xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกาลดโทษ “ส.อ.-เมีย” วางระเบิดหวังฆ่าเศรษฐินีล้างหนี้ 3.8 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลฎีกาลดโทษจากจำคุกตลอดชีวิต เหลือติดคุก 33 ปี 4 เดือน อดีตทหารยศ ส.อ.และภรรยา ลอบต่อวงจรระเบิดเอ็ม 26 ใส่ท้ายรถเก๋งหวังลอบสังหารเศรษฐินี เพื่อล้างหนี้ 3.8 ล้าน

ที่ห้องพิจารณา 807 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (29 เม.ย.) เวลา 10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.2462/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 และนางสุดใจ เกษกาญจนานุช นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และค้าขายอัญมณี โจทก์ร่วม ยื่นฟ้อง ส.อ.ณรงค์ฤทธิ์ หรือเต้ย ดิษเจริญ อายุ 35 ปี อดีตทหารประจำการสังกัดกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ และ น.ส.เบญจทิพย์ หรืออ้อม เดโชชัย หรือดิษเจริญ อายุ 38 ปี เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน กระทำการให้เกิดการระเบิดจนเกิดอันตราย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 221, 222 และ พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490

คดีนี้โจทก์ฟ้องระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2552 จำเลยทั้งสองร่วมกันมีวัตถุระเบิดแสวงเครื่องที่นำเอาลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารแบบเอ็ม 26 มาเป็นวัตถุระเบิดหลัก โดยประกอบเข้ากับวงจรของรถบังคับวิทยุซึ่งมีมอเตอร์ไฟฟ้าติดตั้งอยู่ด้วย และมีสายไฟฟ้าเชื่อมต่อเข้ากับเชื้อปะทุไฟฟ้าของลูกระเบิด และใช้วงจรรถบังคับวิทยุเป็นตัวควบคุมและส่งสัญญาณทำให้เกิดการระเบิดสามารถสังหารชีวิตและทำลายทรัพย์สินให้เสียหาย โดยจำเลยทั้งสองเตรียมและนำลูกระเบิดซุกซ่อนไว้ในช่องเก็บของท้ายรถยนต์ซึ่งอยู่ใกล้กับถังก๊าซแอลพีจี โดยรถดังกล่าวเป็นของนางอังคณา นงค์พรหมา ที่อยู่ในความครอบครองของนางสุดใจ ผู้เสียหายที่ 1 และโจทก์ร่วม และจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันนำวงจรของรถวิทยุไปวางไว้ที่หน้าบ้านของโจทก์ร่วม และเมื่อรถยนต์มาถึงบริเวณหน้าบ้านของโจทก์ร่วม จึงทำให้เกิดการระเบิดที่น่าจะเป็นอันตรายต่อโจทก์ร่วม ร.อ.ทรงศักดิ์ ประเสริฐโสภณ ผู้เสียหายที่ 2 และนายหมอน กลิ่นหอม คนขับรถผู้เสียหายที่ 3 ที่นั่งโดยสารมาในรถยนต์ดังกล่าว และ น.ส.อารียา ใจดี ผู้เสียหายที่ 4 ยืนอยู่บริเวณหน้าบ้าน โดยการกระทำของจำเลยทั้งสองมีเจตนาจะฆ่าผู้เสียหายทั้งสี่ให้ถึงแก่ความตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเนื่องจากสะเก็ดระเบิดทำให้ น.ส.อารียา ผู้เสียหายที่ 4 ได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผลบริเวณหน้าอกและต้นขา นอกจากนี้ การกระทำให้เกิดระเบิดดังกล่าวยังทำให้รถและกระจกบานเกล็ดของบ้านผู้เสียหายได้รับความเสียหายด้วย เหตุเกิดที่แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กทม. และตำบลบางกร่าง อ.เมือง จ.นนทบุรี

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2553 ว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 289 (4), 221 และ 222 ประกอบมาตรา 218 (1) และ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 38, 55, 78 วรรค 1 และวรรค 3 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตจำเลยทั้งสอง ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามมาตรา 289 (4) ซึ่งเป็นบทหนักสุด และให้ยึดวงจรรถวิทยุบังคับและเศษชิ้นส่วนวัตถุระเบิดของกลาง ขณะที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2555 พิพากษายืนให้จำคุกตลอดชีวิตจำเลยทั้งสอง ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นฎีกา ต่อสู้ว่าไม่ใช่ผู้กระทำผิดและอาวุธระเบิดไม่มีความร้ายแรงตามที่ศาลพิพากษาลงโทษฐานผิด พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 78

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้วเห็นว่า ฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นที่ว่าอาวุธระเบิดไม่มีความร้ายแรงที่จะลงโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ นั้นข้อต่อสู้ดังกล่าวไม่ได้มีการกล่าวอ้างมาก่อนในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ อีกทั้งเป็นประเด็นข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามฎีกาตามกฎหมาย จึงไม่อาจรับฎีกาไว้วินิจฉัยได้

ส่วนประเด็นจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายที่กระทำผิดในคดีนี้หรือไม่ เห็นว่าในชั้นพิจารณาโจทก์มีนางสุดใจ โจทก์ร่วมเบิกความว่า รู้จักกับ น.ส.เบญจทิพย์ จำเลยที่ 2 เมื่อช่วงปี 2548-2549 โดยเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 มีฐานะดีเพราะใช้ของยี่ห้อดังและโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ก็เคยตกลงซื้อขายเครื่องอัญมณีของโจทก์ร่วมหลายครั้ง และเมื่อโจทก์ร่วมเคยเสนอขายที่ดินประมาณ 41 ไร่ ในราคา 22 ล้านบาทให้ โดยจำเลยที่ 2 ก็ระบุว่าอีกไม่นานจะได้รับมรดกจากบิดาชาวญี่ปุ่น จำนวน 250 ล้านบาท โดยก่อนช่วงเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ระบุว่าบิดาชาวญี่ปุ่นจะเดินทางมาประเทศไทยในวันที่ 27 เม.ย. 2552 และจะมีการจัดเลี้ยงอาหารทะเลที่บ้านของจำเลยที่ 2 แต่ต่อมาได้ตกลงซื้อขายอัญมณีกัน จำเลยที่ 2 ได้ค้างชำระเงินและเมื่อทวงถามจำเลยที่ 2 ก็ได้คืนเครื่องอัญมณีมาบางส่วน โดยยังคงค้างชำระอยู่ประมาณ 3.8 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 26 เม.ย. 2552 จำเลยที่ 2 ก็เชิญชวนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายคนอื่นไปบ้านพักเพื่อเตรียมงานเลี้ยงรับบิดาของจำเลยที่ 2 เมื่อถึงบ้านก็ได้มีการพูดคุยสนทนากัน ระหว่างนั้นจำเลยที่ 2 ให้ ส.อ.ณรงค์ฤทธิ์ จำเลยที่ 1 นำอาหารทะเลไปใส่ไว้ในท้ายรถของโจทก์ กระทั่งเวลา 21.00 น.โจทก์ร่วมและผู้เสียหายอื่นได้กลับมาถึงบ้านพัก จากนั้นก็ได้เกิดการระเบิดขึ้นเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ

นอกจากนี้ โจทก์ยังมีผู้เสียหายอื่นเบิกความเป็นพยานยืนยันว่า ระหว่างที่อยู่บ้านของจำเลยที่ 2 ก็เห็นจำเลยที่ 1 เดินเข้าออกไปมาภายในบ้านอยู่หลายครั้ง โดยคนขับรถซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 3 ก็เบิกความว่าระหว่างรออยู่ในรถพบเห็นจำเลยที่ 1 เดินมาที่รถและให้เปิดกระโปรงท้ายรถเพื่อนำอาหารทะเลใส่ไว้ในท้ายรถ

ขณะเดียวกันโจทก์ยังมี พ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ ผกก.กลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด เบิกความถึงลักษณะการระเบิดด้วย ซึ่งแม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าเป็นทหารราบ ไม่มีความรู้เรื่องการประกอบวัตถุระเบิด แต่จำเลยที่ 1 ก็ระบุว่าจบจากโรงเรียนนายสิบซึ่งจะต้องมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับลักษณะของระเบิดจึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 จะมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับวัตถุระเบิดอยู่บ้าง และขณะเกิดเหตุยังปรากฏว่าบุตรชายซึ่งเป็นลูกติดของจำเลยที่ 2 มีอายุเพียงขวบเศษไม่น่าที่จะแยกชิ้นส่วนรถบังคับวิทยุได้ตามที่กล่าวอ้าง และในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 พยายามหลีกเลี่ยงการตอบคำถามของพนักงานสอบสวน เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ที่หลีกเลี่ยงการตอบคำถามของพนักงานสอบสวน ทั้งที่จำเลยที่ 2 เคยโอ้อวดกับโจทก์ร่วมไว้ว่าบิดาเป็นชาวญี่ปุ่นและมีทรัพย์สินมาก โดยจำเลยที่ 2 ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริง พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองจึงทำให้มีข้อพิรุธสงสัย นอกจากนี้ จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานก็ยังพบว่า เทปกาวสองหน้ารวมทั้งถ่านไฟฉายขนาด 3 เอ ของกลางที่พบในห้องพักของจำเลยทั้งสองมีลักษณะตรงกับอุปกรณ์ที่ติดอยู่กับวัตถุระเบิดแสวงเครื่องด้วย จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นสิ่งของที่ซื้อมาพร้อมกัน

แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ว่าจำเลยประกอบระเบิดและนำวัตถุระเบิดไปใส่ไว้ในรถ แต่จากคำเบิกความและพฤติการณ์แวดล้อมทำให้เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นคนร้าย ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาสู้อ้างว่าคดีไม่มีเหตุจูงใจให้กระทำผิดนั้น ศาลเห็นว่า ในการกระทำดังกล่าวหากโจทก์ร่วมเสียชีวิตก็จะทำให้ทายาทไม่อาจทราบเหตุหรือติดตามการทวงหนี้สินจากจำเลยทั้งสองได้ ประกอบกับโจทก์ร่วมและผู้เสียหายต่างก็รู้จักกับจำเลยทั้งสองเป็นอย่างดี และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีเหตุปรักปรำใส่ร้ายจำเลยเพื่อให้ได้รับโทษ อย่างไรก็ตาม คำให้การของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3

พิพากษาแก้ ให้จำคุกจำเลยทั้งสองไว้คนละ 33 ปี 4 เดือน โดยยกฟ้องในข้อหาทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ทรัพย์สินตามมาตรา 222

ภายหลังฟังคำพิพากษา ส.อ.ณรงค์ฤทธิ์ จำเลยที่ 1 คงยืนยันว่าตนมิใช่ผู้กระทำผิด ซึ่งในวันนี้มีบุตรสาวและญาติของจำเลยมาร่วมฟังการพิจารณาคดีด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น