MGR Online - กองปราบปรามแถลงจับชาวต่างชาติสัญชาติไนจีเรียแก๊งโรแมนซ์สแกม ใช้แอปพลิเคชันไลน์ปลอมตัวเป็นชายและหญิงยุโรปหลอกพูดคุยกับสาว-ชายไทย ให้สนิทใจก่อนอ้างยืมเงิน เสียหายกว่า 2 ล้านบาท
วันนี้ (3 ธ.ค.) ที่กองปราบปราม เมื่อเวลา 13.00 น. พล.ต.ต.ชาญ วิมลศรี รอง ผบช.ก.รักษาราชการแทน ผบก.ป. พ.ต.อ.พันธนะ นุชนารถ พ.ต.อ.สรายุทธ สงวนโภคัย พ.ต.อ.สยาม บุญสม รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.จิรภพ ภูริเดช ผกก.1 บก.ป. พ.ต.ท.พัฒนพงศ์ ศรีพิณเพราะ สว.กก.1 บก.ป. แถลงข่าวจับกุม นายเอ็มเบ็นกา โอยาจูลู โอโคชุกวู อายุ 35 ปี สัญชาติไนจีเรีย พร้อมของกลางโทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง, คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก, บัญชีเงินฝากธนาคาร 2 เล่ม และบัตรเอทีเอ็ม จับกุมได้ที่อาคาร 5 ไอริส อเวนิว คอนโดมิเนียม ซอยลาดกระบัง 18 ถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง แขวงและเขตลาดกระบัง กทม.
พล.ต.ต.ชาญกล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่าผู้ต้องหาเป็นหนึ่งในแก๊งโรแมนซ์สแกมมีพฤติการณ์หลอกลวงหญิงและชายชาวไทยทางแอปพลิเคชันไลน์ พักอาศัยอยู่ที่คอนโดมิเนียมดังกล่าว จึงเฝ้าสืบสวนติดตามกระทั่งพบตัวนายเอ็มเบ็นกาซึ่งเป็นบุคคลที่ตรงตามที่ได้รับแจ้ง เมื่อขอตรวจสอบหนังสือเดินทาง ทางนายเอ็มเบ็นกาอ้างว่ามีเพียงสำเนานำมาแสดง และพบว่าสำเนาหนังสือเดินทางนั้นขาดอายุการอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 2555 จึงแจ้งข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง
พล.ต.ต.ชาญกล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาพบว่ามีการใช้งานแอปพลิเคชันไลน์อ้างตัวเป็นชายหนุ่มชาวยุโรป ผิวขาวหน้าตาดี มีชื่อว่า หลุยส์ มาร์ก “Luis Mark” ติดต่อพูดคุยกับสาวไทยหลายคนในเชิงชู้สาว จากนั้นก็จะพยายามตีสนิทก่อนจะหลอกลวงว่าจะนำเงินมาให้ แต่เงินที่ใส่ไว้ในกระเป๋าเดินทางเข้ามาประเทศไทยถูกเจ้าหน้าที่ที่ทางการไทยยึดไว้ หากจะนำเงินดังกล่าวออกมาต้องเสียเงินค่าดำเนินการ ก่อนจะขอให้ผู้เสียหายโอนเงินมาให้ ที่ผ่านมามีผู้หญิงไทย 2 รายที่ตกเป็นเหยื่อสูญเงินไป 99,800 บาท นอกจากนี้ยังปลอมตัวเป็นหญิงสาวชาวอังกฤษใช้ชื่อว่า เชียนนา แอดดิสัน “Gianna Addison” พูดคุยกับชายชาวไทยซึ่งเป็น ผอ.โรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคอีสาน แล้วหลอกผู้เสียหายให้โอนเงินให้ 150,000 บาท
สอบสวนนายเอ็มเบ็นการับสารภาพว่า เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2555 โดยทำธุรกิจซื้อสินค้าขายส่งจากย่านประตูน้ำ เขตราชเทวี กทม. ส่งไปขายยังทวีปแอฟริกา ต่อมาเมื่อช่วงปี 2557 จึงร่วมกับเพื่อนชาวต่างชาติที่มีชื่อเล่นว่า “จอห์น” สมัครแอปพลิเคชันไลน์ปลอมตัวเป็นชายหนุ่มชาวยุโรปผิวขาวหน้าตาดี ใช้ชื่อและรูปถ่ายปลอมเป็นโปรไฟล์ มีตำแหน่งหน้าที่การงานมั่นคง ก่อนจะติดต่อพูดคุยกับหญิงไทย จากนั้นจึงออกอุบายว่าต้องการคบหาด้วยและมีเงินจะนำมาให้แต่ติดปัญหาด้านศุลกากร มีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องขอให้เหยื่อโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารมาให้ ซึ่งในขั้นตอนดังกล่าวมีหญิงสาวชาวไทยอีกคนอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากรร่วมหลอกลวงเหยื่อ ที่ผ่านมาได้ก่อเหตุมาแล้วหลายราย ใช้เวลาในการหลอกลวงเหยื่อรายละประมาณ 1-2 สัปดาห์ ได้เงินแต่ละครั้งประมาณ 10,000-400,000 บาท สำหรับเงินที่ได้มานั้นก็จะนำมาแบ่งกับเพื่อนก่อนจะโอนกลับไปยังประเทศบ้านเกิด โดยรวมแล้วได้เงินจากการกระทำการลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท
พล.ต.ต.ชาญกล่าวเสริมว่า ในส่วนของการพิจารณาดำเนินคดีนี้ยังต้องรอให้ผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ก่อนจึงจะพิจารณาเอาผิดตามกฎหมาย และเนื่องจากกรณีที่เกิดขึ้นเป็นความผิดส่วนตัว ทางผู้เสียหายสามารถเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุได้ ทั้งนี้ ทาง บก.ป.จะร่วมกับกองบังคับการรปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เก็บรวบรวมข้อมูลและแผนประทุษกรรมของคนร้ายไว้ เพื่อเป็นข้อมูลในทางการสืบสวนคดีอาชญากรรมข้ามชาติ ส่วนผู้ต้องหารายนี้ ได้ควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.ลาดกระบัง รับไว้ดำเนินคดี ก่อนจะส่งต่อให้ทางกองบัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ผลักดันออกนอกประเทศต่อไป