“สมยศ” นำทีมบิ๊กตำรวจแถลงผลงานรอบ 6 เดือน ย้ำแก้ไขปัญหาทุจตริตประพฤติมิชอบ ให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ ไม่แสวงหาผลประโยชน์
วันนี้ (24 เม.ย.) ที่ห้องศรียานนท์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) นำแถลงผลการดำเนินงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในรอบ 6 เดือน โดยมี พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์, พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ, พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา, พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร., พล.ต.อ.อำนาจ อันอาตม์งาม ที่ปรึกษา (สบ 10), พล.ต.ท.จิตต์เจริญ เวลาดีวงณ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ร่วมแถลง โดยมี ผู้แทน กต.ตร.กทม. สมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ อาสาสมัครเหยี่ยวเวหา อาสาสมัครมูลนิธิต่างๆ ร่วมรับฟังกว่า 100 คน
พล.ต.อ.สมยศแถลงว่า ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาได้ขับเคลื่อนตามนโยบาย ตร.ที่ประกาศไว้ทุกด้าน โดยในการด้านการปกป้องสถาบัน รณรงค์ให้ข้าราชการตำรวจ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จงรักภักดีต่อสถาบันฯ จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริม เชิดชูสถาบันฯ วางมาตรการเชิงรุกตรวจสอบกระทำผิด ดำเนินคดีเฉียบขาด ขยายผลเครือข่ายนายทุนเบื้องหลังกลุ่มที่ทำผิดต่อสถาบันฯ อย่างเข้มข้น ขณะที่การรักษาความมั่นคงภายในประเทศ และความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้ มีการดำเนินการเชิงรุกในการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความมั่นคงตามชายแดน และภายในประเทศ โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร ฝ่ายปกครอง และหน่วยอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
“ขณะที่การป้องกันแก้ไขปัญหาทุจตริตประพฤติมิชอบ ปฏิบัติได้อย่างจริงจัง โดยผมเป็นผู้นำในการปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ย้ำเรื่องการไม่แสวงหาผลประโยชน์ มุ่งเน้นให้ตำรวจปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อเป็นที่ยอมรับของพี่น้องประชาชน” ผบ.ตร.กล่าว และว่าในการปราบปรามยาเสพติดนั้นให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นวาระแห่งชาติ เน้นการการปราบปรามผู้ผลิต ค้า จำหน่ายรายใหญ่และรายย่อย โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ ขณะที่ให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องการปราบปรามการค้ามนุษย์ เพราะหากไม่สามารถดำเนินการได้ดีจะกระทบเศรษฐกิจไทยโดยรวมเนื่องจากสหรัฐอเมริกาจะมีมาตรการกดดันทางการค้า
ผบ.ตร.กล่าวด้วยว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาได้นำพัฒนาด้านเทคโนโลยีทุกมิติ ทั้งการพัฒนาศูนย์รับแจ้ง 191 การจัดทำศูนย์กลางการจัดการจราจร บก.02 ให้มีระบบและมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาการจราจรใน กทม.และปริมณฑล ขณะที่มีการจัดทำระบบเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารของตำรวจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยขยายการติดตั้งกล้องซีซีทีวีให้ครอบคลุม และปรับปรุงการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างในพื้นที่เสี่ยงต่ออาชญากรรม
พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า มีความพึงพอใจผลงาน 6 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่อีกด้านหนึ่งต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าพอใจในผลงานของตำรวจด้วยหรือไม่ ทั้งนี้อีก 6 เดือนจากนี้ ตร.ยังคงสนองตอบต่อนโยบายรัฐบาลเป็นหลัก โดยเน้นการดูแลความผาสุกของประชาชนควบคู่กับการดูแลความผาสุกของตำรวจด้วย เพื่อให้ตำรวจมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อให้ตำรวจดูแลประชาชนได้ดี เมื่อตำรวจแข็งแรงและเข้มแข็งจะดูแลประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ จากนี้จะนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นเพื่อให้การทำงานของตำรวจมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่นการพัฒนาศูนย์รับแจ้งเหตุ 191 ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นมาก
เมื่อถามว่า ในห้วงที่ประเทศต้องการความปรองดอง แต่ทว่าการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจที่ผ่านมายังถูกบางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าใช้กับฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลมากกว่า ผบ.ตร.กล่าวว่า ยืนยันว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ตนเป็น ผบ.ตร.ได้ทำทุกอย่างด้วยความชัดเจนโปร่งใส ยิ่งในบรรยากาศปรองดองหากตำรวจเลือกปฏิบัติหรือปฏิบัติกับฝ่ายใดอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ถูกต้อง ความปรองดองยากจะเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ นับแต่มีความขัดแย้งและดำเนินคดีต่อบุคคลต่างๆ ยืนยันว่าได้ปฏิบัติกับทุกฝ่ายเช่นเดียวกัน ยึดหลักกฎหมาย ถูกต้อง เที่ยงธรรม ว่าไปตามถูกผิด ไม่มีการกลั่นแกล้ง ใส่ร้ายป้ายสี หรือสร้างหลักฐานเท็จ จะเห็นว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คดีต่างๆ ยึดหลักกฎหมาย หลักในพยานหลักฐานเป็นสำคัญ หากทำได้ตามนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะได้รับความเชื่อมั่นและเชื่อถือศรัทธาจากประชาชน
เมื่อถามถึงการปฏิรูปตำรวจ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ยืนยันมาโดยตลอดว่าการปฏิรูป เปลี่ยนแปลงใดๆ หากนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าหรือสิ่งที่ดีกว่า ข้าราชการตำรวจทุกคนพร้อมยินดีรับการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่เคยบอกไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นประชาชนต้องได้ประโยชน์ ต้องดีขึ้น ผู้ที่เข้ามามีส่วนเปลี่ยนแปลงต้องมาด้วยใจบริสุทธิ์ ปราศจากอคติหรือแนวคิดเชิงลบต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เราพร้อมน้อมรับทุกท่านที่ความรู้ความสามารถ มีคุณวุฒิ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงปรับปรุงนั้นขอให้ตำรวจมีส่วนร่วมชี้แนะเสนอแนะ ยืนยันว่าไม่มีใครรู้จักตำรวจดีเท่าตำรวจ ทั้งนี้ ยอมรับว่าสิ่งที่ต้องการ คือ ให้ตำรวจปลอดจากการเมือง โดยทั้งในคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ และคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ต้องไม่มีฝ่ายการเมืองร่วมเป็นกรรมการ นี่คือสิ่งที่ตำรวจต้องการจริงๆ ส่วนจะเป็นไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะคิดเห็นอย่างไร
พล.ต.อ.เอกกล่าวถึงผลงานด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ว่า สำหรับการกระทำผิดเกี่ยวกับค้ามนุษย์แยกคดีออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คดีที่เกิดเมื่อปี 2556 ประมาณ 1,400 คดี ปี 2557 ประมาณ 280 คดี ปี 2558 ประมาณ 60 คดี ในกลุ่มคดีทั้งหมดมีการรวบรวมจัดลงระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ CMIS เพื่อเป็นแนวทางในการสืบสวนขยายผลหากเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ สำหรับยุทธศาสตร์การจัดการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี ได้เน้นย้ำให้มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง และมีผลเป็นที่น่าพอใจ เป้าหมายสำคัญคือจะไม่มีการบังคับค้าประเวณีในลักษณะการค้ามนุษย์ในสถานบริการทั่วประเทศโดยเด็ดขาด ส่วนในเรื่องแรงงานผิดกฎหมาย โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องแรงงานประมงได้มีการบูรณาการร่วมกับกระทรวงแรงงาน โดยจะทำให้แรงงานเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในระบบ การเร่งรัดการจดทะเบียน มีการบูรณาการกับหน่วยงาน ตร.ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สตม.และ ปคม.ด้วย ส่วนเรื่องการจัดระเบียบขอทานจะร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีการระดมกวาดล้างเพื่อเข้าไปช่วยเหลือดูแล มีการจัดการให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากเป็นคนไทยจะมีการสนับสนุนสงเคราะห์ช่วยเหลือ หากเป็นต่างด้าวจะมีการดำเนินคดีและผลักดันกลับประเทศ ในส่วนการป้องกันและปราบปรามเรื่องชาวโรฮิงญาซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง แม้ว่าข้อเท็จจริงการอพยพย้ายถิ่นของชาวโรฮิงญาจะเป็นในลักษณะที่ผ่านจากประเทศไทยทางด้านชายทะเลเพื่อไปยังประเทศอื่นๆ ต่อไป
“ที่ผ่านมามาตรการการสกัดกั้นได้ผลอย่างน่าพอใจ ในการทำงานเราจะพิจารณาจุดเสี่ยงต่างๆ อย่างเช่น การค้าประเวณี จุดเสี่ยงที่สำคัญคือชายแดนติดกับประเทศลาว ที่ จ.หนองคาย ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ให้ ปคม.ไปจัดการ มีการสืบสวนขยายผลพบว่ามีการนำผู้หญิงจากประเทศลาวเข้ามาทำงานตามสถานบริการและค้าประเวณี ส่วนที่ 2 แรงงานผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่มาจากทางพม่าผ่านพรมแดนทางบก ด้าน จ.ตาก เรื่อยมาจนถึง จ.กาญจนบุรี ตร.ได้เจ้าหน้าที่ สตม.ไปดำเนินการ มีผลการจับกุมมีการขยายผลถึงเครือข่ายค้ามนุษย์ ส่วนเรื่องขอทานส่วนใหญ่มาจากประเทศกัมพูชาด้าน จ.สระแก้ว ได้มอบให้กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชนดำเนินการ มีการดำเนินการจับกุม สุดท้ายในส่วนของผู้อพยพย้ายถิ่นฐานชาวโรฮิงญา ได้มีการสั่งการและแต่งตั้งคณะทำงาน ได้มีการสั่งการเป็นพิเศษมีการสืบสวนสอบสวนขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา มีการยึดทรัพย์ เรื่องสุดท้ายคือการบูรณาการร่วมกันทำงานกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างดี มีโครงการฝึกกอบรมเจ้าหน้าที่ และเน้นย้ำให้ผู้บังคับบัญชาเฝ้าระวังไม่ให้ตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด กำชับให้การทำงานอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพต่อไป” พล.ต.อ.เอกกล่าว
ด้าน พล.ต.อ.อำนาจกล่าวถึงผลงานด้านการปกป้อง เทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ การรักษาความมั่นคงของชาติ และแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า สำหรับงานด้านความมั่นคงมี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบ.ตร.รับผิดชอบและได้มอบหมายให้ตนมาแถลงผลงานครั้งนี้ใน 3 เรื่องสำคัญ คือ การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ การรักษาความมั่นคงของชาติ และการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ โดยเรื่องการปกป้องสถาบันฯ นั้นถือเป็นภารกิจที่มีความสำคัญสูงสุด ในสถานการณ์แห่งความขัดแย้งทางการเมืองมีการแสวงหาปลประโยชน์ส่วนตัว มีการแอบอ้างสถาบันฯ เพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์ ที่ผ่านมาเทคโนโลยีและสังคมออนไลน์กลายเป็นช่องทางในการกระทำผิดและสนับสนุนการกระทำผิดให้ปรากฏชัดเจนและขยายตัวมากขึ้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำหนดนโยบายในเรื่องนี้ไว้ 5 ด้าน 1. การรณรงค์ เทิดทูน เสริมสร้างจิตสำนึกของประชาชนให้มีความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ 2. ติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางสื่อสมัยใหม่ เฝ้าระวังการสื่อสารข้อมูลที่ผิดกฎหมาย การสืบสวนหาข่าว การปิดช่องทางการกระทำผิด ทั้งเครือข่ายออนไลน์และเว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงป้องกันไม่ให้ใช้ช่องทางเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐกระทำผิด 3. เมื่อตรวจพบการกระทำผิดก็มีการสืบสวนดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด ตอนนี้ปิดเว็บไซต์ที่ใช้กระทำผิดไปแล้วจำนวน 25,069 เว็บไซต์ เพื่อยุติการแพร่กระจายของข่าวสาร
4. เร่งรัดดำเนินคดีรายบุคคลในรายที่มีหมายจับก็ได้เร่งรัดสืบสวนจับกุม มีการแต่งตั้งพนักงานสอบสวนรับผิดชอบการทำงานทุกขั้นตอนทุกระดับ ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมามีคดีที่ค้างอยู่ทั้งสิ้น 443 คดี ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 239 คดี ส่วนคดีที่อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบได้ส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษและอัยการสูงสุดรวม 76 คดี มีคดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวน 128 คดี การพัฒนากลไกการถวายความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด มีการทบทวนมาตรการการปฏิบัติของหน่วยปฏิบัติ พัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้และบุคลากร บูรณาการการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก พร้อมปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องรวมทั้งทบทวนซ้อมแผนปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง และ 5. การส่งเสริมโครงการพระราชดำริหลายโครงการโดยมีกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนเป็นหน่วยงานรับผิดชอบร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สรุปผลการปฏิบัติงานเป็นที่น่าพอใจการกระทำผิดเกี่ยวกับการละเมิดสถาบันฯ ลดน้อยลง
พล.ต.อ.อำนาจกล่าวว่า เรื่องนโยบายด้านความมั่นคงนั้น ขณะนี้ยังมีสถานการณ์ความขัดแย้งของกลุ่มต่างๆ ปรากฏอยู่ มีความเคลื่อนไหวทางด้านความคิด การจัดกิจกรรม การรวมกลุ่มสร้างพลังในการต่อรอง การก่อกวน การใช้ความรุนแรงซึ่งเป็นสถานการณ์ภายในประเทศเป็นหลัก สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา โดยเฉพาะสถานการณ์ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ การเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกร พลังงาน สาธารณูปโภค และสิ่งแวดล้อม ด้วยการชุมนุมต่างๆ ตลอดจนการเคลื่อนไหวในสังคมออนไลน์ การก่อกวน รวมถึงการก่อการร้ายในประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางและกลุ่มหัวรุนแรงต่างๆ สำหรับแนวทางการปฏิบัติในเรื่องนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ให้ความสำคัญเรื่องการข่าว การสืบสวน ข่าวกรองความเคลื่อนไหว ประเด็นปัญหาเรื่องแกนนำและกลุ่มปัญหาปัจเจกบุคคลต่างๆ ได้พัฒนาให้มีการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ทั้งด้านมาตรฐานการปฎิบัติ ด้านกฎหมาย และการบริหารจัดการเหตุให้มีประสิทธิภาพ ฝึกฝนกำลังพลทางยุทธวิธีให้หน่วยต่างๆ ตามหลักสูตรที่จำเป็น ในส่วนการสร้างความปรองดองลดความขัดแย้ง ได้ร่วมกับฝ่ายทหารและฝ่ายปกครองในการชี้แจงทำความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ป้องกันไม่ให้มีความเคลื่อนไหวเกินกว่ากฎหมายที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้น
“สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เสนอกฎหมาย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การใช้เสรีภาพในการชุมนุม กำหนดหน้าที่ของผู้รับผิดชอบผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมตามหลักสากลและภายใต้กรอบกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยขณะนี้กฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาซึ่งจะเข้าสู่วาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 1 พ.ค.นี้” พล.ต.อ.อำนาจกล่าว และว่าที่ผ่านมาเป็นที่พึงพอใจ เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมสถานการณ์รักษาความสงบ เชื่อมโยงการข่าวไปสู่การป้องกันและควบคุมเหตุได้อย่างเหมาะสม
พล.ต.อ.อำนาจกล่าวว่า ส่วนเรื่องความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้นั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติพยายามขจัดเงื่อนไขปัจจัยที่แทรกซ้อนที่กลุ่มผู้หลงผิดนำไปใช้สร้างสถานการณ์หรือการแสวงหาแนวร่วมในทุกระดับ ทั้งจากท้องถิ่น เมือง และจังหวัด การแก้ไขปัญหาในปัจจุบันใช้กลไกลของหน่วยงานที่มีหน้าที่แก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้เป็นหลัก ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนให้ลดการใช้ความรุนแรง สร้างความเข้าใจ ใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ปัญหา ทั้งนี้ ผลการปฏิบัติที่สำคัญในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า จากเดิมในห้วงเวลาเดียวกันมีเหตุเกิดขึ้น 496 เหตุ เป็นเหตุเกี่ยวกับการก่อความไม่สงบ 325 เหตุ แต่ในรอบปีนี้เกิดเหตุ 286 เป็นเหตุเกี่ยวกับการก่อความไม่สงบ 132 เหตุ ในภาพรวมเหตุเกิดลดลง การก่อความไม่สงบก็ลดลงเช่นกัน ในส่วนประชาชนผู้บาดเจ็บเดิมบาดเจ็บ 201 คน ปัจจุบันในปีนี้มีผู้บาดเจ็บ 127 คน เสียชีวิตเดิม 182 ปัจจุบัน 129 คน ทหารเดิมได้รับบาดเจ็บ 120 คน ปัจจุบัน 36 คน เสียชีวิต 40 คน ปัจจุบัน 4 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจเดิมบาดเจ็บ 43 คน ปัจจุบัน 17 คน เสียชีวิตเดิม 22 คน ปัจจุบัน 4 คน
ขณะที่ พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า สำหรับการป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญและถือเป็นวาระแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านนโยบาย มาตรการในการดำเนินการ รวมถึงการติดตามประเมินผล และทำงานร่วมกันกับหน่วยงานอื่นอย่างบูรณาการ สำหรับการดำเนินการมีการกำหนดมาตรการสำคัญ 7 ด้าน ได้แก่ 1. การสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติด 2. การปราบปรามจับกุมกลุ่มการค้า 3. การหยุดยั้งการแพร่ระบาด 4. การสืบสวนสอบสวนคดียาเสพติด 5. ระบบด้านการข่าว 6. การตรวจสอบยึดและอายัดทรัพย์สอนของขบวนการค้ายาเสพติด และ 7. การดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด สำหรับในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาสามารถจับกุมยาเสพติด 150,919 คดี ผู้ต้องหา 160,634 คน สามารถตรวจยึดของกลางยาบ้า 26,227,741 เม็ด ไอซ์ 597.26 กก. เฮโรอีน 24.33 กก. กัญชาแห้ง 8,725.74 กก. โคเคน 7.39 กก. กระท่อม 36,778.62 กก. ฝิ่น 236.74 กก. ยาแก้ไอ 606.27 กก. ดำเนินการยึดทรัพย์ผู้ค้ายาเสพติด 1,173 ราย มูลค่าทรัพย์สินที่ยึดได้ 504.07 ล้านบาท ขณะที่การสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติด มีโครงการครู D.A.R.E.เข้ามาเสริมสร้างทักษะชีวิตป้องกันยาเสพติดให้กับนักเรียนชั้น ป.6 จำนวน 11,220 ห้องเรียน มีนักเรียนเข้ารวมโครงการ 287,150 คน
ด้าน พล.ต.อ.วรพงษ์กล่าวถึงผลงานการนำเทคโนโลยีมาเพื่อพิทักษ์รับใช้ประชาชนในทุกมิติว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งระบบ POLIS ที่มีใช้มาอย่างยาวนาน ในรอบ 6 เดือน ได้มีการพัฒนาระบบที่สำคัญ คือ ระบบการพัฒนาศูนย์แจ้งเหตุ 191 ซึ่งมีความสำคัญเป็นบริการขั้นพื้นฐาน เป็นช่องทางที่ให้ประชาชนได้แจ้งเหตุอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปในที่เกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว ลดทอนความสูญเสียชีวิตของประชาชน ใครอยู่จังหวัดไหนโทร.ติดจังหวัดนั้น และให้ผู้การเป็นผู้ดูแล อีกทั้งทางรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณให้จ้างคนมาทำหน้าที่รับแจ้งเหตุ โดยขณะนี้มีอัตรากำลังพลที่ทำหน้าที่ตรงนี้เป็นตำรวจ 1,416 นาย บุคคลภายนอกอีก 518 คน แต่ติดปัญหาเรื่องของงบประมาณที่ไม่สามารถจัดจ้างบุคคลภายนอกได้ จึงแก้ปัญหาโดยการใช้ตำรวจทำหน้าที่ไปก่อน ทั้งนี้ เราพัฒนาระบบจนเทียบเท่ามาตรฐานสากล กล่าวคือ เมื่อมีสายเรียกเข้าสามารถรับสายได้ภายใน 4 วินาที ตำรวจสายตรวจสามารถไปถึงที่เกิดเหตุได้ภายใน 5 นาที ในกรณีที่เป็นเขตชุมชน และ 15 นาที นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบสารสนเทศสถานีตำรวจ หรือระบบไครม์ (CRIMES) เข้ามาช่วยในการสืบสวนหาคนร้ายได้อย่างรวดเร็ว และมีการเชื่อมโยงไปยังข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ทั้งส่วนของตำรวจ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนสิ่งที่จะมีการพัฒนาต่อไป คือ ระบบยืนยันตัวบุคคลด้วยใบหน้า (Face Recognition) ของ สตม.ซึ่งจะใช้วิธีการเดียวกับการแท็กเพื่อนในเฟซบุ๊ก หากพบข้อมูลผู้ที่อยู่ในแบล็กลิสต์อยู่ในฐานข้อมูลของ สตม.หรือของทุกหน่วย เมื่อได้ภาพมาใหม่ระบบจะนำมาเปรียบเทียบให้ ซึ่งระบบนี้ได้มีการทดลองแล้ว นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีการเฝ้าระวังผู้บุกรุกซึ่งจะมีการนำมาใช้อย่างต่อเนื่องต่อไป
พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติกล่าวถึงผลงานด้านการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า ที่ผ่านมาตำรวจได้มีการบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันการประทำผิดเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่า การบุกรุกป่าและที่สาธารณะ การลักลอบค้าสัตว์ป่า และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีผลการจับกุมผู้ต้องหาทำลายป่า 2,758 คดี ผู้ต้องหา 1,622 คน คดีการค้าสัตว์ป่า พันธุ์พืชหวงห้าม 265 คดี ผู้ต้องหา 235 คน คดีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 108 คดี ผู้ต้องหา 110 คน และคดีบุกรุกป่าและที่สาธารณะ 1,920 คดี ผู้ต้องหา 602 คน
พล.ต.ท.จิตต์เจริญกล่าวถึงการบริหารจัดการให้ตำรวจดำรงชีพอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีและเป็นที่รักของประชาชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติตระหนักถึงการสร้างขวัญกำลังใจของข้าราชการตำรวจจึงได้มีการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการก่อสร้างรพ.ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขนาด 50 เตียง เพื่อช่วยเหลือตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะแล้วเสร็จสามารถเปิดให้บริการภายในวันที่ 30 ก.ย. 2558 ขณะเดียวกัน มีโครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรและสวัสดิการ ตร. อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มีการจัดโครงการรถรับ-ส่งของอาคารบ้านพักส่วนกลางของ ตร.วันละ 2 รอบ เช้า-เย็น ขณะเดียวกันได้มีการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินตำรวจ โครงการสวัสดิการจัดหาอาวุธปืนพกสั้นขนาด 9 มม.ยี่ห้อซิกซาวเออร์ เพื่อไว้ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ นอกจากนี้มีกองทุนสวัสดิการตำรวจ ช่วยเหลือข้าราชการตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ จัดโครงการอบรมสัมมนาให้ความรู้ข้าราชการตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจนสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพ และโครงการฝึกอบรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาตำรวจฆ่าตัวตาย
พล.ต.ท.จิตต์เจริญยังได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสูงสุดเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิบัติ เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีการดำเนินโครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความมั่นคง และการรักษาความปลอดภัยในภูมิภาคอาเซียน อาทิ โครงการพัฒนางานตรวจพิสูจน์สารเคมีและสารเคมีใช้ทำวัตถุระเบิดเพื่อรองรับ ASEAN FORENSIC โครงการตรวจพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ นอกจากนี้ได้มีการพัฒนาสถานีตำรวจทางกายภาพ เช่น การทาสีอาคาร ทำป้ายแสดงสัญลักษณ์เป็นภาษาอังกฤษ จัดทำโครงการพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษในรูปแบบ E-Learning ยกระดับการให้บริการประชาชนของ สตม.รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ระยะแรก 5 ด่าน ได้แก่ พื้นที่ จ.ตาก จ.สระแก้ว จ.ตราด จ.มุกดาหาร และ จ.สงขลา และมีการเปิดศูนย์ 1155 เพื่อเป็นช่องทางการร้องทุกข์ของชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย