ดีเอสไอฝากขัง “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” อดีตประธานสหกรณ์ยูเนี่ยนคลองจั่น ยักยอกทรัพย์ สำนวนแรก 27 ล้าน อ้างเบิกเงินไปจ่ายค่าธรรมเนียม เพื่อเสริมสภาพคล่องสหกรณ์ พร้อมค้านประกัน เกรงผู้ต้องหาจะหลบหนีและข่มขู่พยาน
ที่ศาลอาญา เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (2 เม.ย.) พ.ต.ท.บรรณฑูรย์ ฉิมกรา พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คุมตัวนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อายุ 57 ปี อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ผู้ต้องหาในคดียักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353 และ มาตรา 254 ไปฝากขังครั้งแรกมีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 2-13 เม.ย. 2558
คำร้องฝากขังสรุปว่า น.ส.สุดาภรณ์ กองธรรม กับพวก ได้รับมอบอำนาจจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน สน.ลาดพร้าว ให้ดำเนินคดีต่อนายศุภชัยในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ต่อมาพนักงานสอบสวน สน.ลาดพร้าว ส่งมอบสำนวนการสอบสวนคดีดังกล่าวให้ดีเอสไอดำเนินการสอบสวนเป็นคดีพิเศษ ต่อมาวันที่ 22 ส.ค. 2557 อธิบดีอีเอสไอมีคำสั่งรับเป็นคดีพิเศษ จากการสืบสวนสอบสวนพบข้อเท็จจริงว่าช่วงระหว่างวันเวลาที่เกิดเหตุ ตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. 2556 - 8 ต.ค. 2556 นายศุภชัยผู้ต้องหาในฐานะประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ชุดที่ 29 และทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด
ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการกำหนดสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยสูงสุด ของดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม พ.ศ. 2550 ข้อ 1. กำหนดให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด เป็นสถาบันการเงิน และให้ประธานกรรมการมีอำนาจเป็นตัวแทนของสหกรณ์ในการดูแลรักษาทรัพย์สินของสหกรณ์เป็นผู้ควบคุมในเรื่องการรับเงิน การจ่ายเงิน การสะสมเงิน การฝากเงิน หรือการเก็บรักษาเงินให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสหกรณ์ ตลอดจนมีหน้าที่ในการควบคุมจัดทำบัญชีและทะเบียนต่างๆของสหกรณ์ให้ถูกต้องครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน ตามข้อบังคับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด พ.ศ. 2549 และผู้จัดการสหกรณ์มีหน้าที่จัดการทั่วไป และรับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการประจำของสหกรณ์ รับผิดชอบในการรับจ่ายเงินของสหกรณ์ และรวบรวมใบสำคัญและเอกสารต่างๆเกี่ยวกับการเงินไว้ให้ครบถ้วน และเก็บรักษาเงินของสหกรณ์ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด
นายศุภชัยได้ครอบครองทรัพย์อันเป็นเงินฝากและเงินเรือนหุ้นของสมาชิกสหกรณ์ฯ และได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของสมาชิกสหกรณ์ฯ ได้กระทำการยักยอกทรัพย์อันเป็นเงินฝากและเป็นเงินเรือนหุ้นของสมาชิกที่ฝากไว้โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ฯ จัดทำเอกสารการเงินเพื่อที่จะขออนุมัติการเบิกจ่ายเงิน แล้วนายศุภชัยได้นำเงินออกไปจำนวน 8 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 19 เม.ย.2556 จำนวน 2,500,000 บาท ครั้งที่ 2 วันที่ 19 เม.ย. 2556 จำนวน 5,000,000 บาท ครั้งที่ 3 วันที่ 5 ก.ค. 2556 จำนวน 3,000,000 บาท ครั้งที่ 4 วันที่ 5 ก.ค. 2556 จำนวน 6,000,000 บาท ครั้งที่ 5 วันที่ 5 ก.ค. 2556 จำนวน 9,000,000 บาท ครั้งที่ 6 วันที่ 12 ก.ย. 2556 จำนวน 820,000 บาท ครั้งที่ 7 วันที่ 28 ก.ย. 2556 จำนวน 1,138,000 บาท และครั้งที่ 8 วันที่ 8 ต.ค. 2556 จำนวน 184,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 27,642,000 บาท
โดยผู้ต้องหาได้ลงลายมือชื่อรับเงินในใบสำคัญจ่ายเงินทุกครั้ง อ้างว่าจะต้องเบิกเงินเพื่อเป็นค่าธรรมเนียมในการไปหาเงินมาเสริมสภาพคล่องของสหกรณ์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่มีมติของคณะกรรมการสหกรณ์ฯให้ดำเนินการได้ และไม่มีระเบียบหรือข้อบังคับใดๆให้สามารถดำเนินการได้ การกระทำดังกล่าวจึงถือได้ว่ากระทำไปโดยทุจริตและไม่ปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับของสหกรณ์ฯ มีเจตนาจะเบียดบังเอาทรัพย์ซึ่งเป็นเงินฝาก และเงินเรือนหุ้นของสหกรณ์ฯไปเป็นของตน หรือบุคคลที่ 3 โดยทุจริต ทำให้สหกรณ์ฯได้รับความเสียหาย เป็นความผิดอาญาฐานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353 และ 354
ต่อมาเวลา 09.00 น. วันที่ 2 เม.ย. นายศุภชัยได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวนดีเอสไอ โดยนายศุภชัยให้การปฏิเสธ เหตุเกิดที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด เลขที่ 1 ซอยเสรีไทย 7 ถนนเสรีไทย แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม. ตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. 2556 - 8 ต.ค. 2556 ทั้งนี้พนักงานสอบสวนยังต้องรอสอบสวนพยานอีก 5 ปาก รอผลตรวจสอบประวัติต้องโทษของผู้ต้องหา และตรวจสอบเอกสารหลักฐานทางคดีอื่นๆอีก ด้วยความจำเป็นดังกล่าวจึงขอฝากขังผู้ต้องหา
ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากนายศุภชัยถูกดำเนินคดีหลายคดี มีทุนทรัพย์ที่เสียหายเป็นจำนวนมาก และกระทบต่อระบบสหกรณ์ของประเทศไทย อีกทั้งมีการข่มขู่พยานสำคัญในคดี หากปล่อยชั่วคราวเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีและไปข่มขู่พยานได้ และหากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ขอให้มีคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้ต้องหาเดินทางออกนอกราชอาณาจักรด้วย
ศาลสอบถามผู้ต้องหาแล้วไม่คัดค้าน ศาลจึงอนุญาตให้ฝากขังได้ตามคำร้อง
ภายหลัง พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 3 ดีเอสไอ กล่าวว่าสำนวนคดีนี้สมาชิกสหกรณ์ฯ เป็นผู้กล่าวหา หลังพบหลักฐานว่านายศุภชัยสั่งเช็คเบิกจ่ายถึงตัวเอง 8 ฉบับ เป็นเงิน 27 ล้านบาท อ้างต่อสมาชิกว่าเป็นค่าธรรมเนียมสหกรณ์ฯ จากการสอบสวนนายศุภชัยให้การปฎิเสธ ส่วนสำนวนคดีที่นายศุภชัยยักยอกเงินสหกรณ์ฯ 13,000 ล้านบาท พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องและส่งอัยการแล้ว ส่วนสำนวนคดีที่สมาชิกสหกรณ์ฯเป็นผู้กล่าวหาว่านายศุภชัยมีพฤติการณ์ฉ้อโกงประชาชนอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มสมาชิกสหกรณ์ฯ ได้เดินทางมาศาลอาญาเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลขอคัดค้านการปล่อยชั่วคราวนายศุภชัยด้วย ขณะที่ทนายความของนายศุภชัย ได้เตรียมหลักทรัพย์เพื่อยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวหรือไม่
ต่อมาทนายความของนายศุภชัย ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ เป็นโฉนดที่ดินจำนวน 2 ฉบับ มูลค่า 1 ล้าน 1 แสนบาท 8 หมื่นบาท เพื่อขอปล่อยชั่วคราว
ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่านายศุภชัย ใช้ตำแหน่งประธานสหกรณ์ ญ เป็นช่องทางฉ้อโกงประชาชน แล้วคดีมีผู้เสียหายจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายสูง และผู้ต้องหายังถูกดำเนินคดีอีกหลายคดี เกรงว่าจะหลบหนี ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยชั่วคราว จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว