ตำรวจหอบสำนวนแชร์ลูกโซ่ยูฟัน 30 แฟ้ม พร้อมความเห็นสมควรฟ้อง 164 ผู้ต้องหา ให้พนักงานอัยการคดีอาญาสั่งคดี พร้อมนัดให้มารายงานตัวอีกครั้ง 3 ก.ค. นี้
เมื่อเวลา 16.00 น. วันนี้ (26 มิ.ย.) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก พล.ต.ท.สุวิระ ทรงเมตตา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) พร้อมคณะพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) นำสำนวนคดีแชร์ลูกโซ่ บริษัท ยูฟันสโตร์ จำกัด จำนวน 30 แฟ้ม พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 164 คน มาส่งมอบให้กับนายพรศักดิ์ ศรีณรงค์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา พร้อมนำตัวผู้ต้องหาที่ได้รับการประกันในชั้นพนักงานสอบสวนรวม 17 คน มารายงานตัวต่ออัยการ เพื่อให้อัยการพิจารณาสั่งคดี
พล.ต.ท.สุวิระ กล่าวว่า คดีแชร์ยูฟันมีผู้ต้องหารวมทั้งหมด 164 คน เป็นบุคคล 160 ราย และเป็นนิติบุคคล 4 ราย ทางพนักงานสอบสวนได้มีความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด โดยสามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาได้แล้ว 30 ราย ในจำนวนนี้ได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน 17 ราย ถูกอายัดตัว 2 ราย ส่วนอีก 11 ราย ไม่ได้รับการประกันตัวและคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ในวันนี้จึงนำตัวผู้ต้องหาที่ได้รับการประกันตัวทั้งหมด 17 ราย มารายงานตัวต่ออัยการ ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดจะต้องยื่นประกันตัวในชั้นอัยการอีกครั้ง แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้คัดค้านการประกันตัว เนื่องจากไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ส่วนจะได้รับการปล่อยชั่วคราวหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับทางอัยการจะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งคดีนี้ทาง นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งรับเป็นคดีนอกราชอาณาจักรไว้ตามขั้นตอนแล้ว
พล.ต.ท.สุวิระ กล่าวอีกว่า คดีนี้มีพยานบุคคล พยานเอกสาร และพยานวัตถุเป็นจำนวนมาก มีการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหารวมทั้งหมด 6 ข้อหา ซึ่งผู้ต้องหาแต่ละคนจะทำสำนวนคดีแยกเป็นแฟ้มเพื่อยืนยันความอย่างไรบ้าง และมีการแจ้งข้อหาแตกต่างกันไปตามพฤติการณ์ของผู้ต้องหาแต่ละราย ซึ่งตนมั่นใจว่าสำนวนคดีมีหลักฐานแน่นหนาเพียงพอที่ทางอัยการจะมีความเห็นสั่งฟ้องได้ ส่วนผู้ต้องหาที่เหลืออีกกว่า 130 คน ซึ่งมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการติดตามตัวมาดำเนินคดีต่อไป และจะนำสำนวนคดีมาส่งมอบให้กับอัยการในภายหลัง ส่วนกลุ่มดารานักแสดงที่ทางพนักงานสอบสวนเรียกมาพบนั้นจากการสอบสวนพบว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด แต่ถูกแอบอ้างโดยมีการนำภาพถ่ายไปเผยแพร่ตามที่ต่างๆเพื่อเป็นการชักชวนหลอกลวงผู้เสียหายให้มาร่วมสมัครสมาชิก จึงไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหากับกลุ่มดารานักแสดงแต่อย่างใด เพียงแต่ทำการสอบปากคำไว้ในฐานะพยานเท่านั้นเพื่อยืนยันการกระทำความผิดของผู้ต้องหา ส่วนความผิดในคดียึดทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ นั้น ทางพนักงานสอบสวนจะดำเนินการควบคู่กันไป ซึ่งหากสำนวนคดีเสร็จสิ้นแล้วก็จะส่งให้กับอัยการพิจารณาต่อไป
ขณะที่ นายพรศักดิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา เปิดเผยว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่มีความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ทางอัยการสูงสุดจึงต้องเป็นผู้พิจารณาสั่งคดีด้วยตนเอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 ซึ่งหลังจากรับสำนวนมาจากพนักงานสอบสวนแล้ว ตนก็จะส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อให้พิจารณาต่อไป โดยคาดว่าจะพิจารณาได้ทันภายในกรอบระยะเวลาฝากขังผู้ต้องหา และหากมีประเด็นในยังไม่สมบูรณ์ก็อาจจะมีการสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม หากอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องคดีก็จะประสานให้ตำรวจติดตามตัวมาฟ้องคดีต่อไป ซึ่งคดีนี้ทางอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งรับเป็นคดีนอกราชอาณาจักรไว้แล้ว และได้มีการแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนโดยมอบหมายให้ พล.ต.ท.สุวิระ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน กระบวนการในการสอบสวนทำคดีจึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว หลังจากนี้จะส่งสำนวนคดีดังกล่าวให้อัยการสำนักงานคดีอัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาเพื่อทำความเห็น ก่อนจะส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุดพิจารณาชี้ขาดอีกครั้งว่าจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่
นายพรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวผู้ต้องหาทั้ง 17 รายนั้น ทางอัยการได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในชั้นอัยการ โดยตีราคาหลักทรัพย์เท่ากับหลักทรัพย์เดิมในชั้นสอบสวนคือเงินสดจำนวน 500,000 บาท เนื่องจากผู้ต้องหาทั้งหมดไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ และได้นัดให้ผู้ต้องหาทั้งหมดมารายงานตัวต่ออัยการอีกครั้งในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ส่วนผู้ต้องหาจะร้องขอความเป็นธรรมหรือไม่นั้น ก็สามารถกระทำได้ตามกฎหมาย แต่ทางอัยการสูงสุดจะเป็นผู้พิจารณา ถ้าหากประเด็นในการร้องขอความเป็นธรรมไม่ได้มีส่วนทำให้คดีเปลี่ยนแปลงก็คงไม่มีผลอะไร
ด้าน นายนที ธีระโรจนพงษ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง หนึ่งในผู้ต้องหาคดียูฟัน เปิดเผยว่า ตนได้ยื่นหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยชั่วคราวในชั้นอัยการเป็นเงินสดจำนวน 5แสนบาท ซึ่งทางอัยการได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ ส่วนเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศนั้น เป็นเงื่อนไขเดิมในชั้นสอบสวนอยู่แล้ว และตนคงต้องปฏิบัติตาม ก่อนหน้านี้ตนก็เคยได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการไปแล้วว่าไม่มีเจตนาในการกระทำผิดหลอกลวงฉ้อโกงใคร แต่ที่ถูกดึงเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดียูฟันเนื่องจากมีการนำแหวนและเครื่องประดับของตนไปแลกเปลี่ยนในระบบยูโทเคน ซึ่งในชั้นศาลตนจะแก้ต่างสู้คดีโดยพิสูจน์ว่าถูกหลอกลวงเหมือนกัน และไม่มีได้มีเจตนาฉ้อโกงประชาชน เป็นการกระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อย่างไรก็ตามทางอัยการได้นัดให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 3 ก.ค. นี้
ทั้งนี้ สำหรับความผิดที่ระบุไว้ในสำนวนมีทั้งสิ้น 6 ข้อหา ประกอบด้วย 1. ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 5 และ 12 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 5 - 10 ปี ปรับตั้งแต่ 5 แสน - 1ล้านบาท 2. ฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3. ฐานดำเนินธุรกิจไม่ตรงจุดประสงค์ในการขอจดทะเบียนชักชวนคนเข้าร่วมเครือข่ายและตกลงให้ผลตอบแทนจากการหาสมาชิก ตาม พ.ร.บ. ขายตรง และตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 19 และ 46 อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท 4. ฐานกำหนดหน่วยลงทุนคล้ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ E money หรือ E point โดยไม่จดแจ้งกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ตามประกาศ คณะปฎิวัติฉบับที่ 58 และประกาศกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2547 และ พ.ศ. 2553 อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
5. ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และ 6. ฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 อัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 4 - 15 ปี ปรับตั้งแต่ 8 หมื่น - 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ