ASTV ผู้จัดการ - เยียวยา “ศรีวราห์” สะดุด อาจล็อกถล่มยกแผง “เสรีพิศุทธ์” ออกฤทธิ์ยกคำสั่งศาลปกครองกลางสกัดแผนโตทางลัด อดีตวีรบุรุษนาแก สอน “แสบไส้” แซงคิวเยียวยาตัดหน้าคนอื่น สร้างความแตกแยกในหมู่ตำรวจ ทำผิดกฎหมาย เล่นพรรคเล่นพวก แหกกฎระเบียบเละ
ใกล้วันแต่งตั้ง “ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติคนใหม่” เข้ามาเท่าไหร่ การเล่นเหลี่ยมทางกฎหมายเพื่อสกัดกั้นเส้นทางสู่ดวงดาวก็โผล่ออกมาให้เห็นเป็นระยะ โดยเฉพาะวิบากกรรมของนายตำรวจคนดัง “บิ๊กปู” พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น.ซึ่งอยู่ระหว่างรอการเยียวยากรณีทวีคูณอายุราชการเลื่อนชั้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. คาดว่าจะส่งผลต่อคู่ “ชิงดำ” ระหว่าง “บิ๊กเอก” พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 1 และ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 5 คู่แคนดิเดตแทน “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคมนี้
เป็นที่ทราบกันว่า “บิ๊กปู” กับ “บิ๊กเอก” ผนึกกำลังฮึดสู้กับคู่ของ “บิ๊กอ๊อด” กับ “บิ๊กแป๊ะ” จนมีการวิเคราะห์ว่าตำแหน่ง ผบ.ตร.เที่ยวนี้น่าจะเป็น พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร.อาวุโสสูงสุด และเป็นเจ้าของผลงานขุดรากถอนโคนขบวนการค้ามนุษย์ โดยจะอยู่ในตำแหน่ง 1 ปี ต่อจากนั้นหากไม่มีความผิดพลาดอะไรจะสืบต่อด้วย พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ซึ่งเตรียมพาสชั้นจากการเยียวยาเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร.และขยับเป็นรอง ผบ.ตร.ในห้วงการแต่งตั้งโยกย้ายในปีนี้
หากเป็นไปตามนี้ “นักประสานสิบทิศ” อย่าง “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบ.ตร.ฝ่ายความมั่นคง อาจจะต้องเฝ้ารอตำแหน่งผู้นำสูงสุดขององค์กรสีกากีไปอย่างใจตุ๊มๆ ต่อมๆ เนื่องจากนักสู้พันธ์ดุอย่าง “บิ๊กปู” คงไม่ยอมให้โอกาสงามๆ ในระหว่างนี้หลุดมือไปแน่ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อ “บิ๊กแป๊ะ” แม่ทัพใหญ่ นรต.36 เกษียณอายุฯ ปี 2563 และทราบกันโดยทั่วว่ากำลังหมายมั่นปั้นมือขึ้นเป็น ผบ.ตร.คนใหม่เช่นกัน
ยุทธศาสตร์รุก-รับ พร้อมการสกัดดาวรุ่ง ตีหน้าแข้งคู่แข่งจึงนำออกมาใช้กันอย่างเต็มที่ และก่อนการประชุมใหญ่ของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ในวันที่ 7 ส.ค. 2558 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มาเป็นประธานฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นรองประธาน ได้เกิดประเด็นสำคัญจนอาจทำให้การช่วงชิงอำนาจในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกิดรายการ “ล็อกถล่ม” หักปากกาเซียนข่าวอาชญากรรมตามๆ กัน
มีรายงานว่า ในวันดังกล่าวจะมีการพิจารณาเฟ้นหา ผบ.ตร.คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.ที่จะเกษียณอายุราชการ รวมทั้งเรื่องอื่นๆ เช่น วาระแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ก.ต.ช. วาระปรับลดตำแหน่งนายเวร สบ 6 เทียบเท่า ผบก.ทำหน้าที่นายเวรประจำตัว ผบ.ตร.ให้เป็นนายเวร สบ 5 เทียบ รอง ผบก.จำนวน 1 ตำแหน่ง วาระปรับปรุงแก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนการบริหารกองทุนเพื่อการสืบสวนและสอบสวน คดีอาญาว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินกองทุนเพื่อสนับสนุนการปฎิบัติงานของข้าราชการตำรวจในการทำหน้าที่เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา แต่กลับไม่มีการบรรจุวาระกำหนดตำแหน่งเพื่อเยียวยาให้ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น.ตามคำสั่งศาลปกครอง ที่ ก.ตร.มีมติเห็นชอบและเสนอในการประชุมครั้งนี้แต่อย่างใด
เหตุผลน่าจะมาจากกรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีต ผบ.ตร.ได้ร้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองกลาง และศาลมีคำสั่งว่า “ในขณะนี้คดียังไม่ถึงที่สุดและด้วยผลของกฎหมาย ศาลจึงยังไม่อาจรับรองคดีถึงที่สุดให้แก่ผู้ฟ้องได้” สำหรับรายละเอียดทุกแง่มุมในคำร้อง มีดังต่อไปนี้
“3 สิงหาคม 2558
เรื่อง การกำหนดตำแหน่งเพื่อเยียวยาให้แก่ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
กราบเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี/ประธาน ก.ต.ช.
สิ่งที่ส่งมาด้วย สำเนาคำสั่งศาลปกครองกลางลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 ที่ยกคำร้องขอให้ระงับการออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดไว้ก่อน จำนวน 3 แผ่น (ข้อความหน้าที่ 1) เนื่องเพราะข้อจำกัดจำนวนตัวหนังสือ
ต่อมาวันที่ 6 กรกฎาคม 2558 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อ้างตนว่าเป็นประธาน ก.ตร. สั่งเลขานุการ ก.ตร.ให้นำเรื่องเข้าที่ประชุม ก.ตร.ใหม่ในวันนั้น ทั้งๆที่ไม่มีข้อเท็จจริงหรือหลักฐานใหม่เพิ่มเติมแต่อย่างใด อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ ก.ตร.ก็ไม่กล้าปฏิเสธจึงต้องรีบจัดการประชุมครั้งที่ 10/2558 ในวันนั้นทันที แล้วมีมติใหม่เปลี่ยนจากต้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุดทุกคดี เป็นไม่อุทธรณ์
เมื่อ ก.ตร.มีมติไม่อุทธรณ์คำพิพากษาคดีดังกล่าว ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 ก.ตร.ในการประชุมครั้งที่ 12/2558 จึงมีมติแต่งตั้ง พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 และกำหนดตำแหน่งผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขึ้นใหม่ เพื่อเยียวยาให้แก่ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ตามคำพิพากษา การกำหนดตำแหน่งดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ต.ช.ก่อน ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 45 วรรคสอง โดยเมื่อ ก.ต.ช.มีมติให้ความเห็นชอบแล้ว ก.ตร.ก็จะได้พิจารณาแต่งตั้ง พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ดำรงตำแหน่งที่กำหนดขึ้นใหม่ หลังจากนั้นก็จะต้องนำเสนอ ฯพณฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 53(2) ต่อไป
กรณีดังกล่าวข้างต้น หากพิจารณาข้อเท็จจริงมาโดยตลอดแล้วจะเห็นได้ว่า เมื่อศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาคดีดังกล่าวในวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ก.ตร.(ผู้ถูกฟ้องคดี) จะต้องอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดทันที ซึ่งเป็นไปตามมติ ก.ตร.ในการประชุมครั้งที่ 15/2552 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2552 โดยไม่จำเป็นต้องให้ ก.ตร.พิจารณาอีก แต่สำหรับคดีนี้กลับปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในวันรุ่งขึ้น ก.ตร.ในการประชุมครั้งที่ 7/2558 ได้นำมติดังกล่าวมาพิจารณาทบทวนทันที เพื่อเปิดช่องทางให้ไม่ต้องอุทธรณ์คำพิพากษา อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล เป็นการเฉพาะตัว โดยมีมติใหม่จากที่ต้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นทุกคดี เป็นหากเห็นว่าไม่สมควรอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นให้นำเสนอ ก.ตร.พิจารณา ซึ่งหมายความว่ามติใหม่เป็นการเปิดโอกาสให้ ก.ตร.เลือกปฏิบัติ โดยใช้ดุลยพินิจที่จะพิจารณาให้อุทธรณ์คดีใดหรือไม่อย่างไรก็ได้
อันเป็นมติที่เลื่อนลอย ขาดหลักการ และมาตรฐานแห่งความยุติธรรม และไม่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เมื่อ ก.ตร.มีมติดังกล่าว วันที่ 25 มิถุนายน 2558 ก.ตร.ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาว่า ...จะอุทธรณ์คำพิพากษาคดีดังกล่าวหรือไม่ โดยการลงคะแนนลับ ปรากฏว่าที่ประชุมมีมติให้อุทธรณ์ ผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ/เลขานุการ ก.ตร. จึงได้แจ้งมติให้อุทธรณ์คำพิพากษาต่ออธิบดีอัยการ สำนักคดีปกครอง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งถือได้ว่าการพิจารณาของ ก.ตร. เป็นที่ยุติเสร็จสิ้นแล้ว หาก พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว ก็จะต้องฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้พิจารณาพิพากษาอันเป็นกระบวนการที่ชอบและเป็นไปตามกฎหมาย ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
แต่ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล กลับกระทำการนอกเหนือกฎหมาย อาศัยความเป็นพวกพ้องและใช้ช่องทางที่ไม่ถูกต้อง โดยรายงาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งมิใช่ประธาน ก.ตร. ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 88/2557 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 เพื่อที่จะแก้ไขมติ ก.ตร. ดังกล่าว เป็นไม่อุทธรณ์ให้ได้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงสนองรับโดยเร่งรีบสั่งให้ ก.ตร. จัดการประชุมใหม่ทันที ในวันเดียวกันนั้น ก.ตร.ได้ประชุมและมีมติเปลี่ยนจากให้อุทธรณ์คำพิพากษาเป็นไม่อุทธรณ์ ทั้งๆที่ได้แจ้งมติอุทธรณ์ให้อธิบดีอัยการ สำนักคดีปกครองทราบแล้ว
การกระทำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ ก.ตร. จึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 88/2557 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 มาตรา 30 (1) พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 11(2),มาตรา 31(8) กฎ ก.ตร. ระเบียบ และคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติกรณีข้าราชการตำรวจไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชา พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 80 ข้อบังคับ ก.ตร.ว่าด้วยการประชุมและการลงมติของ ก.ตร. และอนุ ก.ตร. พ.ศ. 2547 ข้อ 6 ข้อ 10 และข้อ 11 ทั้งเป็นการกระทำความผิดกฎหมายอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ทำให้ข้าฯ ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาและมติ ก.ตร.ดังกล่าว และสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับความเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 84 ฯลฯ อีกด้วย
สำหรับการพิจารณาเยียวยาแก่ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ก.ตร.ในการประชุมครั้งที่ 12/2558 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 มีมติให้ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 และอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 และมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 กำหนดตำแหน่งผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อรองรับการแต่งตั้ง พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางดังกล่าว สำหรับประเด็นนี้ จึงขอกราบเรียน ฯพณฯ ว่า พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ มาตรา 44 วรรคสาม บัญญัติว่า “การกำหนดตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นให้มีเฉพาะที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เกิดประสิทธิภาพและประหยัดและเมื่อหมดความจำเป็นตามที่กำหนดไว้ในกฎ ก.ตร.แล้ว ให้ยุบตำแหน่งนั้น” ส่วนมาตรา 45 บัญญัติว่า “ในส่วนราชการต่างๆของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะให้มีตำแหน่งข้าราชการตำรวจตำแหน่งใด จำนวนเท่าใด และคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งอย่างใด...........ให้เป็นไปตามที่ ก.ตร. กำหนด โดยให้คำนึงลักษณะหน้าที่ความรับผิดชอบ ปริมาณและคุณภาพของงาน รวมทั้งความมีประสิทธิภาพและการประหยัด”
เมื่อพิจารณาการกำหนดตำแหน่งเพื่อแต่งตั้ง พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่ไม่อำนาจ ทั้งยังขัดต่อเจตนารมย์ของมาตรา 44 และมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯดังกล่าวอีกด้วย เนื่องจากการที่ ก.ตร.จะมีอำนาจกำหนดตำแหน่งต่างๆได้นั้น ก.ตร.จะต้องดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขตลอดจนองค์ประกอบของข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้นด้วย ไม่สามารถกำหนดตำแหน่งได้ตามอำเภอใจ กล่าวคือ ก.ตร.จะต้องคำนึงถึงลักษณะหน้าที่ความรับผิดชอบ ปริมาณและคุณภาพของงาน ความมีประสิทธิและการประหยัด ซึ่งจะต้องกระทำเฉพาะที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานให้เกิดประสิทธิภาพและประหยัด ทั้งนี้ ภายใต้กรอบกฎหมายดังกล่าว ซึ่งหมายความว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องมีเนื้องานที่มีความจำเป็นจะต้องปฏิบัติปริมาณมากพอ เพื่อให้ภารกิจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย แต่เนื่องจากยังขาดตำแหน่งและข้าราชการตำรวจเพื่อปฏิบัติงานดังกล่าว จึงจำเป็นจะต้องกำหนดตำแหน่งขึ้นมาด้วยจำนวนอันจำกัด เพื่อปฏิบัติงานนั้นให้บรรลุวัตถุประสงค์ แล้วจึงแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่มีคุณวุฒิและคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่กำหนดขึ้น
แต่สำหรับการกำหนดตำแหน่งเพื่อแต่งตั้ง พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ในครั้งนี้ เป็นการเยียวยาตามคำสั่งศาลปกครองกลางคดีดังกล่าวเท่านั้น มิใช่กรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีเนื้องานที่มีความจำเป็นจะต้องปฏิบัติเพื่อให้ภารกิจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายแต่อย่างใด ทั้งยังมีข้าราชการตำรวจอื่นที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ซึ่งมิใช่คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นเช่นนี้ รอรับการเยียวยาก่อนหน้า พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล อีกจำนวนมาก แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกลับปล่อยปะละเลยถือว่าธุระไม่ใช่เลือกปฏิบัติไม่ดำเนินการเยียวยา โดยเลือกที่จะทำการเยียวยาให้แก่ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล เป็นลำดับแรก ทั้งๆที่เมื่อมีคำพิพากษาศาลปกครองกลางในวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ก.ตร. ถึงขนาดนำมติในการประชุมครั้งที่ 15/2552 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2552 มาทบทวน แล้วมีมติใหม่ดังกล่าว โดยมิได้คำนึงถึงจิตใจข้าราชการตำรวจอื่นที่รอรับการเยียวยาจำนวนมากอยู่ก่อนเลย อันเป็นการเลือกปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ การกระทำลักษณะเช่นนี้ยิ่งทำให้เห็นถึงการเล่นพรรคเล่นพวกกัน โดยหากเป็นพวกที่มีความสนิทสนมใกล้ชิดกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้วก็จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษมากกว่าข้าราชการตำรวจอื่นในทุกเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นและตำแหน่งสำคัญๆ
และนอกจากจะไม่ยอมอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุดตามกระบวนการของกฎหมาย และหลักการที่วางไว้เป็นบรรทัดฐานในทุกกรณีแล้ว ยังจะได้รับโอกาสเยียวยาก่อนข้าราชการตำรวจอื่นที่ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาพิพากษาจนคดีถึงที่สุดแล้วเสียอีก
การจะเยียวยาให้แก่ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ดังกล่าว จึงก่อให้เกิดความแตกแยกทั้งความรักความสามัคคีในหมู่ข้าราชการตำรวจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการเล่นพรรคเล่นพวกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ฯพณฯ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการตำรวจตามกฎหมาย แต่หากไม่มีความสามารถพอที่จะปกครองเขาเหล่านั้นให้บังเกิดความยุติธรรมได้แล้ว ฯพณฯ จะปกครองประชาชนให้รักและสามัคคีปรองดองกันเพื่อคืนความสุขให้แก่คนในชาติได้อย่างไร หาก ฯพณฯ คิดจะเยียวยาให้แก่ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล โดยไม่ต้องฝ่าฝืนพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ มาตรา 44 และมาตรา 45 ดังกล่าว ข้าฯก็ขออนุญาตแนะนำว่าเดือนนี้คือเดือนสิงหาคมแล้ว ฯพณฯ ก็จะต้องแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ หลังจากนั้นก็จะต้องแต่งตั้งจเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถึงผู้บัญชาการอยู่แล้ว เมื่อมีตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่างลง เนื่องจากมีผู้ที่เลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือเกษียณอายุ ฯพณฯ ก็สามารถเยียวยาให้แก่ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ได้ โดยไม่ต้องกำหนดตำแหน่งขึ้นใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ มาตรา 44 และมาตรา 45 ดังกล่าว อันอาจเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 84 ได้ ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถึงผู้บัญชาการ ฯพณฯ จะต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 53(2)
ฉะนั้น จากข้อเท็จจริงต่างๆ ดังที่ได้กราบเรียนมาให้ ฯพณฯ ทราบในเบื้องต้นทั้งหมด จะเห็นได้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย กฎ ระเบียบ และคำสั่งของทางราชการมาโดยตลอด หาก ฯพณฯ และกรรมการ ก.ต.ช.ได้ให้ความเห็นชอบการกำหนดตำแหน่งผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ เพื่อให้ ก.ตร. พิจารณาเห็นชอบแต่งตั้งเพื่อเป็นการเยียวยาให้แก่ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล นอกจากจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ยังอาจเป็นการกระทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทฯ อีกด้วย.”
มีรายงานด้วยว่า จากปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ข้าราชการตำรวจภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกลุ่มผู้สื่อข่าวต่างจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณืกันไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะประเด็นที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีต ผบ.ตร.ฉวยจังหวะเข้าด้ายเข้าเข็มนำคำสั่งศาลปกครองกลางมาแย้งการพิจารณาเยียวยาพล.ต.ท.ศรีวราห์ อาจจะกระทบไปถึงตำแหน่ง ผบ.ตร.ที่กำลังแข่งขันกันอย่างถึงพริกถึงขิงระหว่างพล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ กับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ด้วย แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.แต่เพียงผู้เดียวที่จะตัดสินใจ