xs
xsm
sm
md
lg

กรมคุมประพฤติสัมมนาข้อกำหนดโตเกียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - กรมคุมประพฤติจับมือสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย TIJ สัมมนาวิชาการ “ข้อกำหนดโตเกียวกับก้าวใหม่ของงานคุมประพฤติ” สำหรับผู้กระทำผิดที่ได้รับการรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ

วันนี้ (11 ม.ค.) เวลา 09.00 น. โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาทางวิชาการ “ข้อกำหนดโตเกียวกับก้าวใหม่ของงานคุมประพฤติ” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม กับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) โดยมีการปาถกฐาพิเศษจาก ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม Mr. Hiroshi Kataoka อธิบดีกรมแก้ไขฟื้นฟู กระทรวงยุติธรรมประเทศญี่ปุ่น และ การอภิปรายในหัวข้อ “ก้าวใหม่ของงานคุมประพฤติ” โดยนายวันชัย รุจนวงศ์ อัยการอาวุโส นายนัทธี จิตสว่าง รองผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรม และ พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ข้อกำหนดโตเกียวสอดรับกับนโยบายของกระทรวงยุติธรรม และพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ตามข้อกำหนดกรุงเทพมหานคร การส่งเสริมข้อกำหนดโตเกียวของไทย เน้น 2 ประเด็น คือ 1. การป้องกันไม่ให้คดีต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และ 2. การใช้มาตรการทางเลือกแทนการจำคุก เพื่อให้ผู้กระทำผิดไม่ต้องเข้าเรือนจำหรือออกจากเรือนจำให้เร็วที่สุด

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวอีกว่า กระทรวงยุติธรรมให้ความสำคัญกับนโยบายด้านการสร้างความปลอดภัยในสังคมได้มอบหมายให้กรมคุมประพฤติดำเนินตามแผนงานด้านการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชนโดยการคุมประพฤติ เช่น การจัดตั้งบ้านกึ่งวิถี การสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ผู้กระทำผิดและผู้พ้นโทษกลุ่มต่างๆ การพัฒนาคุณภาพการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพ บูรณาการกับอาสาสมัครกลุ่มต่างๆ และการพัฒนามาตรการทางเลือกใหม่ๆ แทนการจำคุก เช่น เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ EM

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ร่างหลักเกณฑ์และข้อเสนอต่อรัฐบาล เพื่อให้มีการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ (EM) ในสามมิติ คือ ใช้ในการคุมประพฤติ การปล่อยตัวชั่วคราวกับผู้ที่ไม่มีเงินประกัน และใช้เป็นการลงโทษระดับกลาง ไม่ต้องติดคุกแต่ใช้วิธีกักบริเวณอยู่ในบ้านแทน และกำหนดให้ปี 2559 เป็น “ปีแห่งสังคมปลอดภัย ด้วยงานคุมประพฤติ”

ด้าน พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์เปิดเผยเพิ่มเติมว่า กรมคุมประพฤติเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการอนุวัติข้อกำหนดโตเกียวโดยการคุมความประพฤติผู้กระทำผิดที่ได้รับการรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ รวมถึงผู้ที่ได้รับการพักการลงโทษ หรือลดวันต้องโทษจำคุก ตลอดจนผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในชุมชน ภารกิจของกรมคุมประพฤตินับเป็นมาตรการไม่ควบคุมตัวที่สำคัญ ซึ่งนอกจากจะเป็นมาตรการทางเลือกแทนการจำคุกแล้ว ยังทำหน้าที่แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชน ทำให้ผู้กระทำผิดกลับเป็นคนดีและสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้ตามปกติ รวมทั้งสร้างความปลอดภัยให้กับสังคม โดยการกำหนดมาตรการลงโทษทางสังคม เพื่อควบคุมผู้ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและป้องปรามการกระทำผิดซ้ำ

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น