กองปราบฯ รวบแก๊งสิบแปดมงกุฎหลอกลงทุนโปรโมตเว็บไซต์ โดยให้ผู้เสียหายลงทะเบียนเพื่อขอเปิดบัญชีผู้ใช้งานรายละ 20,000 บาท มูลค่าความเสียหาย 22 ล้าน พบประวัติหัวหน้าแก๊งมีหมายจับคดีร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์
วันนี้ (18 มี.ค.) ที่กองปราบปราม เมื่อเวลา 11.30 น. พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร.และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี รักษาการ ผบก.ป. พ.ต.อ.สรายุทธ สงวนโภคัย รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.จิรภพ ภูริเดช ผกก.1 บก.ป.แถลงข่าวจับกุม นายชลิต ปฐมจารุกุล อายุ 61 ปี นายยศกร เสฎฐอุโฆษ อายุ 50 ปี น.ส.ขวัญอนงค์ แสงช้าง อายุ 44 ปี และนางเขมจิรา แหวนดวงเด่น อายุ 55 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดมีนบุรี ที่ 230, 231, 233 และ 234/2558 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2558 ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน, ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนโดยโฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไป โดยกู้ยืมเงินเกิน 10 คน มีจำนวนเงินตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไปอันมิใช่การกู้ยืมจากสถาบันการเงินตามกฎหมาย โฆษณา ประกาศ แพร่ข่าว หรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ผู้กู้ยืมในอัตราสูงเกินกว่ากฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมที่สถาบันการเงินพึงจ่ายได้
พล.ต.ท.ประวุฒิกล่าวว่า ทั้งนี้สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้มีผู้เสียหาย 17 ราย ได้เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป.ว่าถูกกลุ่มผู้ต้องหาหลอกลวงให้ร่วมลงทุนโปรโมทเว็บไซต์ของบริษัท ชิปทูริช จำกัด และบริษัท พอยท์ทูริช จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 89/222 ถนนหทัยราษฎร์ แขวงและเขตมีนบุรี กทม. โดยนายชลิตอ้างตัวว่าเป็นกรรมการผู้จัดการ นายยศกรเป็นหุ้นส่วน นางเขมจิรา ภรรยานายชลิต ทำหน้าที่อธิบายแผนการลงทุน ส่วน น.ส.ขวัญอนงค์เป็นผู้ชักชวนผู้เสียหายมาลงทุน โดยอ้างว่าทำธุรกิจคล้ายๆ กับเว็บไซต์ google หากมียอดการเข้าชมเว็บไซต์จำนวนมากก็จะเป็นที่มาของรายได้จากโฆษณา จากนั้นจะให้ผู้เสียหายลงทะเบียนเพื่อขอเปิดบัญชีผู้ใช้งาน หรือแอ็กเคานต์ (Account) กับทางเว็บไซต์บริษัทแห่งนี้ โดยจะต้องเสียเงินค่าสมัครเปิดแอ็กเคานต์ละ 20,000 บาท ส่วนค่าตอบแทนจะได้รับนั้นก็เกิดจากการคลิกเข้าไปชมเว็บไซต์ โดยคลิก 1 ครั้งจะได้รับเงิน 2,500 บาท สามารถกดคลิกได้ทุก 10 วัน หรือ 3 ครั้งต่อเดือน ค่าตอบแทนจะได้รับมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการเปิดแอคเคาท์
พล.ต.ท.ประวุฒิกล่าวต่อว่า เมื่อเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินให้ค่าเปิดแอ็กเคานต์ แล้วระยะแรกทางกลุ่มผู้ต้องหาก็จ่ายเงินค่าตอบแทนให้จริง แต่หลังจากมีผู้มาลงทุนเปิดแอ็กเคานต์มากขึ้นแล้วก็จะเชิดเงินที่ได้จากค่าสมัครเปิดแอ็กเคานต์หลบหนีไป เบื้องต้นพบว่าเกิดความเสียหายประมาณ 22 ล้านบาท โดยยังมีผู้ร่วมกระทำความผิดอีก 2 ราย คือ น.ส.สุพรรณี ทองคำ ทำหน้าที่ฝ่ายบัญชีมีเอกสารที่ได้รับการโอนเงินจากกลุ่มผู้เสียหาย และนายกวีวัฒน์ โพธิ์ธาเจริญ ที่เป็นโปรแกรมเมอร์คอยดูแลจัดการเรื่องระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทดังกล่าว โดยทั้งสองยังอยู่ระหว่างหลบหนีการจับกุมอยู่ แต่ขณะนี้ทางชุดสืบสวน กก.1 บก.ป.ได้เร่งขยายผลติดตามจับกุมตัวแล้ว
ด้าน พ.ต.อ.อัคราเดชกล่าวว่า จากการตรวจสอบประวัติของนายชลิต พบว่าเคยถูกจับกุมในคดีร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์มาก่อนหน้านี้ ในท้องที่ สภ.เมืองสมุทรสาคร โดยมีพฤติการณ์กระทำความผิดลักษณะคล้ายกัน โดยคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล แต่นายชลิตได้รับการประกันตัวออกมา ก่อนจะลงมือก่อเหตุซ้ำอีก อย่างไรก็ตาม อยากฝากเตือนไปยังผู้ที่คิดจะลงทุนในลักษณะดังกล่าวขอให้อย่าหลงเชื่อและขอให้ตั้งสติว่าการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงแบบนี้ไม่มีจริง และหากไม่มั่นใจขอให้ประสานตรวจสอบข้อมูลต่อทางตำรวจ บก.ป.ก่อนตัดสินใจเพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ
จากการสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ โดยนายชลิตกล่าวว่าจะขอให้การในชั้นศาลเท่านั้น
ขณะที่ นางอุไรวรรณ เหล็กดี อายุ 58 ปี อาชีพประกอบธุรกิจส่วนตัว หนึ่งในผู้เสียหายเปิดเผยว่า เมื่อช่วงกลางปี 2557 ได้รับการชักชวนผ่านเพื่อนซึ่งรู้จักกับนายชลิต ซึ่งเคยทำธุรกิจด้วยกัน แนะนำให้ลงทุนโปรโมตเว็บไซต์ดังกล่าว จึงลองเปิดหน้าเว็บเข้าไปดู จากนั้นก็รับฟังแผนการลงทุน จึงทดลองสมัครเปิดแอ็กเคานต์ ครั้งแรกตอนนั้นจำได้ว่ามีค่าสมัครเพียง 2,500 บาท เมื่อเข้าไปคลิก็จะได้รับค่าตอบแทน 300 บาท คลิกได้เพียง 3 ครั้งต่อเดือนจึงได้รับเงินค่าตอบแทนรวม 900 บาทต่อเดือน เมื่อเห็นว่าได้ผลตอบแทนจริงและไม่ต้องทำอะไรมากแค่มีเงินไปลงทุนเปิดแอ็กเคานต์ จึงตัดสินใจสมัครเปิดแอ็กเคานต์ไป 216 แอ็กเคานต์ จ่ายเงินไป 540,000 บาท เมื่อคำนวณแล้วจะต้องได้รับเงินค่าตอบแทน 194,400 บาท แต่กลับไม่มีการโอนเงินจำนวนนี้มาให้ กระทั่งเดือนธันวาคม 2557 ได้ทวงถามนายชลิตก็อ้างว่าบริษัทกำลังมีปัญหา ขอเลื่อนการจ่ายเงินค่าตอบแทนออกไปเป็นวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา
นางอุไรวรรณกล่าวต่อว่า หลังจากครบกำหนดก็มีการขอเลื่อนกำหนดจ่ายออกไปเป็นวันที่ 1 เมษายนนี้ ตนเริ่มรู้สึกมีพิรุธจึงโทรศัพท์ไปสอบถามแต่ก็ไม่สามารถติดต่อนายชลิตได้อีก เมื่อเดินทางไปที่บริษัทดังกล่าวก็พบว่ามีการขนย้ายข้าวของปิดบริษัทหลบหนีไปแล้ว จึงแน่ใจว่าถูกหลอกลวง ต่อมาจึงได้พบว่ามีผู้เสียหายหลายรายที่ถูกหลอกเช่นเดียวกับตน จึงรวมตัวกันเข้าแจ้งความไว้ที่ บก.ป.ก่อนจะมีการติดตามจับกุมผู้ต้องหาดังกล่าวซึ่งพวกตนได้นัดกันมาชี้ตัวเพื่อดำเนินคดีและอยากฝากเตือนผู้ที่คิดจะลงทุนแบบนี้อย่าได้หลงเชื่อเพราะอาจตกเป็นเหยื่อเช่นเดียวกับตน