xs
xsm
sm
md
lg

กรมคุ้มครองสิทธิฯ จัดประชุมให้ความรู้ จนท.รัฐ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับสมาคมป้องกันการทรมานฯ (PAT) ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญของพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ แก่เจ้าหน้าที่รัฐ คาดใช้เวลา 2 ปี ก่อนเข้าเป็นภาคีพิธีสารฯ

วันนี้ (24 ธ.ค.) เวลา 09.30 น. ห้องวีนัส โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น น.ส.สาธนา ขณะรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเผยแพร่หลักการและสาระสำคัญของพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี โดยมี น.ส.ชาซีรา ซาวาวี ผู้แทนจากสมาคมป้องกันการทรมานฯ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (สำนักงานใหญ่) Association for the Prevention of Torture (APT) น.ส.จีฮาน มามูด สมาชิกคณะกรรมการสมาคมป้องกันการทรมานฯ จากประเทศมัลดีฟส์ นายปาค ปรียาดี ผอ.ฝ่ายเยียวยาเด็กและชุมชน กระทรวงกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ประเทศอินโดนีเซีย ร่วมอภิปรายประเด็นในการส่งเสริมด้านสิทธิและเสรีภาพเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนัก เตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐของไทยในการเข้าเป็นภาคี และ ประโยชน์จากการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ รวมทั้ง กลไกป้องกันการทรมานฯในระดับชาติ

น.ส.สาธนากล่าวในที่ประชุมว่า ขอบคุณองค์กร PAT และคณะเจ้าหน้าที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ที่เห็นถึงความสำคัญของการป้องกันการทรมานและการอนุวัติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ โดยอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ เป็นหนึ่งในสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 50 และอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้กับประเทศไทยตั้งแต่ 1 พ.ย. 50 สาระสำคัญของอนุสัญญาฯ คือ การกำหนดให้การกระทำทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล หรือคำรับสารภาพ เป็นความผิดเฉพาะตามกฎหมายอาญา ซึ่งมีบทลงโทษตามกฎหมาย ปัจจุบัน

น.ส.สาธนากล่าวอีกว่า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พยายามผลักดันปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ จนเกิดความก้าวหน้าหลายประการ เช่น การจัดทำร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. ... (ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ครม.) การจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมวิทยากรและหลักสูตรเผยแพร่หลักการและสาระสำคัญของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ การจัดทำรายงานประเทศฯและนำเสนอรายงานประเทศฯ ด้วยวาจาเสนอต่อคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมานฯ การเผยแพร่หลักการและสาระสำคัญของอนุสัญญาฯ ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ฯลฯ ซึ่งในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าหน่วยงานต่างๆ ได้มีความตระหนักและเข้าใจในอนุสัญญาฯเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ และมีการปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

“ส่วนของพิธีสารเลือกรับตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ นั้น เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่มุ่งเติมเต็มอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ โดยพิธีสารฯ ดังกล่าวได้รับการรับรองโดยข้อมติสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 45 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 49 โดยมีสาระสำคัญ คือ การป้องกันการทรมาน หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีในสถานที่กักกันหรือคุมขังหรือควบคุมตัวในทุกรูปแบบ ซึ่งรวมถึงเรือนจำ สถานกักกัน โรงเรียน โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ สถาบันจิตเวช ฯลฯ กล่าวคือ ทุกแห่งที่มีการรวมคนจำนวนมากไว้ โดยมาตรการป้องกันการทรมานฯคือ การเปิดโอกาสให้กลไกทั้งในระดับระหว่างประเทศและระดับประเทศตรวจเยี่ยมสถานที่กักกันหรือคุมขังหรือควบคุมตัวได้อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้นพิธีสารดังกล่าวยังกำหนดให้รัฐภาคีจัดตั้งกลไกระดับชาติ เพื่อป้องกันการทรมานฯเพื่อทำหน้าที่ตรวจเยี่ยมดังกล่าวด้วย” น.ส.สาธนา กล่าว

สำหรับสถานะของประเทศไทยต่อพิธีสารฯนั้น กระทรวงยุติธรรม ได้มีคำสั่งที่ 211/2557 ลงวันที่ 16 มิ.ย. 57 แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเข้าเป็นภาคีพิธีสารฯซึ่งประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ และ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 34 คน โดยมี ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน และได้มีการประชุมร่วมกันหลายครั้ง จนได้ข้อสรุปเป็นมติร่วมกันเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 57 ว่าเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีพิธีสารฯ แต่เห็นควรให้ใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี ในการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีพิธีสารฯต่อไป และในเบื้องต้นได้มีความเห็นร่วมกันให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่เป็นกลไกป้องกันการทรมานฯ ระดับชาติ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องจัดตั้งองค์กรใหม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนแต่อย่างใด

รายงานข่าวแจ้งว่า ภายในห้องประชุมหลังจาก น.ส.สาธนากล่าวเปิดการประชุมเสร็จสิ้น ได้มีการฉายภาพยนตร์สั้นเรื่อง “No One Knows about Us” โดยเป็นการสะท้อนถึงความรุนแรงและการทรมานนักโทษในเรือนจำ รวมทั้งการใช้เครื่องมือในการทรมานซึ่งถือว่าเป็นการกระทำเกินขอบเขต

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น