ศาลฎีกาพิพากษายืนให้ยกฟ้อง “เทพไท เสนพงศ์” ไม่หมิ่น “ปลอดประสพ” ให้สัมภาษณ์เป็นคนระบอบทักษิณ ชี้วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม
วันนี้ (10 มิ.ย.) ที่ห้องพิจารณา 807 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.858/2553 ที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นโจทก์ฟ้องนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตโฆษกประจำตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กรณีนายเทพไทให้สัมภาษณ์ทำนองว่านายปลอดประสพเป็นคนในระบอบทักษิณ และเป็นพวกล้มเจ้า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2553
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าจำเลยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในเชิงตั้งคำถามว่าโจทก์เป็นคนในระบอบทักษิณเป็นพวกล้มเจ้าจริงหรือไม่ ซึ่งโจทก์เป็นนักการเมืองย่อมอยู่ในฐานะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้และจำเลยพูดในลักษณะตั้งคำถาม ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงและเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม เป็นการพูดในสิ่งที่ตนมีส่วนได้เสีย จึงไม่ถือเป็นการหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 (1) ต่อมาโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้วเห็นว่า ช่วงเกิดเหตุเป็นช่วงที่มีการขัดแย้งทางการเมืองสูง กลุ่ม นปช.ประท้วงขับไล่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ รวมทั้งมีการโจมตีสถาบันหรือเรียกขบวนการล้มเจ้า ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่จับกุมได้หลายราย
โดยจำเลยให้สัมภาษณ์ว่ากลุ่ม นปช.เกี่ยวข้องกับขบวนการล้มเจ้าซึ่งเป็นการพูดในทำนองสอดคล้องกับโจทก์ที่พูดว่าเป็นพรรคคอมมิวนิสต์หรือคนในระบบทักษิณ ซึ่งคำให้สัมภาษณ์ของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นเชิงตั้งคำถามต่อโจทก์ว่ากระบวนการล้มเจ้ามีจริงหรือไม่ โดยมีมูลเหตุมาจากคำให้สัมภาษณ์ของโจทก์ เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
ต่อมาโจทก์ยื่นฎีกาโดยให้อัยการโจทก์รับรองฎีกา ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วว่า ที่โจทก์ให้สัมภาษณ์ว่ามีการบริหารแบบพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งคนทั่วไปที่ฟังคำสัมภาษณ์ของโจทก์อาจเข้าใจได้ว่าพรรคเพื่อไทยมีบริหารพรรคแบบคอมมิวนิสต์ซึ่งจำเลยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในลักษณะที่คนทั่วไปสามารถจะตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
ภายหลัง นายเทพไทให้สัมภาษณ์ว่า คดีนี้ศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ซึ่งเห็นว่าได้ทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์การให้สัมภาษณ์ของนายปลอดประสพด้วยความสุจริต และเป็นการติชมในฐานะที่บุคคลทั่วไปสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ เห็นว่าคดีนี้มูลการฟ้องตั้งแต่ต้นก็แทบจะฟังไม่ขึ้นเลย และคดีควรจะยุติในชั้นอุทธรณ์ แต่ภายหลังโจทก์ได้ให้อัยการสูงสุดขณะนั้นรับรองฎีกา เห็นว่าตามกฎหมายแล้วสามารถทำได้ แต่คดีนี้นายปลอดประสพเป็นโจทก์ในฐานะส่วนบุคคล ซึ่งไม่ใช่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ อัยการสูงสุดจึงไม่ควรจะเซ็นรับรอง แต่เมื่อว่าเซ็นรับรองฎีกาไปแล้วก็เป็นเรื่องของสังคมที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวต่อไป