xs
xsm
sm
md
lg

คสช.เชิญตัวแทนสื่อสิ่งพิมพ์จูนการทำงาน กันเสนอข่าวคลาดเคลื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


คสช. เชิญ บก.- ตัวแทนสื่อสิ่งพิมพ์ 18 ฉบับ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นการทำงานร่วมกัน ป้องกันเสนอข่าวคลาดเคลื่อนสับสน ขณะโฆษก ตร. ชมสื่อไทยทำงานกับ จนท. ได้ดี ไม่ก้าวร้าว ขณะตัวแทนสื่อ ยืนยันทำหน้าที่เสนอความจริงโดยสุจริต

วันนี้ (25 ส.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ท.สุชาติ ผ่องพุฒิ เจ้ากรมทหารสื่อสาร คณะทำงานติดตามสื่อ ส่วนงานการรักษาความสงบเรียบร้อย พร้อม พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร. และโฆษก ตร. พล.ต.ต.ศรายุทธ พูลธัญญะ รองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลในฐานะเลขานุการศูนย์ติดตามสื่อสิ่งพิมพ์ สันติบาล ได้เชิญบรรณาธิการตัวแทนสื่อสิ่งพิมพ์ ประเภทหนังสือพิมพ์ 18 ฉบับ อาทิ เดลินิวส์ ไทยรัฐ มติชน ข่าวสด เดอะเนชั่น เอเอสทีวี-ผู้จัดการ ไทยโพสต์ ฯลฯ ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นของสื่อมวลชน และคณะทำงานด้านสื่อมวลชน โดยใช้เวลาประชุม 2 ชั่วโมง

พล.ท.สุชาติ กล่าวว่า วันนี้เป็นการเชิญสื่อมาพบ ไม่ใช่เรียกมาคุย หรือปรับทัศนคติ การทำงานของสื่อสิ่งพิมพ์ในปัจจุบันยังน่ารัก แต่ยอมรับว่า การเติบโตขยายของสื่อโซเชียลมีเดียสื่อออนไลน์น่ากลัว เนื้อหาที่ปรากฏทั้งสื่อทีวี สื่อหนังสือพิมพ์ ล้วนปรากฏในสื่อออนไลน์ในเวลาต่อมาทั้งสิ้น ซึ่งบ่อยครั้งนำไปขยายต่อตัดตอน สร้างความคลาดเคลื่อนสับสน แต่รัฐบาล และ คสช. ไม่สามารถปิดกั้นสื่อเหล่านั้นได้ ทั้งที่ทราบว่าสามารถปิดกั้นผ่านเกตเวย์ต่าง ๆ แต่พิจารณาแล้วหากทำไม่คุ้มค่า ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่า

ด้าน พล.ต.ท.ประวุฒิ กล่าวถึงการทำหน้าที่ของสื่อในสถานการณ์ระเบิดศาลท้าวมหาพรหม ว่า ยอมรับว่า สื่อไทยทำงานกับเจ้าหน้าที่ด้วยดี มีความเข้าใจ ไม่ก้าวร้าวเหมือนสื่อต่างชาติ ที่มักนำเสนอข้อมูลแปลก มีคำถามแปลก เช่น เอาหลักฐานอะไรก็ไม่ทราบ มากล่าวอ้างโดยไม่มีการตรวจสอบ เช่น ภาพเป้ที่สื่อญี่ปุ่นอ้างว่าเป็นหลักฐานจากเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ หรือที่สื่อบางแห่ง ยกชื่อใครก็ไม่รู้มาอ้าง นอกจากนี้ ยังมีกรณีของสื่อฮ่องกงที่พกพายุทธภัณฑ์ และถูกจับกุม ซึ่งยืนยันว่า เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายที่เจ้าหน้าที่พบมีความผิดก็ต้องดำเนินการเหมือนนายตำรวจไทยที่ถูกจับกุมในต่างประเทศ แต่ในกรณีนักข่าวฮ่องกง ทางการไทยผ่อนผันโดยให้ประกันตัวในทันทีแล้ว

พล.ต.ท.ประวุฒิ กล่าวอีกว่า การนำเสนอข่าวในสถานการณ์นี้ ขอให้สื่อให้ความสำคัญ ระมัดระวังการระบุถึงเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา แม้ว่าภาพหมายจับผู้ต้องหาวางระเบิดที่ออกไปจะดูคล้ายแขกขาว แต่ก็ยังระบุไม่ได้ว่าเป็นแขกขาวหรือไม่ อาจเป็นลูกครึ่ง เป็นคนไทยที่แกล้งพูดภาษาไทยไม่ได้ก็ได้

“ตรงนี้ผมขอเรื่องการพูดถึงสัญชาติ เพราะว่าเมื่อเอ่ยถึงชาติใด ทั้งที่พยานหลักฐานยังไม่ใช่ จะเป็นการเบลมชาตินั้น ๆ เราจะสร้างศัตรูโดยใช่เหตุ ตอนนี้มีทูตในหลายประเทศถูกเชิญไปตำหนิ เรียกไปเตือนว่า ทำไมสื่อในประเทศเรา ไปเบลมประเทศเขา ต้องยอมรับว่า มีหลายอย่างที่ทางการพูดออกไปไม่ได้ จนกว่าพยานหลักฐานจะชัดเจน” พล.ต.ท.ประวุฒิ กล่าวและว่า แม้สื่อบางแห่งจะพยายามพูดว่า นี่คือการก่อการร้ายสากล แต่ถึงตอนนี้ตนบอกเลยว่าเรายังพูดอย่างนั้นไม่ได้ ก่อนจะชี้ว่าเป็นการก่อการร้ายสากล ต้องดูว่าเข้าองค์ประกอบการก่อการร้ายสากลหรือไม่ ไม่ใช่แค่มีชาวต่างชาติ ก่อเหตุก็ใช่แล้ว มันต้องมีลักษณะขององค์กร วัตถุประสงค์ที่ชัด แต่ตอนนี้เรายังไม่ทราบขนาดนั้น หากยอมรับโดยไม่มีพยานหลักฐาน บ้านเราก็จะกลายเป็นสนามรบ ถ้าเรารับแบบนั้น เศรษฐกิจ การท่องเที่ยวในบ้านเราจะอยู่ได้อย่างไร ตอนนี้ยืนยันว่า ยังไม่ใช่การก่อการร้ายสากล เพราะด้วยองค์ประกอบที่มีในขณะนี้ยังไกลคำนี้มาก

โฆษก ตร. กล่าวถึงคดีระเบิด 2 จุด ว่า ยอมรับว่า มีพยานถึง 2 คน เป็นญาติของผู้ป่วยมาเฝ้าไข้ และคนที่มารักษาที่ รพ.จุฬาฯ ให้การตรงกันว่า ขณะลงมาชั้นล่าง ลงมาซื้อของ เห็นผู้ต้องสงสัยตามหมายจับ ปะปนอยู่ในกลุ่มคนที่กำลังวุ่นวายรับผู้ป่วยจากเหตุระเบิด โดยชายคนดังกล่าวเปลี่ยนจากเสื้อสีเหลือง เป็นสีเทา แต่สวมกางเกง และรองเท้าเดิม กำลังใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพ เหมือนถ่ายรูปผลงานตัวเอง เชื่อว่า เขาคงไม่กล้ามาที่ รพ.ตำรวจ จึงไปที่ รพ.จุฬาฯ เมื่อพยานยันถึง 2 คน เราก็ตรวจสอบ แต่ปรากฏว่ากล้องวงจรปิดที่ รพ.จุฬาฯ ใช้การไม่ได้เลย ไม่มีใครถ่ายภาพได้เลย แม้แต่เจ้าหน้าที่มูลนิธิ หน่วยกู้ภัยก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพ เราจึงไม่มีภาพยืนยัน มีแต่คำบอกเล่าของพยาน ยอมรับว่า การสืบสวนจับกุมผู้ต้องหาในคดีนี้ ตำรวจทำทุกวิถีทาง แต่ไม่ง่าย คนร้ายระวังตัวมาก แม้แต่การติดต่อสื่อสาร คนร้ายก็ไม่ใช่ผ่านสัญญาณโทรศัพท์เลย ใช้เน็ตโฟน หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น วอตช์แอป วีแชต เท่านั้น

“เรื่องกล้องวงจรปิด จึงเป็นปัญหามาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติออกมาย้ำเรื่องกล้องซีซีทีวีบ่อย ๆ ว่าไม่มีประสิทธิภาพ เป็นแค่กล้องจิตวิทยา ซึ่งเป็นอุปสรรคในการทำคดีนี้ รวมทั้งอยากย้ำว่า เรายังขาดอุปกรณ์การดึงภาพ ขยายภาพ ตรวจจับวัตถุต้องสงสัย สแกนใบหน้าบุคคล ทั้งที่พยายามผลักดันให้รัฐสนับสนุนมาตลอดหลายปี นี่เป็นอุปสรรคในการคลี่คลายคดีนี้ ที่ต้องมาย้ำ มาพูดเพราะอยากกระตุ้นหน่วยที่เกี่ยวข้อง อาทิ กทม. ออกมาตื่นตัวเรื่องนี้ โดยให้ถือวิกฤตนี้เป็นโอกาสจะได้ป้องกันไว้ก่อนเหตุระเบิดครั้งหน้า” โฆษก ตร. กล่าว

พล.ต.ท.ประวุฒิ กล่าวว่า สื่อออนไลน์ เพจเฟซบุ๊กบางเพจ โดยเฉพาะซีเอสไอแอลเอ (CSILA) แพร่ข้อมูลที่โจมตีเจ้าหน้าที่ บางข้อมูลเจ้าหน้าที่ก็มีแล้ว ทำแล้ว แต่เราพูดไม่ได้ แต่เมื่อสื่อออนไลน์แบบนี้ แพร่ข้อมูลออกมา บ่อยครั้งทำให้สังคมสับสน ไม่เข้าใจเจ้าหน้าที่ เช่น ออกมาเผยเรื่องเสื้อที่คนร้ายสวมใส่ อ้างว่า ซื้อที่ประเทศอินโดนีเซีย สื่อหลักบางแห่งก็ตื่นตาม ทั้งที่ตำรวจไทยตรวจสอบแล้ว เสื้อนี้มีขายที่ประตูน้ำร้าน รับมา 200 ตัว ขายสีเหลืองไปแล้ว 47 ตัว เหลืออีก 13 ตัว ที่พูดเพราะอยากให้สื่อหลักตรวจสอบข้อมูล ขอร้องอย่าไปฟังเพจนี้ ทราบว่า คนทำเป็นคนไทยที่โตที่เมืองนอก มีความรู้ แต่ก็ไม่เข้าใจอะไรหลายอย่าง คนนี้ตนอยากคุยด้วยมาก อยากพบขอคุยผ่านระบบสไกป์ก็ได้

“เรื่องนี้ไม่ง่าย ผมจะรวบรวมข้อมูลเหตุระเบิดทั่วโลก และเสนอข้อมูลให้เห็นว่ามีคดีไหน เหตุไหนจับคนร้ายได้บ้าง ใช้เวลานานเท่าไหร่ เสนอให้สังคมทราบ บอกเลยถ้าประเทศเรามีเครื่องมือต่าง ๆ ทั้งกล้องซีซีทีวี อุปกรณ์ขยาย สแกนบุคคลที่มีประสิทธิภาพพอป่านนี้ผมจับได้แล้ว ตอนนี้เราทุกคนต้องช่วยกันล้อมรั้ว ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก” โฆษก ตร. กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนสื่อมวลชนต่างเสนอความคิดเห็นหลากหลาย ยืนยันการทำหน้าที่เสนอความจริงโดยสุจริต โดยขอให้ คสช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ข้อมูลข่าวสารกรณีเหตุระเบิด อย่างทันท่วงทีตอบโต้ข่าวสารออนไลน์อย่างมีระบบ ชัดเจน และให้ข่าวอย่างมีเอกภาพ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น