ศาลล้มละลายกลางนัดฟังคำสั่ง หลังรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ 20 มี.ค. ขณะที่กรมบังคับคดีเผยเป็นกรณีแรก ที่มีเจ้าหนี้มากกว่า 56,000 ราย ทุนทรัพย์กว่า 21,000 ล้าน ระบุหากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูพร้อมตั้งผู้ทำแผน สามารถเห็นแผนฟื้นฟูภายใน 5 เดือน
วันนี้ (16 มี.ค.) ที่กระทรวงยุติธรรม เมื่อเวลา 10.30 น. นายชาญเชาว์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะโฆษกประจำกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 3 ดีเอสไอ และนางเพ็ญรวี มาแสง นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี ร่วมแถลงความคืบการดำเนินคดีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด กับพวก ที่ร่วมกันยักยอกและฉ้อโกงเงินสหกรณ์ มูลค่าความเสียหายกว่า 13,000 ล้านบาท
พ.ต.ท.สมบูรณ์กล่าวว่า กรณีนี้หากผู้ที่รับเงินจากผู้ต้องหามีการคืนเงินให้แก่สหกรณ์ ก็ต้องมาดูลักษณะคดีว่าเป็นยักยอกทรัพย์ที่สามารถยอมความได้ หรือเป็นคดีที่อยู่ในมูลฐานความผิดฉ้อโกงประชาชนซึ่งเป็นความผิดอาญาไม่สามารถยอมความได้ ทั้งนี้ การกระทำผิดก็ขึ้นอยู่กับเจตนาด้วย สำหรับการดำเนินการของดีเอสไอในสัปดาห์นี้ จะมีการสอบปากคำเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ฯ ในประเด็นระเบียบการจัดตั้ง การบริหารสหกรณ์ และมติที่ประชุมต่างๆ รวมทั้งมีการสอบปากคำนิติบุคลที่มีรายชื่อรับเช็คอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ลงพื้นที่ภาคอีสาน เพื่อหาข้อมูล หลักฐานเกี่ยวข้องกับนายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ ซึ่งเป็นผู้มีรายชื่อรับเช็คจากนายศุภชัย ช่วงปี 2552-2555 จำนวน 45 ฉบับ เป็นเงิน 1,182 ล้านบาท เบื้องต้นได้รับรายงานว่านายวัฒน์ชานนท์ใช้ชื่อบุคคลอื่นในการครอบครองทรัพย์สิน
ด้านนางเพ็ญรวีกล่าวว่า ภายหลังที่ ปปง.ยึดทรัพย์ผู้กระทำผิดได้ 3,793 ล้านบาทนั้น ประธานสหกรณ์ฯ ชุดที่ 30 ได้ยื่นฟ้องศาลในคดีแพ่งฐานละเมิดเรียกเอาทรัพย์คืน ซึ่งศาลแพ่งได้สั่งคุ้มครองชั่วคราว นอกจากนี้ ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด และทำการไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว โดยในวันที่ 20 มี.ค.นี้ เวลา ประมาณ 09.00 น. ศาลนัดฟังคำสั่ง ทั้งนี้ กรมบังคับคดีได้มีแนวทาง 3 แนวทางในการเตรียมการเบื้องต้น ดังนี้
1. กรณีที่ศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะประกาศคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน ระหว่างนี้เจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือน โดยหลังจากนี้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผน สามารถตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายอื่นๆ ภายใน 14 วัน ทั้งนี้แผนฟื้นฟูกิจการ ผู้ทำแผนจะต้องส่งแผนให้สำนักงานฟื้นฟูกิจการ กรมบังคับคดี ภายใน 3 เดือน และสามารถขยายเวลาในการส่งแผนได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 เดือน จากนั้นจะมีการนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน แล้วจึงรายงานให้ศาลพิจารณาต่อไป
2. กรณีศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแต่ยังไม่ได้ตั้งผู้ทำแผน สำนักงานฟื้นฟูกิจการ กรมบังคับคดี จะประกาศนัดประชุมเจ้าหนี้ เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทำแผน จากนั้นรายงานผลประชุมให้ศาลทราบ และเมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้วให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เช่นเดียวกับกรณีแรก และ 3. กรณีที่ศาลสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ โดยผลของคำสั่งนี้ เจ้าหนี้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น สามารถดำเนินการฟ้องร้อง ทั้งคดีแพ่งและคดีล้มละลายต่อไปได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทุนทรัพย์ในการยื่นขอฟื้นฟูกิจการนี้ประมาณ 21,000 กว่าล้านบาทซึ่งระยะเวลาเบื้องต้นหากศาลมีคำสั่งแล้ว 5 เดือนก็จะเห็นแผนในการฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้ ในส่วนของดอกเบี้ยจะมีการคิดถึงวันที่ศาลมีคำสั่งฟื้นฟู หรือจนกว่าจะมีการชำระหนี้แล้วเสร็จ สำหรับเคสสหกรณ์ฯนี้เป็นกรณีแรกที่มีจำนวนเจ้าหนี้มากกว่า56,000 ราย