ศาลนัดฟังคำสั่งคดี “กองทัพบก” ฟ้องหมิ่น “ทักษิณ” พาดพิงทหารยึดอำนาจ 28 ส.ค.นี้ หลัง ผอ.พระธรรมนูญ ทหารบก เบิกความไต่สวนมูลฟ้องระบุ คำให้สัมภาษณ์กระทบกองทัพบก ยันไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่เพราะสังคมขัดแย้งรุนแรงมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
วันนี้ (20 ก.ค.) ที่ห้องพิจารณา 902 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ครั้งแรก คดีหมายเลขดำ อ.1824/2558 ที่กองทัพบก มอบอำนาจให้ พล.ต.ศรายุทธ กลิ่นมาหอม ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญ ทหารบก เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328
โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 26 พ.ค.2558 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 19-22 พ.ค. 2558 จำเลยได้ใส่ความโจทก์ว่าเป็นบุคคลน่ารังเกียจ เป็นอันตรายต่อประเทศชาติ และเป็นบุคคลที่ทำความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ ซึ่งไม่ใช่ความจริง โดยจำเลยได้ให้สัมภาษณ์ถึงการเมืองในประเทศไทยที่มีการเผยแพร่ผ่านยูทิวบ์ และสื่อออนไลน์ การกระทำนั้นส่งผลให้ให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง
โดย พล.ต.ศรายุทธ กลิ่นมาหอม ผอ.สำนักงานพระธรรมนูญ ทหารบก ผู้รับมอบอำนาจจากกองทัพบก โจทก์ เดินทางมาเบิกความด้วยตนเอง พร้อมยื่นแผ่นซีดีและคำถอดเทปการสัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ วันที่ 22 พ.ค. 2558 ส่งศาลด้วย ซึ่งพล.ต.ศรายุทธ เบิกความสรุปว่า ระหว่างวันที่ 19-22 พ.ค. 2558 พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยได้ให้สัมภาษณ์จากประเทศเกาหลีใต้ เกี่ยวกับการยึดอำนาจกระทบต่อองคมนตรี และทหารที่หมายถึงกองทัพบก รวมทั้งกล่าวหาว่าโจทก์ชื่นชอบประชาธิปไตยแบบประเทศพม่า ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การให้สัมภาษณ์อยู่ในบรรยากาศที่เป็นห้องส่วนตัว แต่ไม่ทราบว่ามีบุคคลอื่นอยู่ด้วยหรือไม่ โดยเนื้อหาการสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งในวันที่ 22 พ.ค. 2558 มีการพูดการยึดอำนาจ องคมนตรี และทหาร ซึ่งการยึดอำนาจที่ผ่านมา กองทัพบกเป็นผู้ริเริ่มจริง แต่ไม่ได้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้อง แต่เพราะก่อนหน้านั้นเกิดความขัดแย้งของหลายฝ่ายจนหาทางออกไม่ได้และมีการใช้อาวุธสงครามจนมีผู้บาดเจ็บเสียชีวิต ที่จะกระทบต่อความมั่นคง สังคม เศรษฐกิจ กองทัพบก จึงต้องสร้างความสงบสุข และป้องกันเหตุการณ์ไม่ให้เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศ ขณะที่การยึดอำนาจไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ เพราะเท่าที่ทราบประชาชน 80-90% และนักวิชาการส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย ก็มีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยแต่ก็มีจำนวนน้อย ขณะที่การยึดอำนาจนั้นไม่ได้มีผู้ใดสั่งการ ไม่ว่าจะเป็นองคมนตรีหรือกระบวนการในวัง และโจทก์ ไม่เคยมีแนวคิดเป็นเผด็จการเหมือนประเทศพม่า ตามที่จำเลยสัมภาษณ์
ทั้งนี้ พล.ต.ศรายุทธยังตอบการซักค้านของทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณด้วยว่า การชุมนุมของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และกลุ่ม กปปส.ไม่ได้เรียกร้องให้มีการยึดอำนาจ แต่เป็นการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะนั้นลาออก โดยการยึดอำนาจไม่ได้ทำให้ฝ่ายบริหารและสภาเสียหาย แต่การยึดอำนาจสืบเนื่องจากที่ฝ่ายบริหารทำให้เกิดความเสียหาย ส่วนที่ผ่านมาประชาชนไม่สามารถออกมาชุมนุมก็เนื่องมาจากมีกฎอัยการศึก แต่ก็เพราะก่อนหน้าที่จะมีการยึดอำนาจเคยเกิดการชุมนุมจนไม่สามารถจัดการได้ จึงต้องใช้กฎอัยการศึกควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย ส่วนถ้อยคำสัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ส่วนหนึ่งก็ทราบมาจากเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อหยุดดัดจริตประเทศไทย แต่การโพสต์ลงสื่อโซเชียลฯ ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นใคร
ภายหลัง พล.ต.ศรายุทธเบิกความเสร็จสิ้นแล้ว อัยการแถลงหมดโจทก์ที่จะนำมาไต่สวนมูลฟ้องอีก ดังนั้นศาลจึงนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องคดีนี้หรือไม่ ในวันที่ 28 ส.ค.นี้ เวลา 09.00 น.
ต่อมา พล.ต.ศรายุทธ กลิ่นมาหอม ผอ.สำนักงานพระธรรมนูญ ทหารบก เปิดเผยว่า เดินทางมาเป็นพยานไต่สวนมูลฟ้อง ได้กล่าวถึงถ้อยคำตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์ ทั้งนี้ หากภายหลังศาลมีคำสั่งรับฟ้องแล้ว เรื่องการติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณดำเนินคดีก็คงเป็นกระบวนการในชั้นศาล
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) มีการดำเนินคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดดูหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯนั้นทางกองทัพบกจะพิจารณาฟ้องเองต่อศาลโดยตรงด้วยหรือไม่ พล.ต.ศรายุทธกล่าวว่า ทางกองทัพบกจะมีการฟ้องในส่วนที่มีการพาดพิงถึงหน่วยงานเท่านั้น ส่วนเรื่องคดี 112 ให้เป็นหน้าที่ของ ปอท.
ด้าน นายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงความคืบหน้าหลังจากที่นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพนักงานสอบสวนในคดี ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กระทำความฐานดูหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในเหตุการณ์เดียวกันว่า เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมาอัยการสูงสุดได้มีการแต่งตั้งผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นเจ้าพนักงานผู้สอบสวนคดีนี้โดยมีพนักงานอัยการสำนักงานการสอบสวนเข้าร่วมในทีมสอบสวนด้วย ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนของคณะทำงานก่อนส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งคดี โดยในคดีนี้ทางอัยการสูงสุดไม่ได้มีการกำชับในเรื่องระยะเวลาการสอบสวนกับคณะทำงานแต่อย่างใด เนื่องจากต้องให้เป็นความอิสระแก่พนักงานสอบสวนซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งขึ้นอยู่กับการรวบรวมพยานหลักฐานในการทำสำนวนของคณะทำงาน