xs
xsm
sm
md
lg

โรงพักเริ่มถอนทุนขอจับ “ซ่อง” แนะนำตัว - วางบิลส่วยธุรกิจสีเทา

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


สังคมไทยอาจถึงกับหมดหวัง ตำรวจยุคคืนความสุขยังไม่ยอมปฏิรูป แฉถอนทุนเก้าอี้ ผกก. - สารวัตร กันแล้ว ส่งหัวเบี้ย “ขอจับ” แหล่งธุรกิจสีเทาอย่างทั่วถึง สวนทางปฏิรูปตำรวจไทยที่กำลังเดินหน้า เตือนผู้มีอำนาจอย่าแหกตาประชาชน

หนึ่งในภารกิจสำคัญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลเฉพาะกาลชุดนี้ ก็คือ การปฏิรูปองค์กรตำรวจ ส่วนคำถามว่าหน้าตาจะออกมาแนวไหน ถูกใจประชาชนหรือไม่ เริ่มลงมือกันเมื่อไหร่และจะเสร็จในปีนี้หรือปีมะโว้ล้วนออกมาทำนองนี้ วันก่อน “บิ๊กบราเธอร์” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ดูแลกิจการตำรวจออกมา “ดักคอ” อย่างเนียนๆ ทำนองว่ารัฐบาลไม่ได้กำหนดแนวทางอะไร เป็นเรื่องของตำรวจดำเนินการกันเอง

ผมไม่อยากให้สังคมไปเหมารวมว่าตำรวจบางคนที่ไม่ดีจะทำให้ตำรวจคนอื่นๆ ไม่ดีไปด้วย เนื่องจากองค์กรตำรวจเป็นองค์กรใหญ่ มีทั้งคนดีและคนไม่ดี หากไปกล่าวเช่นนั้นจะทำให้คนดีเขาเสียกำลังใจ

ท่านอธิบายอย่างมีเหตุมีผล แต่สังคมจะเข้าใจอย่างไรนั่นเป็นอีกเรื่อง เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องมีคนดีบ้างล่ะนะ และน่าจะมากกว่าคนไม่ดีแต่การปฏิรูปตำรวจก็คือ หนึ่งในข้อเสนออันดับต้นๆ ของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่ได้ประกาศไว้

การปฏิรูปตำรวจจึงไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เพราะที่ผ่านมานักการเมืองเข้าไปครอบงำและใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้ง ประหัตประหารฝ่ายตรงข้ามอย่างที่รับรู้รับทราบกันอยู่ ภาพประชาชนที่บาดเจ็บล้มตายจากการรวมตัวเรียกร้องน่าจะสะดุดจิตสำนึกของผู้มีอำนาจในยามนี้ได้บ้าง

ตอนจบของการให้สัมภาษณ์ พล.อ.ประวิตร จบดื้อๆ ด้วยการเสนอเงื่อนเวลาว่า 1 ปี ไม่มีวันเสร็จ “รัฐบาลต้องการให้มีการรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย จึงได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในต่างจังหวัดรวมทั้งตู้ ปณ. ของรัฐบาล เรื่องนี้ต้องใช้เวลา ต้องวางแนวทางเพื่อให้รัฐบาลต่อไปเข้ามาดำเนินการต่อ คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาจะดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรตำรวจซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ปีต่างจากการปฏิรูปที่ต้องใช้เวลานาน เป็นคนละเรื่อง ต้องแยกจากกันให้ชัดเจนโดยการปรับโครงสร้าง เช่นการพิจารณาเรื่องกำลังพลว่าหน่วยงานใดมีจำนวนมากหรือน้อยเกินไปอย่างไรก็ต้องมาปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ขอให้สังคมใจเย็นๆ”

บิ๊กบราเธอร์” ขอให้สังคมใจเย็นซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าทุกฝ่ายทุกฝ่ายให้เวลา และเฝ้าจับตาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะมวลชนกลุ่ม “นกหวีด” หรือ กปปส. แน่นอนว่าแม้ขณะนี้จะไม่มีกิจกรรมการเมืองใดๆ แต่ชื่อของ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. คู่กัดในอดีต เป็นนายตำรวจที่จัดเป็นอริเบอร์ต้นๆ สูสีกับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีต ผบช.น.

เฉพาะ พล.ต.อ.วรพงษ์ ได้รับเกียรติจากกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำคนสำคัญป่าวประกาศบนเวทีหลายครั้งว่า หากประชาชนได้รับชัยชนะ นอกจากการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างเร่งด่วนแล้ว นายตำรวจคนแรกที่จะถูกปลดก็คือ “ย้อย” หรือ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา นั่นเอง

แต่วันนี้มีชื่อของรอง ผบ.ตร. ผู้นี้ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปตำรวจด้านแนวทางการกระจายอำนาจ...เรียกว่าสำคัญที่สุดมากกว่ากรรมการชุดใดๆ เลยก็ว่าได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฏฐาธิปัตย์ตกอยู่ในมือผู้มีอำนาจยามนี้ ประชาชนทั้งหลายก็ต้องเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วยความอดกลั้น อดทน พร้อมกับติดตามอย่างใก้ลชิดอย่าให้ใครมาหลอกอย่างเด็ดขาด เพราะก่อนหน้าที่จะพูดเรื่องการปฏิรูปตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยผู้มีอำนาจไม่กี่คนใช้ความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่มีอยู่แก้กฎระเบียบต่างๆ ตามอำเภอใจ เช่น การเพิ่มอำนาจแก่ตำรวจสันติบาล ซึ่งข้ออ้างเรื่องความมั่นคงมาขอให้แก้กฎหมาย เป็นยักษ์มีกระบอง สามารถตรวจค้น - จับกุม และสอบสวน ได้ เฉกเช่นเดียวกับตำรวจหน่วยงานหลักเช่นกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจภาค 1 - 9 และนครบาล

อีกเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากก็คือการเพิ่มอัตรากำลังพลของ “ตำรวจเกณฑ์

สตช. เสนอ ครม. อนุมัติ อยู่ระหว่างออกเป็นกฎหมาย กำลังพลตำรวจจาก 230,000 นาย มีโครงการเพิ่มเป็นตำรวจเกณฑ์ปีละ 10,000 นาย จนกว่าจะครบ 300,000 นาย มีคำถามว่าโครงการนี้ทำไปเพื่ออะไร สตช. และรัฐบาล มีเหตุผลอะไรเนื่องจากอัตราส่วนตำรวจไทย 344 นาย ต่อประชากร 100,000 คน เกินกว่ามาตรฐานปกติแล้วโดยมีข้อมูลการเกลี่ยกำลังพลตำรวจต่อจำนวนประชากรอาเซียน พบว่า อัตราส่วนของบ้านเรายังสูงกว่าประเทศอื่นๆ ด้วย และถ้านำข้อมูลของสหประชาชาติ มาเปรียบเทียบถึงความเหมาะสมอยู่ที่ ตำรวจ 222 นาย ต่อประชากร 100,000 คน

เหตุผลที่ยกมานี้ถ้าคิดว่าจะฟังเสียงประชาชน หรือให้การปฏิรูปตำรวจยึดโยงกับประชาชนท่านน่าจะใจเย็นๆ เหมือนที่ขอกับสังคมไว้

ประชาชนคนไทย สังคมไทยใจเย็นอยู่แล้ว แต่ที่ใจร้อนก็คือพวกท่าน ไม่ทราบว่าเกิดผิดปกติอะไรจึงจัดลำดับความสำคัญไม่ถูก

ตอนนี้กระแสปฏิรูปตำรวจถูกจุดขึ้นมาโดยผู้มีอำนาจ ก็ขอให้ท่านทำด้วยความจริงใจและระมัดระวัง ประสบการณ์ที่ผ่านมาตำรวจคือองค์กรที่ปฏิรูปยากเย็นมากที่สุด ผู้มีอำนาจเข้มมาแล้วไม่รู้โดนนะจังงังอะไร กี่รัฐบาล กี่รัฐประหารองค์กรตำรวจยังอยู่ยั้งยืนยง ไม่มีใครไปแตะหรือทำให้องค์กรตำรวจตอบสนองประชาชนได้อย่างแท้จริง

ทั้งที่งานตำรวจเริ่มต้นจนถึงจบสิ้นก็แค่โรงพักเท่านั้น

ยิ่งมีอำนาจมาก ออกกฎหมายมาบังคับใช้มากๆ ก็ยิ่งมีปัญหาเป็นเงาตามตัว

ระหว่างท่านจุดกระแสปฏิรูปตำรวจ ตอนนี้ตำรวจไทยบางคน บางหน่วยกำลังทำอะไรรู้ไหม ตำรวจบางคนที่เพิ่งโยกย้ายประจำสถานีต่างๆทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เดินจากนามบัตร วางใบเสร็จกันจ้าละหวั่น

บางสถานีปรับค่าส่วยกันใหม่ บางสถานีเริ่มออกจับนัยว่านี่คือการแนะนำตัว บ้างขอจับเป็นพิธีเพื่อใช้เป็นเกราะป้องกันหากมีหน่วยอื่นมาข้องแวะ

เทศกาลขอจับ” จึงมีอยู่ทั่วถ้วน เป็นคดีความขึ้นโรงขึ้นศาล จับแล้วปรับ ปรับแล้วปล่อย สถานอบายมุขใดมี “แบล็กอัพ” ดีหากเชื่อฟังไม่เป็นเด็กดื้อนอกจากทำมาค้าคล่องไม่ติดไม่ขัดแล้วก็ไม่มีใครอยากยุ่งเกี่ยวด้วย หากถ้าเป็นพวก “อันปลั๊ก” หรือแค่ “โฟล์กซอง” จำเป็นต้องหาภูมิคุ้มกันด่วนมิเช่นนั้นอาจเจอตามรีดตามไถ “ขอจับ” ถี่จนไม่สามารถทำมาหากินได้

หากยังไม่เข้าใจว่าการ ขอจับ” คืออะไรขออธิบายพอสังเขปว่า การ “ขอจับ” ก็คือ สมรู้ร่วมคิดกับบรรดาแหล่งอบายมุขทั้งหลายที่ทำมาหากินผิดกฎหมาย มากน้อยสุดแท้แต่ลักษณะกิจการนั้นๆ เช่น บ่อนพนัน ผิดกฎหมายอย่างแน่นอน การส่งส่วยย่อมมีตัวเลขสูงกว่าปกติ เทคนิคป้องกันตัวแบบเก่าแก่ที่มักได้ผลหากเจ้านายเล่นด้วยคือแสร้งเป็นจับ ให้เป็นผลงาน เป็นสถิติว่าเคยกวดขันมาแล้วหากมีความผิดพลาดจากกรณี 1. ถูกสื่อโจมตี 2. กรณีตำรวจนอกหน่วยมาจับ ก็จะใช้อ้างสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง

อย่างไรก็ตาม มีอีกเหตุผลหนึ่งคือการแนะนำตัว อาจจะขอเพิ่มอัตราค่าส่วย อ้างนำไปดูแลกิจการของหน่วย หรือบรรดาเจ้านายซึ่งล้วนเป็นเรื่องหาเหตุ “ไถเงิน” ทั้งสิ้น และเพื่อให้เห็นชัดเจนก็คือภาพข่าวประกอบรายงานชิ้นนี้มีสถานีตำรวจแห่งหนึ่งจับหญิงมั่วสุมเพื่อค้าประเวณีในสถานบริการ ในพื้นที่ กทม.เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้

หากไม่รู้เท่าทันชั้นเชิงก็อาจคิดว่ามีการกวดขัน เข้มงวดกันอย่างจริงจัง หรืออาจกลั่นแกล้งจับเพื่อรีดไถ แต่เปล่าเลย...ในความเป็นจริงนี่แหละคือการ “ขอจับ” อันเป็นเทคนิคโบราณของตำรวจบางกลุ่มที่ต้องการรับส่วยพร้อมกับสร้างหลักฐานเท็จป้องกันตัวเอง

เมื่อผู้มีอำนาจออกปากว่าอีกนานกว่าจะปฏิรูปตำรวจสำเร็จ คนที่จะได้รับผลกระทบก็คือประชาชน พร้อมกับปัญหาสังคมที่ฟอนเฟะ ส่วนตำรวจบางคนบางกลุ่มเชื่อว่าระหว่างนี้คงไม่อดอยากปากแห้งอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น