ASTVผู้จัดการ - ศาลฎีกาพิพากษาแก้ จำคุก 6 เดือน ปรับคนละ 5 หมื่น “สนธิ-สโรชา-ASTV” กล่าวหา “ดามาพงศ์” โกงทั้งโคตร โทษจำคุกรอลงอาญา 3 ปี ส่วน นสพ.ผู้จัดการรายวัน และเว็บไซต์แมเนเจอร์ให้ยกฟ้อง
วันนี้ (24 ก.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 703 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขดำ อ.550/2549 ที่ พล.ร.ท.เกียรติศักดิ์ ดามาพงศ์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ ญาติคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยานายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน, น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์ ผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร บริษัท แมเนเจอร์ มีเดียกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน, น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของ บ.แมเนเจอร์ฯ, นายขุนทอง ลอเสรีวานิช เจ้าของและผู้จัดทำเว็บไซต์ ww.manager.co.th, บริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด ผู้ผลิตรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร, นายศุภชัย วงศ์วรเศรษฐ์ (โจทก์ถอนฟ้องแล้ว), นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล, นายพชร สมุทรวณิช ซึ่งเป็นกรรมการบริหาร บ.ไทยเดย์ฯ และนายปัญจภัทร อังคสุวรรณ ผู้ควบคุมดูแลเว็บไซต์ www.manager.co.th เป็นจำเลยที่ 1-10 ในความผิดฐานร่วมกันดูหมิ่น และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332, 393 กรณีร่วมกันจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ถ่ายทอดออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ ASTV ช่องนิวส์ 1 และเผยแพร่ตีพิมพ์ทาง นสพ.ผู้จัดการรายวัน และเว็บไซต์ www.manager.co.th โดยกล่าววิจารณ์การขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ด้วยถ้อยคำลักษณะใส่ร้ายตระกูลดามาพงศ์ และบุคคลในตระกูลดามาพงศ์ของโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 24 ม.ค. - 4 ก.พ. 2549
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2550 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ได้จากคำเบิกความพยานโจทก์มีความคลาดเคลื่อน จึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย และไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทฯ จึงพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 10 ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2554 ว่า เมื่อพิจารณาจากข้อความตามฟ้องโจทก์ เช่น “ชินวัตร...ดามาพงศ์ โกงทั้งโคตร ขายชาติเลี่ยงภาษี” แม้ไม่มีชื่อโจทก์แต่การที่ลงชื่อตระกูลทำให้ผู้อ่านย่อมเข้าใจไปได้ว่าหมายถึงทั้งตระกูล โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย อีกทั้งข้อความดังกล่าวยังเป็นความหมายในทางลบทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกว่าการกระทำของตระกูลโจทก์กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะดำเนินการไม่ใช่หน้าที่จำเลยมาตัดสิน ข้อความตามฟ้องของจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่การเสนอข้อเท็จจริงโดยสุจริต ส่วนจำเลยที่ 2, 3, 5, 6 และ10 มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วม ขณะที่จำเลยที่ 4 เป็นเพียงผู้บริหารแผนฯของจำเลยที่ 3 ย่อมไม่มีส่วนกระทำผิด ส่วนจำเลยที่ 8 และ 9 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 5 โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่ามีส่วนร่วมกระทำผิดอย่างไร
จึงพิพากษาว่าแก้ว่า จำเลยที่ 1, 2, 3, 5, 6 และ 10 กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุกจำเลยที่ 1, 2, 5 และ 10 คนละ 6 เดือน ปรับคนละ 5 หมื่นบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี ให้ปรับจำเลยที่ 3 และ 6 ซึ่งเป็นนิติบุคคล คนละ 5 หมื่นบาท และให้ร่วมกันลงตีพิมพ์คำพิพากษาลงใน นสพ.ผู้จัดการรายวัน และเว็บไซต์ www.manager.co.th เป็นเวลา 7 วันต่อเนื่องกัน
ต่อมาจำเลยที่ 1, 2, 3, 5, 6 และ 10 ยื่นฎีกาขอให้ยกฟ้อง ศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษาหารือกันแล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 และที่ 5 กระทำผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยหรือไม่ เห็นว่าแม้ข้อความที่พาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน และเว็บไซต์แมเนเจอร์ จะกล่าวถึงตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ แต่เมื่อพิจารณาดูในเนื้อหาข่าวนั้นไม่ได้หมายถึงคนของตระกูลดังกล่าวทั้งหมด ยังถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 5 จะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเสื่อมเสียชื่อเสียง จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ส่วนคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 เมื่อพิจารณาคำว่า “โกงทั้งโคตร” ย่อมหมายถึงทุกคนที่อยู่ในตระกูลดามาพงศ์ได้รับความเสียหาย จึงพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา 326 และ 328 ขณะที่จำเลย 2 อยู่ร่วมเวทีการปราศรัยกับจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้น จึงกระทำผิดฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับจำเลยที่ 6 และที่ 10 ที่ได้เผยแพร่ข้อความการปราศรัยดังกล่าว