xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กต๊อก” เปิดโครงการรัฐ-ราษฎร์ร่วมใจแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน เผย 67% เป็นปัญหาเด็กนอกสถานศึกษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


“พล.อ.ไพบูลย์” เปิดโครงการรัฐ-ราษฎร์ร่วมใจแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน เผย 67 เปอร์เซ็นต์ของปัญหาเป็นเด็กนอกสถานศึกษา พร้อมประสาน “พม.-มท.” จัดทำฐานข้อมูล



วันนี้ (15 ก.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่โรงแรมเซ็นทราคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดโครงการรัฐ-ราษฎร์ร่วมใจแก้ป้ญหาเด็กและเยาวชน และนำการเสวนาในห้วข้อ “การบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน” โดยมีนายชาญเชาว์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายวีระยุทธ สุขเจริญ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ให้การต้อนรับ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน อาทิ กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กรมราชทัณฑ์ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา และมูลนิธิสายเด็ก 1387

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ทางกรมพินิจฯ เป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้ ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อรับฟังข้อเสนอการดำเนินงานในมุมมองของหน่วยงานที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน ซึ่งมุ่งหวังให้เกิดการประสานงาน และการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายผู้ทำงานด้านเด็กและเยาวชนแบบบูรณาการและยั่งยืน ซึ่งกรมพินิจฯเป็นหน่วยงานปลายทางในการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม โดยในครั้งนี้ตนได้ฝากให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) ไปจัดทำฐานข้อมูลของเด็กและเยาวชนที่อยู่นอกสถานศึกษา โดยมีกำหนดระยะเวลาในการจัดทำฐานข้อมูลดังกล่าว 180 วัน

สำหรับการจัดทำฐานข้อมูลดังกล่าว สืบเนื่องจากการที่เราดูแลรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาเยาวชนแข่งรถในทางสาธารณะ และสถานบันเทิงใกล้สถานศึกษา ซึ่งพบว่า เยาวชนนอกสถานการศึกษามักเป็นเยาวชนที่มีปัญหาเรื่องยาเสพติด และเรื่องการแข่งรถหรือเด็กแว้น โดยกรมพินิจฯ ตรวจสอบพบว่าเยาวชนนอกสถานศึกษามีปัญหามากที่สุด คือ ปัญหาเด็กแว้น ร้อยละ 67 แต่ในภาพรวมของปัญหาระดับประเทศที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ร้อยละ 75 ซึ่งเป็นเด็กนอกสถานศึกษา

ทั้งนี้ ในส่วนของเด็กในสถานศึกษานั้นเราสามารถตรวจสอบได้ตามโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เพราะจะมีการจัดทำรายชื่ออย่างเป็นระบบ แต่เด็กนอกสถานศึกษาเป็นเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ซึ่งอาจจะออกมาประกอบอาชีพด้วยตัวเอง หรือเป็นบุคคลพลัดถิ่น ส่วนใหญ่ไม่มีฐานข้อมูล และที่ประชุมได้มีความเห็นว่า พม.กับมท.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลในระดับชุมชนหรือหมู่บ้าน ให้ทำการรวบรวมรายชื่อเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง และนำไปสู่การจัดหางาน และการศึกษา

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวต่อว่า การจัดทำฐานข้อมูลดังกล่าวจะรวมไปถึงเด็กต่างด้าวและต่างชาติที่เข้ามาเกิดปัญหาในประเทศไทย โดยให้แยกเป็นบัญชีว่าเป็นเด็กนอกประเทศ ในประเทศ เด็กต่างด้าว หรือเด็กนอกสถานศึกษา รวมถึงกลุ่มกระทำความผิดซึ่งจะทำให้เห็นภาพการแก้ไขปัญหาทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังได้เสนอมาตรการที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้แก่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งยังมีอีก 3-4 ประเด็นที่จะต้องนำกลับมาแก้ไขด้วยระบบราชการ โดยนายกรัฐมนตรีจะออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้แต่ละกระทรวงรับไปดำเนินการ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับหลายกระทรวง อีกทั้งสิ่งที่เสนอคือมาตรการที่จะขอมติ ครม.เพื่อให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วให้สามารถทำงานสอดคล้องเพิ่มเติม รวมถึงแก้ไขปัญหาตามกฎหมายที่มีบังคับใช้อยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น