xs
xsm
sm
md
lg

ธ.ไทยพาณิชย์ คืน 1.5 พันล้าน สจล. ต้องลุ้น! ถ้าลายเซ็นปลอมถึงจะจ่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

วันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งสจล.และ ธนาคารไทยพาณิชย์ บรรลุข้อตกลงในการเยียวยาคดีลักเงินของสจล.
ASTVผู้จัดการ - เผยเงื่อนไขธนาคารไทยพาณิชย์จ่ายเยียวยา 1.5 พันล้านบาทกรณีโคตรโกง สจล.กลายเป็นไม่ง่ายอย่างที่คิด ตั้งเงื่อนไขหากพิสูจน์ลายเซ็นเป็นของจริงไม่ต้องจ่ายแม้แต่สตางค์แดงเดียวเว้นของปลอมจะยอมรับผิดชอบให้ สุดท้ายต้องลุ้นระทึก รอการพิสูจน์เอกสารคดีโคตรโกง

คดีโคตรโกงครั้งอื้อฉาวที่สุดในแวดวงศึกษา 1.6 พันล้านบาท โดยมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นผู้เสียหาย แม้จะได้ตัวผู้ต้องหาระดับผู้บริหารและขบวนการเกือบทั้งหมด จนล่าสุดธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งตกเป็นจำเลยสังคมในฐานะผู้รับฝากเงิน ออกแถลงต่อสื่อบรรลุข้อตกลงยอมเยียวยาค่าเสียหายที่เกิดจากธนาคาร เป็นการปิดฉากอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง และสยบความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของธนาคารไทยพาณิชย์ที่กำลังถูกสังคมจับตามองด้วยความเคลือบแคลงใจ

ย้อนกลับไปวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้ร่วมกันแถลงข่าวข้อตกลงร่วมกันในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากกรณีการยักยอกเงิน สจล. โดยธนาคารไทยพาณิชย์จะให้เงินเพื่อดูแลความเสียหายในวงเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาทแก่ สจล.ตามมูลค่าความเสียหายที่ทาง สจล.ได้ประเมินไว้ แต่หากในที่สุดมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า สจล.มีความเสียหายที่แท้จริงน้อยกว่าวงเงินข้างต้น สจล.จะจ่ายคืนส่วนต่างให้แก่ธนาคาร

ทั้งนี้ การทำความตกลงข้างต้นไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อกลุ่มผู้ทุจริต ซึ่งทั้งสองสถาบันต่างยืนยันการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินคดีจนถึงที่สุด และต่อจากนี้ไปการให้ข่าวสารใดๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวให้เป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานอัยการเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อรูปคดี

ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การที่ธนาคารไทยพาณิชย์ให้เงินเพื่อดูแลความเสียหายแก่ สจล.ในวงเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาทในครั้งนี้นั้น ธนาคารยึดหลักธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อลูกค้าและสังคม กรณีนี้ได้ปรากฏว่ามีพนักงานของธนาคารมีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริต ธนาคารจึงแสดงความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ สจล. ธนาคารเห็นว่าหากปล่อยให้เรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างสถาบันยืดเยื้อต่อไปจะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อทั้งสองสถาบัน และอาจส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งในภาคเศรษฐกิจและการศึกษาของประเทศ เพราะธนาคารเป็นหนึ่งในสถาบันหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เช่นเดียวกับ สจล.ที่เป็นหนึ่งในสถาบันหลักด้านการศึกษา ทั้ง 2 สถาบันจึงเห็นพ้องกันให้ดำเนินการยุติเรื่องโดยเร็ว ส่วนเรื่องการเอาผิดตามกฎหมายก็ให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยทั้งสองสถาบันพร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างดีที่สุดเพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม”

ด้าน ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการแทนอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า สถาบันขอขอบคุณธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในการแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทั้ง สจล. และธนาคารไม่ต้องการที่จะให้เกิดขึ้นอีก โดยในส่วนของ สจล.แล้วต้องถือว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องรีบดำเนินการป้องกันและแก้ไขอย่างเร่งด่วน ในส่วนของการบริหารจัดการทางด้านการเงินของ สจล.ก็จะมีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น ทุกกระบวนการในการทำธุรกรรมทางด้านการเงินสามารถตรวจสอบได้ ด้านคดีความ สจล.ก็จะให้ความร่วมมือกับทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดให้ถึงที่สุด และเพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปด้วยความถูกต้องและยุติธรรมต่อทุกฝ่าย

“ในเบื้องต้นนี้ สจล.ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขอบคุณธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่ให้ความสำคัญกับคดีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ สจล. และเห็นความสำคัญของสถาบันการศึกษาที่มีหน้าที่หล่อหลอมเยาวชนของชาติให้เป็นผู้มีความรู้เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ ซึ่ง สจล.ก็จะนำเงินจำนวนดังกล่าวของ สจล.มาเพิ่มความแข็งแกร่งทางด้านวิชาการและด้านการบริหารในส่วนต่างๆ ของสถาบันต่อไป”

อย่างไรก็ตาม ฉากสุดท้ายที่ดูเหมือนว่าเมฆหมอกแห่งความเลวร้ายจะพัดผ่านไปแต่ในความเป็นจริงมิได้สวยงามตามที่สังคมเข้าใจกันเพราะข้อตกลงระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ กับ สจล.ยังมีรายละเอียดที่บีบหัวใจบรรดาลูกศิษย์ลูกหาหรือคณะครูบาอาจารย์ตลอดจนผู้คนในสังคมที่เอาใจช่วยอยู่พอสมควร แหล่งข่าวระดับสูงเปิดเผยกับ “ทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ” ว่า ข้อตกลงของธนาคารไทยพาณิชย์ที่จะยอมชดใช้เงินจำนวน 1.5 พันล้านหรือจำนวนเต็มจากค่าความเสียหายนั้นยังมีเงื่อนไขสำคัญที่ไม่ปรากฏต่อสาธารณะก็คือ สจล.ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าลายเซ็นในเช็ค หรือเอกสารแต่ละใบนั้นเป็นลายเซ็นปลอม แต่ถ้าผลการพิสูจน์จากพนักงานสอบสวนว่าเป็นลายเซ็นจากผู้บริหาร สจล.ทางธนาคารก็ไม่จำเป็นต้องชดใช้หรือเยียวยาความเสียหายใดๆทั้งสิ้น

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า เงื่อนไขดังกล่าวทั้งสองฝ่ายต่างเข้าใจตรงกันจึงร่วมทำสัญญาต่อหน้าสื่อมวลชนซึ่งถือว่าธนาคารไทยพาณิชย์ ใช้วิกฤตเป็นโอกาสอย่างเหมาะสมเนื่องจากภาพพจน์ความเสียหายจากข่าวโกงเงิน สจล.นับวันก็ยิ่งเข้าเนื้อไปทุกทีไม่ว่าจะเป็นประเด็นของนายทรงกรด ศรีประสงค์ อดีต ผจก.ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ตัวละครเอกของเรื่อง หรือ “บิ๊กบอส” ที่นายภาดา บัวขาว หรือโอ๊ด พราด้า ผู้ต้องหาอีกคนที่หลุดปากออกมาโดยมีการตีความว่า “บิ๊กบอส” ผู้อยู่เบื้องหลังความเลวร้ายทั้งหมดคือผู้บริหารของ สจล. หรือธนาคาร หรือกระทั่งเหตุการณ์ไฟลึกลับที่ลุกไหม้ห้องเก็บเอกสารชั้น 10 ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่เมื่อค่ำวันที่ 7 ก.พ.อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยซึ่งล้วนแต่เป็นปมปริศนาในทางลบแก่ธนาคารไทยพาณิชย์ ทั้งสิ้น

“หลังแถลงการณ์ออกไป ทุกฝ่ายแฮปปี้ ธนาคารเองก็สามารถหยุดความเสียหายทางภาพลักษณ์ได้อย่างสิ้นเชิง แถมยังมีเครดิตในเรื่องความรับผิดชอบกลับมาด้วย ส่วน สจล.ก็ต้องพอใจเพราะตามหลักการณ์แล้วถ้าพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายมาจากธนาคาร มาจากความเลินเล่อของพนักงานก็ไม่พ้นความรับผิดชอบอยู่แล้วจะปฏิเสธไม่ได้ ความน่าสนใจในตอนนี้จึงอยู่ผลพิสูจน์ของตำรวจว่าลายเซ็นต่างๆในเอกสารแต่ละใบนั้นเป็นของจริงหรือของปลอม ถ้าจริงธนาคารไม่จำเป็นต้องจ่ายถือว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขทุกอย่างแล้วแต่ถ้าปลอม หรือมีข้อโต้แย้งต่างๆเช่นมีทั้งจริงและปลอมภาระต่างๆจะกลับมาที่ธนาคาร แต่ถึงที่สุดแล้วหากต้องจ่ายค่าความเสียหายถึง 1.5 พันล้านก็ยังถือว่าคุ้มค่าและเป็นทางเลือกที่ดีของไทยพาณิชย์”

จากเงื่อนไขดังกล่าวจึงต้องย้อนไปยังคำให้การของนายทรงกรด ศรีประสงค์ อดีต ผจก.ธนาคารฯ ที่ยืนยันอย่างหนักแน่นว่าได้ทำตามอำนาจหน้าที่ และตามคำสั่งของลูกค้า (สจล.) ในทุกครั้งกล่าวคือเมื่อตรวจสอบมีลายเซ็นครบจำนวนผู้มอบอำนาจ และเป็นลายเซ็นจริงธนาคารไม่สามารถปฏิเสธการจ่ายเงินแก่ลูกค้าได้ และในการให้ปากคำพนักงานสอบสวนบางช่วงบางตอนเขายอมรับว่ารู้จักกับ น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ อดีต ผอ.ส่วนการคลัง สจล.มาเป็นเวลานานนับ 10 ปี มีความไว้เนื้อเชื่อใจในการทำธุรกรรมการเงินทุกครั้ง ประกอบกับ น.ส.อำพร เป็นข้าราชการระดับสูง สจล.เป็นหน่วยงานที่น่าเชื่อถือจึงไม่คิดว่าจะมีการทุจริตเกิดขึ้น

ปมปัญหาของคดีทั้งหมด ตลอดจนเอกสารหลักฐานต่างๆที่อยู่ในมือพนักงานสอบสวนเวลานี้จึงรอการพิสูจน์เพื่อสร้างความกระจ่าง ทั้งประเด็นการปลอมแปลงลายเซ็น และขั้นตอนการเดินเอกสารต่างๆซึ่งระดับผู้จัดการธนาคาร ก็คงมีความเชี่ยวชาญไม่ทิ้งร่องรอยอะไรมามัดตัวเองง่ายๆ

อดีต ผจก.ธนาคารฯ ผู้นี้จึงเป็นคนชี้ชะตาธนาคารไทยพาณิชย์ และ สจล.อย่างแท้จริง

สำหรับคดีโคตรโกง สจล.นั้น “ASTV ผู้จัดการ” เป็นสื่อแรกที่นำเสนอและเกาะติดมาอย่างต่อเนื่องโดยมีการเปิดเผยขบวนการโกงช่วงปลายปี 2557 กระทั่งมีการจับกุมนายทรงกรด ศรีประสงค์ อดีตผจก.ธนาคารฯเป็นรายแรก น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ ผอ.ส่วนการคลัง สจล.เป็นคนต่อไป จากนั้นก็สาวลึกไปถึงขบวนการมีชื่อนายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ปรากฏขึ้นและกลายเป็นผู้ต้องหาคนสำคัญที่ยังหลบหนีอยู่ต่างประเทศ นอกจากนั้นยังมีผู้ต้องหาระดับล่างที่เกี่ยวข้องอีกหลายคนส่วนใหญ่เป็นสมัครพรรคพวก ญาติพี่น้องที่ร่วมขบวนการฟอกเงินด้วย

ส่วนระดับ “บิ๊ก” ที่โดนหมายจับและเข้ามอบตัวสู้คดีในเวลาต่อมาก็คือนายถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดี สจล. กับนายสรรพสิทธิ์ ลิ่มนรรัตน์ อดีตผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการคลัง ซึ่งแนวทางข่าวพุ่งไปที่สองคนนี้ตั้งแต่เริ่มจนปิดฉากคดีโดยถูกพนักงานสอบสวนแจ้ง 5 ข้อหาหนักและได้ยื่นหลักทรัพย์คนละ 5 ล้านบาทประกันตัวสู้คดีต่อไป

ด้านความคืบหน้าของนายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ผู้ต้องหาสำคัญซึ่งอยู่ระหว่างหลบหนีนั้นล่าสุดมีข้อมูลว่าพนักงานอัยการได้สั่งฟ้องกลุ่มผู้ต้องหาคดีโกง สจล.ทั้งหมดแล้วรวมทั้งนายกิตติศักดิ์ ด้วยและจากการประสานงานระหว่างตำรวจสากลไทย กับอังกฤษ พบว่าได้หลบหนีอยู่ที่อังกฤษ จริงโดยใช้หนังสือเดินทางและวีซ่า ของตนเองและทางการสั่งยกเลิกไปแล้ว ขั้นตอนที่กำลังดำเนินการในขณะนี้คืออัยการสูงสุดจะส่งคำร้องขอผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอังกฤษ ก่อนประสานมายังตำรวจสากลประเทศไทย เพื่อให้ตำรวจสากลประเทศไทยร้องขอไปยังองค์กรตำรวจสากล หรืออินเตอร์โพล เพื่อให้ออกหมายแดงช่วยสืบสวนหาตัวนายกิตติศักดิ์ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น