xs
xsm
sm
md
lg

รอง ผบก.-สว.ชะงัก! ถูกชักบันไดหนี เจอหลักเกณฑ์ขยายเวลาครองตำแหน่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - เปิดร่างกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งฯ ม.44 สีกากีโอด!รอง ผบก.-สว. ชักบันไดหนี เพิ่มเวลาครองตำแหน่ง

วันนี้ (22 ธ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดิมทีได้มีการนัดประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 18/2558 ในเวลา 14.30 น. โดยมีสาระสำคัญ คือ การพิจารณากฎ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการตำรวจ และขยายเวลาในการแต่งตั้ง รองผู้บังคับการ (รอง ผบก.) ถึง สารวัตร (สว.) วาระประจำปี 2558 ทั้งนี้ สำหรับเหตุผลที่มีการเลื่อน การประชุม ก.ตร. ออกไป เนื่องจากเกิดความผิดพลาดในการอ้างข้อกฎหมายในคำสั่ง คสช.ที่ 44/2558 เรื่องการแก้ไขการบริหารงานบุคคลของตำรวจ จึงต้องกลับไปแก้ไขเพื่อให้เกิดความถูกต้อง

สำหรับร่างกฎ ก.ตร.ฉบับใหม่ที่ออกตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 44/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตํารวจและจะนำเข้า ก.ตร. เพื่อใช้บังคับเป็นหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งครั้งนี้ มีสาระสำคัญ กำหนดให้ข้าราชการตำรวจระดับรอง ผบก.ลงมาแจ้งภูมิลำเนาและจังหวัดที่ครอบครัวพักอาศัยด้วย

ขณะเดียวกัน มีการปรับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งในระดับต่างๆ ดังนี้ ตามกฎ ก.ตร.เดิม กำหนดว่า จากรองสารวัตร (รอง สว.) เป็นผู้บังคับการ (ผบก.) ใช้เวลา 23 ปี แต่ตามร่างกฎ ก.ตร.ฉบับใหม่ ใช้เวลา 29 ปี ซึ่งการเลื่อนตำแหน่งจาก รอง สว.เป็น สว. เดิมต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7 ปี แต่ร่างกฎ ก.ตร. ใหม่ ใช้เวลา 8 ปี จาก สว. เป็น รองผู้กำกับการ (รอง ผกก.) จากเดิม 5 ปี ร่างกฎ ก.ตร.ใหม่ใช้เวลา 6 ปี รอง ผกก.เป็น ผกก. เดิมใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี กฎ ก.ตร.ใหม่ใช้เวลา 4 ปี จาก ผกก.ขึ้นเป็นรองผู้บังคับการ (รอง ผบก.) จากเดิม 4 ปี ร่างกฎ ก.ตร.ใหม่ใช้เวลา 5 ปี จากรอง ผบก.เป็น ผบก. จากเดิมครองตำแหน่งอย่างน้อย 4 ปี แต่ร่างกฎ ก.ตร.ใหม่ใช้เวลา 6 ปี

ระดับ ผบก.ขึ้นรองผู้บัญชาการ (รอง ผบช.) นั้น เดิมต้องครองตำแหน่งอย่างน้อย 3 ปี ร่างกฎ ก.ตร.ลดให้เหลือเพียง 2 ปี รอง ผบช.ขึ้น ผบช. จากเดิม 2 ปี ร่างกฎ ก.ตร.ใหม่ เหลือครองตำแหน่งเพียงปีเดียวก็เลื่อนตำแหน่งเป็น ผบช.ได้ ส่วนระดับผบช.ขึ้นผู้ช่วย ผบ.ตร. และผู้ช่วย ผบ.ตร.ขยับเป็นรอง ผบ.ตร.นั้น คงเดิม คือ ครองตำแหน่งเพียง 1 ปี ก็เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นได้

ในร่างกฎ ก.ตร.ฉบับใหม่ สามารถเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นข้ามหน่วยได้ และในร่างฉบับใหม่ตัดใจความที่ว่าการแต่งตั้งสลับตำแหน่งในระนาบเดิมให้ทำเท่าที่จำเป็นเป็นประโยชน์แก่ทางราชการออกไป ส่วนการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นร่างกฎ ก.ตร.ฉบับใหม่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเป็นผู้กำหนดแนวทางในแต่ละครั้ง ขณะที่การแต่งตั้งสับเปลี่ยนหมุนเวียนตำแหน่งเท่าเดิม ตามกฎ ก.ตร.ฉบับเดิม กำหนดให้ผ่านคณะกรรมการและเสนอผู้มีอำนาจแต่งตั้งแต่ในกฎ ก.ตร.ใหม่ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งได้เลย

ในการแต่งตั้งสับเปลี่ยนหมุนเวียนรอง ผบก.ลงมากรณีหัวหน้าหน่วยเห็นว่าในหน่วยไม่มีตำแหน่งเหมาะสม ให้ทำความตกลงกับผู้มีอำนาจเพื่อแต่งตั้งไปในหน่วยในภูมิภาคเดียวกัน หรือหน่วยตามภูมิลำเนา

สำหรับวิธีการคัดเลือก หรือแต่งตั้งมีการกำหนดใหม่ ดังนี้ 1. ตามกฎ ก.ตร. เดิมการแต่งตั้งระดับผู้ช่วย ผบ.ตร. ขึ้นไปให้พิจารณาเรียงตามอาวุโสแต่กฎ ก.ตร. ฉบับใหม่ ให้พิจารณาจากความรู้ความสามารถผลปฏิบัติงานและอาวุโสประกอบกัน 2. การแต่งตั้งระดับ ผบก.ถึง ผบช. ให้พิจารณาตามลำดับอาวุโส ร้อยละ 25 ของตำแหน่งที่ว่าง 3. ระดับ สว.ถึง รอง ผบก. พิจารณาสัดส่วนอาวุโสจำนวนร้อยละ 33 ของตำแหน่งที่ว่าง 4. การแต่งตั้งในตำแหน่งที่ว่างลงในสัดส่วนที่เหลือจากสัดส่วนความอาวุโสให้ผู้เหมาะสมทุกรายได้รับการพิจารณาเท่าเทียมกัน ส่วนในการแต่งตั้งรอง ผบก. ลงมาข้ามหน่วยงานให้พิจารณาได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของตำแหน่งที่ว่างลง และในการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นนอกวาระประจำปีให้ถือผู้เหมาะสมทุกรายมีสิทธิได้รับการพิจารณาโดยไม่มีอาวุโส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างกฎ ก.ตร.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งฯ ดังกล่าวจะนำเข้าสู่วาระการประชุม ก.ตร. เพื่อให้ ก.ตร.พิจารณารับรอง และประกาศใช้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ข้าราชการตำรวจในประเด็นการเพิ่มระยะเวลาในการครองตำแหน่งที่นานขึ้นในระดับรอง ผบก.-สว. ทำให้หลายคนเสียโอกาสที่จะได้เลื่อนตำแหน่ง แต่ในระดับ ผบก.ถึงรอง ผบช. กลับมีการลดเวลาให้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น