ถือเป็นคดีอุทาหรณ์.... สำหรับผู้มีหน้าที่ในการเก็บรักษาหรือดำเนินการเกี่ยวกับเงินหลวง ที่ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า เงินหลวงเป็นเงินของแผ่นดิน ที่ไม่อาจจะโยกย้ายหรือนำไปเก็บรักษาไว้ในบัญชีส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ได้
เช่นในคดีนี้ นางสาวอุ๊บอิ๊บ (ผู้ฟ้องคดี) ซึ่งเป็นข้าราชการ ระดับ 6 ของมหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่ง ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ทำหน้าที่เบิกเงินจากบัญชีเงินฝากกองทุนของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อการวิจัยและพัฒนา ไปจ่ายค่าตอบแทนให้กับนักวิจัย โดยอธิการบดีได้อนุมัติให้จ่ายเงินแก่นักวิจัยจำนวนสองราย รวมเป็นเงินกว่าหนึ่งแสนบาท
นางสาวอุ๊บอิ๊บ ได้เบิกเงินและนำไปจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้แก่นักวิจัย 1 ราย ส่วนอีก 1 ราย ยังไม่จ่าย แต่ได้นำเงินเข้าบัญชีของตัวเองไว้ จนกระทั่งนักวิจัยรายดังกล่าวได้ติดตามทวงถาม เรื่องจึงแดงว่า นางสาวอุ๊บอิ๊บ ได้เบิกเงินไปแล้วแต่ยังไม่จ่ายให้แก่นักวิจัย โดยนางสาวอุ๊บอิ๊บอ้างว่าเป็นเพราะยังไม่ได้รับแจ้งเลขที่บัญชีของนักวิจัย ประกอบกับงานยุ่งจึงได้นำเงินไปฝากพักไว้ในบัญชีของตนเองก่อน ซึ่งหลังจากที่มีการทวงถาม นางสาวอุ๊บอิ๊บก็ได้รีบนำเงินดังกล่าวจ่ายให้แก่นักวิจัยทันที
อธิการบดีจึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนนางสาวอุ๊บอิ๊บ ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง กรณีเบิกเงินโครงการวิจัยจากบัญชีเงินฝากของทางราชการแล้วไม่ส่งเงินให้นักวิจัยทันทีที่ได้รับหรือในเวลาที่เหมาะสม แต่นำเงินดังกล่าวไปฝากไว้ในบัญชีส่วนตัว คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า การกระทำของนางสาวอุ๊บอิ๊บ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ซึ่งเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 39 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 สมควรลงโทษไล่ออกจากราชการ แต่เนื่องจากการกระทำดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นักวิจัยและราชการ ประกอบกับความไม่พร้อมของหน่วยงานที่เพิ่งเริ่มจัดตั้ง ผู้บริหารเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง ภารกิจในการปฏิบัติงานมีมาก บุคลากรทางด้านการเงินมีน้อย คือมีนางสาวอุ๊บอิ๊บ เพียงคนเดียว จึงเห็นควรลดโทษเป็นปลดออกจากราชการ
คณะกรรมการสอบสวนจึงเสนอรายงานการสอบสวนพร้อมความเห็นต่ออธิการบดี และอธิการบดีได้ส่งเรื่องไปตามลำดับจนถึงสภามหาวิทยาลัย ซึ่งพิจารณาแล้วไม่เห็นด้วย โดยมีมติให้ลงโทษไล่นางสาวอุ๊บอิ๊บออกจากราชการ เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของนางสาวอุ๊บอิ๊บ ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นักวิจัยและมหาวิทยาลัยแล้ว และเห็นว่าความไม่พร้อมของหน่วยงาน และบุคลากรด้านการเงินมีน้อยนั้น ไม่เป็นเหตุที่จะนำมาพิจารณาเพื่อลดหย่อนโทษเป็นปลดออกจากราชการได้
อธิการบดีจึงมีคำสั่งลงโทษไล่นางสาวอุ๊บอิ๊บออกจากราชการ นางสาวอุ๊บอิ๊บได้มีหนังสืออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งต่อมามีมติยกอุทธรณ์ นางสาวอุ๊บอิ๊บ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง และสู้คดีถึงชั้นศาลสูง
คดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบัน อุดมศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 39 วรรคสาม บัญญัติว่า การปฏิบัติหรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เมื่อข้อเท็จจริงในการสอบสวน นางสาวอุ๊บอิ๊บ มิได้โต้แย้งพฤติการณ์การฝากเงินของทางราชการเข้าบัญชีส่วนตัว จึงเป็นที่ยุติว่านางสาวอุ๊บอิ๊บ ได้นำเงินของทางราชการไปฝากไว้ในบัญชีเงินฝากของตนเองจริง จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเพียงว่า การที่นางสาวอุ๊บอิ๊บ นำเงินของทางราชการไปฝากในบัญชีเงินฝากของตนเองนั้น มีเจตนาทุจริตต่อหน้าที่ราชการตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ข้ออ้างของนางสาวอุ๊บอิ๊บที่ว่าไม่ทราบเลขบัญชีของนักวิจัย จึงนำเงินของทางราชการฝากไว้ในบัญชีของตนเอง แทนที่จะนำเงินของทางราชการฝากคืนกลับเข้ากองทุนมหาวิทยาลัย หรือไม่ก็ดำเนินการจัดซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายแก่นักวิจัย แล้วจัดส่งไปยังสถานที่ทำงานของนักวิจัย หรือควรต้องสอบถามเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคารของนักวิจัย ให้ทราบแน่ชัดเสียก่อน แล้วจึงค่อยดำเนินการเบิกจ่ายเงินดังกล่าว หรืออาจใช้วิธีโทรศัพท์ติดต่อสอบถามเลขที่บัญชีจากนักวิจัยก็ได้ แต่ก็มิได้ดำเนินการโดยวิธีการใดๆ กลับนำเงินดังกล่าวเข้าบัญชีส่วนตัว รวมทั้งมีการถอนเงินออกไปใช้ จนยอดเงินลดลงตลอดนานถึงเกือบสองเดือน ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่แท้จริงของนางสาวอุ๊บอิ๊บ
สำหรับข้ออ้างที่ว่า ตนไม่ได้จัดทำบัญชีรายรับ - รายจ่ายส่วนตัว จึงไม่ทราบเหตุผลของยอดเงินและการใช้จ่ายในบัญชีนั้น เห็นว่า การที่นางสาวอุ๊บอิ๊บ ไม่ได้จัดทำบัญชีรายรับ - รายจ่าย ดังกล่าว มิได้มีผลต่อกรณีที่ถูกกล่าวหา เนื่องจากเมื่อนางสาวอุ๊บอิ๊บ ได้เบิกเงินจากกองทุน เพื่อนำเงินส่งให้แก่นักวิจัย นางสาวอุ๊บอิ๊บ จะต้องพยายามดำเนินการนำเงินส่งให้แก่นักวิจัยโดยเร็ว ซึ่งนางสาวอุ๊บอิ๊บ จบการศึกษาเกี่ยวกับการเงินการบัญชี และดำรงตำแหน่งนักวิชาการการเงินและบัญชี ระดับ 6 มีหน้าที่เกี่ยวกับงานด้านการเงินและบัญชี ย่อมต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการเบิกจ่ายเงินในด้านต่างๆ เป็นอย่างดี ข้อต่อสู้ดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น คำสั่งไล่นางสาวอุ๊บอิ๊บออกจากราชการจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว (อ.334/2557)
งานนี้...นางสาวอุ๊บอิ๊บได้ปิดบัญชีหน้าที่ราชการของตัวเองเป็นที่เรียบร้อย....
ครองธรรม ธรรมรัฐ
เช่นในคดีนี้ นางสาวอุ๊บอิ๊บ (ผู้ฟ้องคดี) ซึ่งเป็นข้าราชการ ระดับ 6 ของมหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่ง ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ทำหน้าที่เบิกเงินจากบัญชีเงินฝากกองทุนของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อการวิจัยและพัฒนา ไปจ่ายค่าตอบแทนให้กับนักวิจัย โดยอธิการบดีได้อนุมัติให้จ่ายเงินแก่นักวิจัยจำนวนสองราย รวมเป็นเงินกว่าหนึ่งแสนบาท
นางสาวอุ๊บอิ๊บ ได้เบิกเงินและนำไปจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้แก่นักวิจัย 1 ราย ส่วนอีก 1 ราย ยังไม่จ่าย แต่ได้นำเงินเข้าบัญชีของตัวเองไว้ จนกระทั่งนักวิจัยรายดังกล่าวได้ติดตามทวงถาม เรื่องจึงแดงว่า นางสาวอุ๊บอิ๊บ ได้เบิกเงินไปแล้วแต่ยังไม่จ่ายให้แก่นักวิจัย โดยนางสาวอุ๊บอิ๊บอ้างว่าเป็นเพราะยังไม่ได้รับแจ้งเลขที่บัญชีของนักวิจัย ประกอบกับงานยุ่งจึงได้นำเงินไปฝากพักไว้ในบัญชีของตนเองก่อน ซึ่งหลังจากที่มีการทวงถาม นางสาวอุ๊บอิ๊บก็ได้รีบนำเงินดังกล่าวจ่ายให้แก่นักวิจัยทันที
อธิการบดีจึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนนางสาวอุ๊บอิ๊บ ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง กรณีเบิกเงินโครงการวิจัยจากบัญชีเงินฝากของทางราชการแล้วไม่ส่งเงินให้นักวิจัยทันทีที่ได้รับหรือในเวลาที่เหมาะสม แต่นำเงินดังกล่าวไปฝากไว้ในบัญชีส่วนตัว คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า การกระทำของนางสาวอุ๊บอิ๊บ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ซึ่งเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 39 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 สมควรลงโทษไล่ออกจากราชการ แต่เนื่องจากการกระทำดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นักวิจัยและราชการ ประกอบกับความไม่พร้อมของหน่วยงานที่เพิ่งเริ่มจัดตั้ง ผู้บริหารเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง ภารกิจในการปฏิบัติงานมีมาก บุคลากรทางด้านการเงินมีน้อย คือมีนางสาวอุ๊บอิ๊บ เพียงคนเดียว จึงเห็นควรลดโทษเป็นปลดออกจากราชการ
คณะกรรมการสอบสวนจึงเสนอรายงานการสอบสวนพร้อมความเห็นต่ออธิการบดี และอธิการบดีได้ส่งเรื่องไปตามลำดับจนถึงสภามหาวิทยาลัย ซึ่งพิจารณาแล้วไม่เห็นด้วย โดยมีมติให้ลงโทษไล่นางสาวอุ๊บอิ๊บออกจากราชการ เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของนางสาวอุ๊บอิ๊บ ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นักวิจัยและมหาวิทยาลัยแล้ว และเห็นว่าความไม่พร้อมของหน่วยงาน และบุคลากรด้านการเงินมีน้อยนั้น ไม่เป็นเหตุที่จะนำมาพิจารณาเพื่อลดหย่อนโทษเป็นปลดออกจากราชการได้
อธิการบดีจึงมีคำสั่งลงโทษไล่นางสาวอุ๊บอิ๊บออกจากราชการ นางสาวอุ๊บอิ๊บได้มีหนังสืออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งต่อมามีมติยกอุทธรณ์ นางสาวอุ๊บอิ๊บ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง และสู้คดีถึงชั้นศาลสูง
คดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบัน อุดมศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 39 วรรคสาม บัญญัติว่า การปฏิบัติหรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เมื่อข้อเท็จจริงในการสอบสวน นางสาวอุ๊บอิ๊บ มิได้โต้แย้งพฤติการณ์การฝากเงินของทางราชการเข้าบัญชีส่วนตัว จึงเป็นที่ยุติว่านางสาวอุ๊บอิ๊บ ได้นำเงินของทางราชการไปฝากไว้ในบัญชีเงินฝากของตนเองจริง จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเพียงว่า การที่นางสาวอุ๊บอิ๊บ นำเงินของทางราชการไปฝากในบัญชีเงินฝากของตนเองนั้น มีเจตนาทุจริตต่อหน้าที่ราชการตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ข้ออ้างของนางสาวอุ๊บอิ๊บที่ว่าไม่ทราบเลขบัญชีของนักวิจัย จึงนำเงินของทางราชการฝากไว้ในบัญชีของตนเอง แทนที่จะนำเงินของทางราชการฝากคืนกลับเข้ากองทุนมหาวิทยาลัย หรือไม่ก็ดำเนินการจัดซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายแก่นักวิจัย แล้วจัดส่งไปยังสถานที่ทำงานของนักวิจัย หรือควรต้องสอบถามเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคารของนักวิจัย ให้ทราบแน่ชัดเสียก่อน แล้วจึงค่อยดำเนินการเบิกจ่ายเงินดังกล่าว หรืออาจใช้วิธีโทรศัพท์ติดต่อสอบถามเลขที่บัญชีจากนักวิจัยก็ได้ แต่ก็มิได้ดำเนินการโดยวิธีการใดๆ กลับนำเงินดังกล่าวเข้าบัญชีส่วนตัว รวมทั้งมีการถอนเงินออกไปใช้ จนยอดเงินลดลงตลอดนานถึงเกือบสองเดือน ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่แท้จริงของนางสาวอุ๊บอิ๊บ
สำหรับข้ออ้างที่ว่า ตนไม่ได้จัดทำบัญชีรายรับ - รายจ่ายส่วนตัว จึงไม่ทราบเหตุผลของยอดเงินและการใช้จ่ายในบัญชีนั้น เห็นว่า การที่นางสาวอุ๊บอิ๊บ ไม่ได้จัดทำบัญชีรายรับ - รายจ่าย ดังกล่าว มิได้มีผลต่อกรณีที่ถูกกล่าวหา เนื่องจากเมื่อนางสาวอุ๊บอิ๊บ ได้เบิกเงินจากกองทุน เพื่อนำเงินส่งให้แก่นักวิจัย นางสาวอุ๊บอิ๊บ จะต้องพยายามดำเนินการนำเงินส่งให้แก่นักวิจัยโดยเร็ว ซึ่งนางสาวอุ๊บอิ๊บ จบการศึกษาเกี่ยวกับการเงินการบัญชี และดำรงตำแหน่งนักวิชาการการเงินและบัญชี ระดับ 6 มีหน้าที่เกี่ยวกับงานด้านการเงินและบัญชี ย่อมต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการเบิกจ่ายเงินในด้านต่างๆ เป็นอย่างดี ข้อต่อสู้ดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น คำสั่งไล่นางสาวอุ๊บอิ๊บออกจากราชการจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว (อ.334/2557)
งานนี้...นางสาวอุ๊บอิ๊บได้ปิดบัญชีหน้าที่ราชการของตัวเองเป็นที่เรียบร้อย....
ครองธรรม ธรรมรัฐ