรวจภูธรปากน้ำ จังหวัดระนอง เจ้าหน้าที่นำเรือประมงที่มีการประกอบกิจการประมงนอกน่านน้ำเข้ามาตรวจสอบจำนวน 12 ลำ พบว่าทำผิดกฎหมาย รวมถึงมีลูกเรือประมงเจ็บป่วยและเสียชีวิต ทั้งนี้ การติดตามจับกุมเรือประมงที่ออกนอกน่านน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตอยู่ระหว่างรวบรวมสำนวนคดีส่งอัยการพิจารณาสั่งฟ้องศาลต่อไป

ขณะที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวว่า การทำสำนวนคดีค้ามนุษย์ต้องทำอย่างรอบคอบ เพื่อให้อัยการสั่งฟ้อง พร้อมให้การคุ้มครองพยานที่ให้การเป็นประโยชน์ เพื่อการดำเนินคดีจะได้เดินหน้าขยายผลจับกุมผู้กระทำผิดทั้งหมดได้

ด้าน Mr. Htun aye กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศพม่ากับรัฐบาลไทยยังมีระดับที่ดีมาก และจะทำงานร่วมกันต่อไป สำหรับรัฐบาลใหม่ที่จะมีการเลือกตั้งขึ้นคาดว่าการทำงานแบบทวิภาคีจะเป็นไปด้วยดี

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น