xs
xsm
sm
md
lg

เอ็นจีโอสหรัฐฯหนุนไทย ทำฐานข้อมูลดีเอ็นเอนักโทษ เชื่อลดปัญหาละเมิดทางเพศ-อาชญากรรมได้แน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR online - ผู้ก่อตั้งเอ็นจีโอ พร้อมนักกฎหมายเยี่ยม “มูลนิธิปวีณาหงสกุล เพื่อเด็กและสตรี” หนุนไทยทำฐานข้อมูลดีเอ็นเอนักโทษ เชื่อ ลดปัญหาละเมิดทางเพศ - อาชญากรรม ยก 53 ประเทศทั่วโลกทำแล้ว ด้าน ปวีณา เผย ในปี 2558 ที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนมากกว่าหมื่นราย ยกหากได้ทำการตรวจสอบได้รวดเร็ว ปัญหาจะลดลงได้

วันนี้ (22 ม.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. เจย์แอนน์ เซพิช ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดีเอ็นเอ เซฟ (NGO เพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงการฐานข้อมูลดีเอ็นเอ เพื่อลดและป้องกันอาชญากรรมรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก) และ ทิม เชลล์เบิร์ก นักกฎหมายและประธานองค์กรที่ปรึกษา กอร์ดอน โทมัส ฮันนีเวลล์ เพื่อสนับสนุนการเก็บฐานข้อมูลดีเอ็นเอ (governmental affair firm) ได้มาเยี่ยมชมมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์กรสาธารณประโยชน์) และสนทนาถึงแนวทางการลดและป้องกันผู้หญิงและเด็กจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ การฆาตกรรม และอาชญากรรม โดยมีประเทศ อังกฤษ, อเมริกา, นิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย และยุโรปตะวันตก เป็นประเทศแรก ๆ ที่ได้นำระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอมาใช้ในการพิสูจน์และระบุความผิดของอาชญากร และปัจจุบันมี 53 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านได้นำระบบนี้มาใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น จีน มีมากถึง 30 ล้านตัวอย่าง ญี่ปุ่น 500,000 ตัวอย่าง มาเลเซีย 50,000 ตัวอย่าง สิงคโปร์ 200,000 ตัวอย่าง เกาหลีใต้ 140,000 ตัวอย่าง ฮ่องกง 150,000 ตัวอย่าง และไต้หวัน 100,000 ตัวอย่าง เป็นต้น โดยฟิลิปปินส์ และเวียดนาม กำลังอยู่ระหว่างพัฒนาระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอ

ด้าน เจย์แอน เซพิช ประธาน DNA saves แม่ของเหยื่อผู้ผลักดันกฎหมายเคที่ (Katie's Law) กล่าวว่า ในปี ค.ศ. 2003 ที่บุตรสาวของตนเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัยชื่อดังของสหรัฐฯ คืนนั้นเธอทะเลาะกับเพื่อนหนุ่มแล้วเดินทางกลับที่พักลำพังในตอนดึก แล้วหายไป พบอีกครั้งกลายเป็นศพในสภาพน่าเวทนา เธอถูกข่มขืน รัดคอ และเผาทิ้งที่กองขยะ โดยฆาตกรลอยนวลอยู่กว่า 3 ปี ตำรวจจึงสามารถจับได้ หากมีระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอนี้ตั้งแต่แรก คดีของบุตรสาวเธออาจนำตัวคนร้ายมาลงโทษได้เร็วกว่านี้

ขณะที่ ทิม เชลล์เบิร์ก นักกฎหมาย กล่าวว่า เมื่อปี ค.ศ. 2006 สภาคองเกรสบราซิลปฏิเสธกฎหมายฉบับนี้ อีก 2 ปีต่อมามีนักโทษถูกปล่อยตัวแล้วไปข่มขืนผู้หญิงอีก 5 คนในเมืองเบโร ฮอริซอนเต้ ซึ่งหากสภาคองเกรสผ่านกฎหมายที่เสนอไปแล้วก่อนหน้า ผู้หญิงบริสุทธิ์ก็อาจไม่ตกเป็นเหยื่อ เหตุการณ์เลวร้ายคงไม่เกิดขึ้น ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างอังกฤษมีการพัฒนามา 21 ปี สหรัฐอเมริกา 18 ปี ซึ่ง 53 ประเทศทั่วโลกมีตัวอย่างดีเอ็นเอแล้วมากกว่า 60 ล้านตัวอย่าง

ทางด้าน นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุล เพื่อเด็กและสตรี (องค์กรสาธารณประโยชน์) กล่าวว่า แต่ละปีมีคนมาร้องเรียนขอความช่วยเหลือปี 2558 รวม 10,541 ราย เป็นกรณีข่มขืน/กระทำชำเรา ล่อลวงไปค้าประเวณี และค้ามนุษย์มากกว่า 20% ปัจจุบันการตรวจดีเอ็นเอมีความสำคัญยิ่ง เพราะนอกจากพยานบุคคล ซึ่งบางครั้งไม่สามารถให้ข้อมูลได้ ดีเอ็นเอจึงมีประโยชน์ในการเป็นพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ควบคู่กันไป ตัวอย่างที่มูลนิธิปวีณาฯ เข้าช่วยเหลือเช่น เด็ก 4 เดือนที่ยังไม่สามารถพูดได้ถูกข่มขืน

นางปวีณา กล่าวเพิ่มอีกว่า ทางมูลนิธิปวีณาฯ ได้ประสานกับตำรวจนำเบาะไปตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์พบคราบดีเอ็นเอติดอยู่ อาชญากรในสังคมนับวันจะทวีคูณ คนที่เคยเป็นนักโทษมาแล้วกลับมากระทำความผิดซ้ำมีเป็นจำนวนมาก ตรงนี้เป็นจุดอ่อนที่ควรปรับปรุงกฎหมายให้รับรองให้มีการจัดทำฐานข้อมูลดีเอ็นเอนักโทษ ผู้ต้องหาไว้เป็นหลักฐานสำคัญสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐให้สามารถนำมาตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว และไม่เกิดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ปัญหาอาชญากรรมก็น่าจะลดลงได้ ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิปวีณาฯ ทำงานทั้งด้านนิติวิทยาศาสตร์ควบคู่กับพยานบุคคลมาโดยตลอด จึงทำให้เราสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น