xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ยุติธรรม จับมือประเทศสมาชิกอาเซียน หารือการบังคับคดีแพ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


“บิ๊กต๊อก” เปิดประชุมนานาชาติ “การบังคับคดีแพ่งในบริบทของการผนวกรวมทางเศรษฐกิจที่เป็นพลวัต” เชื่อรัฐบาลชุดนี้แก้ปัญหาให้ประชาชนได้มากกว่ารัฐบาลอื่น

วันนี้ (27 ก.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพมหานคร พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการบังคับคดีแพ่งกับประเทศสมาชิกอาเซียน สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี และหน่วยงาน หรือองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก สภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ ในหัวข้อ “การบังคับคดีแพ่งในบริบทของการผนวกรวมทางเศรษฐกิจที่เป็นพลวัต” โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 350 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียน จีน เกาหลี ผู้บริหารด้านกระบวนการยุติธรรม นักวิชาการจากภาครัฐและเอกชน และ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เป็นผู้กล่าวรายงาน

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ตนเฝ้าดูประเทศที่ประสบความสำเร็จ พร้อมตั้งคำถามว่าทำไมประเทศไทยยังไม่พัฒนา และยอมรับว่า ประเทศสิงคโปร์เป็นต้นแบบหลายเรื่อง ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้ปกครองแบบปกติ ซึ่งขณะที่นายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ ได้มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาหลายด้าน ส่วนหนึ่งคือ กระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เอื้อต่อธุรกิจ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีแรงงานในธุรกิจ SME จำนวน 10 - 11 ล้านคน และร้อยละ 37.4 ของ GDP เกิดจากธุรกิจ SME ซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่ประมาณ 7,000 กิจการ มีแรงงานประมาณ 2 ล้านคน แสดงว่า SME คือ รากหญ้าที่ต้องดำเนินการแก้ไข แต่ SME เป็นจุดอ่อนที่กฎหมายไม่เอื้อ โดยวันนี้เราแก้กฎหมายล้มละลายให้เขาสามารถฟื้นฟูได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ เงินทุนในระบบ เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มที่เข้าไปหาเงินทุนนอกระบบมาก

รมว.ยุติธรรม กล่าวต่อว่า ในส่วนของการแข่งขันภายนอกประเทศ ที่มีการจัดลำดับของธนาคารโลกนั้น เราได้แก้กฎหมายหลายฉบับแล้ว อาทิ กฎหมายฟื้นฟู กฎหมายล้มละลาย แต่ไม่สามารถแก้ทั้งระบบได้ เพราะต้องดูบริบทของประเทศไทย ทั้งนี้ เราทราบดีว่าต่างประเทศยังไม่มั่นใจในประเทศไทยในการบังคับคดี เนื่องจากมีความล่าช้า และการล่าช้าคือการไม่ยุติธรรม ทั้งนี้ รัฐบาลปัจจุบันไม่ได้มาในระบบประชาธิปไตย แต่ตนเชื่อว่า รัฐบาลชุดนี้แก้ไขปัญหาได้มากกว่ารัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย

“ผมแก้ทุกเรื่องที่เป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชน ซึ่งการแก้กฎหมายหลายเรื่อง ไม่ใช่เรื่องง่าย และกฎหมายหลายฉบับไปกระทบหลาย ๆ องค์กร และแต่ละองค์กรก็จะมีความเป็นตัวตนขององค์กรนั้น ๆ ไม่คำนึงถึงผลแระโยชน์ของชาติ จึงต้องใช้อำนาจนี้แก้ไข แต่จริงแล้วมันเป็นประโยชน์กับบ้านเมือง” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า อีกเรื่องที่พยายามทำ คือ การแยกการบริหารระบบกฎหมายออกจากศาลยุติธรรม แต่ไม่ได้ก้าวก่ายกระบวนการตัดสิน กระบวนการสอบสวน เช่น การบังคับคดี ที่เราไม่สามารถบังคับคดีนอกพื้นที่เขตศาลได้เลย และมันถึงเวลาแยก เพื่อให้การทำงานของฝ่ายบริหารกว้างขวางขึ้นไม่ยึดติดเขตศาล ยกตัวอย่างคดีการบังคับคดีที่จังหวัดเชียงใหม่ ควรจะทำให้จังหวัดนราธิวาส หรือจังหวัดอื่นมีส่วนร่วม มีการประมูล การจัดการได้

ด้าน น.ส.รื่นวดี กล่าวว่า การประชุมนานาชาติดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 - 29 ก.ค. 2558 โดยเป็นการประชุมหารือระหว่างผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านการบังคับคดีแพ่งของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับกฎหมาย กฎ ระเบียบ และระบบ รวมถึงแนวทางปฏิบัติที่ดีด้านการบังคับคดีแพ่ง นอกจากนี้ ยังเป็นการเสริมสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ซึ่งการประชุมในวันนี้ Dr.Heike Gramckow รักษาการผู้อำนวยการและที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานกระบวนการยุติธรรม สิทธิ และความมั่นคงสาธารณะ จากธนาคารโลก เป็นองค์ปาฐกกล่าวบรรยายในหัวข้อ “กรมบังคับคดีแพ่งและหลักนิติธรรม” การบังคับคดีแพ่งที่มีประสิทธิภาพและบทบาทของเจ้าพนักงานบังคับคดี ภายใต้โลกาภิวัตน์และการรวมตัวทางเศษฐกิจ

อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวต่อว่า ในการประชุมดังกล่าวได้เชิญผู้บริหารและผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ จีน และ เกาหลี ร่วมเป็นวิทยากร ในหัวข้อการประชุมดังนี้ 1. บทบาทของศาลแพ่งและพาณิชย์ เจ้าพนักงานบังคับคดี และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางเลือก ในบริบทของการผนวกรวมทางเศรษฐกิจของภูมิภาค 2. ศาลและการบังคับคดีอิเล็กทรอนิกส์ และ 3. ยุทธศาสตร์การขายทอดตลาดที่มีประสิทธิภาพ





กำลังโหลดความคิดเห็น