xs
xsm
sm
md
lg

หักหลัง "พงส."ชายแดนใต้ โดนเบรกย้ายกลับคืนถิ่น

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


จริงอยู่สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พนักงานสอบสวน ยังคงมีความจำเป็นต่อการทำงานด้านการสอบสวน แต่การสั่งชะลอการเดินทางกลับ ไม่ทำตามข้อตกลง ไม่ทำตามเงื่อนไข ที่เขียนบอกไว้ตั้งแต่ต้นถูกต้อง เหมาะสมแล้วหรือ???

แม้การแต่งตั้งโยกย้าย “ตำรวจ” ระดับ สารวัตร(สว.) – รองผู้บังคับการ(รองผบก.) ทั่วประเทศประจำปี 2557 ที่ผ่านมา จะบั่นทอน “ขวัญ” และ”กำลังใจ” ตำรวจจำนวนมาก โดยเฉพาะคนสีกากีสังกัด “นครบาล” และ ”สอบสวนกลาง” ซึ่งถูกย้ายออกนอกหน่วยกันระนาว เป็นประวัติการณ์

บางรายถูกส่งไปอยู่พื้นที่ไกลปืนเที่ยง บางรายโดนเข้ากรุไปนั่งฝ่ายอำนวยการ ไม่ให้ทำงานสัมผัสใกล้ชิดประชาชน

แต่ก็ดูจะบั่นทอน “ขวัญ” และ “กำลังใจ” ไม่เท่า ตำรวจที่ลงไปทำหน้าที่ “พนักงานสอบสวน” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

การย้าย “ล้างบาง” ตำรวจ “นครบาล” เกือบทุกโรงพัก มีที่มาที่ไปจากเรื่องป้ายไฟโฆษณาบนป้อมจราจร ที่ผิดระเบียบ ผิดกฎหมาย ถึงแม้จะยังคลุมเครือว่าตำรวจที่โดนย้ายผิดเองจริงๆ และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าน่าจะเป็นเรื่องการหาเหตุเพื่อจะได้เปิดตำแหน่ง เปิดเก้าอี้ นำตำรวจที่ใกล้ชิดผู้มีอำนาจคุมงานตำรวจในเวลานี้มาลงแทน แต่ตำรวจเหล่านั้นก็ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ป้ายไฟโฆษณาไม่มากก็น้อย

เช่นเดียวกับการย้าย “ล้างบาง” ตำรวจ “สอบสวนกลาง” ก็เป็นผลพวงมาจากพล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีต ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่วางเครือข่ายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เอาไว้ในรูปแบบต่างๆ บางรายฝังรากปักหลักอยู่บนตำแหน่งชนิดไม่ให้คนอื่นได้เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งการปรับย้ายออกไปก็จะทำให้ตำรวจคนอื่นๆได้มีโอกาสเข้ามา “สอบสวนกลาง” ได้เข้ามาแสดงฝีมือบ้าง

“ขวัญ” และ “กำลังใจ” ที่ถูกบั่นทอน ถึงจะมีบ้างแต่ก็เชื่อว่า หาก “ตำรวจ” ที่โดนโยกย้าย ไม่เข้าข้างตัวเอง และทบทวนสิ่งที่ได้กระทำตลอดที่อยู่ในแต่ตำแหน่ง ก็คงต้องรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากอะไร และเข้าใจ วัฎจักรสีกากีที่ว่า “สมบัติผลัดกันชม” ซึ่งน่าจะนำให้พอทำใจได้

หากนำมาเปรียบกับ “ขวัญ” และ”กำลังใจ” ของพนักงานสอบสวนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องบอกว่าห่างไกลอย่างฟ้ากับเหว เพราะ “ขวัญ” และ “กำลังใจ” ที่ถูกปั่นทอนครั้งนี้ เกิดจากความรู้สึกถูกผู้บังคับบัญชา “หักหลัง” ทั้งๆ ที่พนักงานสอบสวนเหล่านั้น “เสียสละ” เพื่อองค์กร “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” อย่างมาก และไม่ได้ทำผิดอะไรสักนิดเดียว

หากจำกันได้ในช่วงปลายปี 2555 เชื่อมต่อต้นปี 2556 ในยุคที่พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว นั่งเก้าอี้ “ผบ.ตร.” เกิดปัญหาการขาดแคลนกำลังพลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะตำแหน่ง “พนักงานสอบสวน” เพื่อนำไปทำสำนวนการสอบสวนคดีความมั่นคง จึงแก้ปัญหาด้วยการเปิดรับสมัครใจ “พนักงานสอบสวน” ทั่วประเทศ ลงไปทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ปรากฏว่า มี ”พนักงานสอบสวน” สมัครใจลงไปทำงานด้ามขวานทองไม่มากเท่าไหร่ ทำให้แต่ละกองบัญชาการต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้วิธี “จับสลาก” พนักงานสอบสวน ลงไปทำงานในพื้นที่ภาคใต้ ควบคู่กับการ “สมัครใจ” ซึ่งก็ทุลักทุเลกว่าจะได้พนักงานสอบสวนครบตามจำนวนที่ต้องการ

ถึงขนาดกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ที่พล.ต.ท.กวี สุภานันท์ นั่งเก้าอี้ “ผบช.ภ.4” ช่วงนั้น เกิดเรื่องเกิดราวอื้อฉาว เพราะพ.ต.ท.ไขแสง ถวิลวงษ์ พนักงานสอบสวน สภ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น ไปร้องทุกข์กล่าวโทษผู้บังคับบัญชาที่มีคำสั่งให้จับสลากเฉพาะพนักงานสอบสวนให้ลงไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จนมีการตั้งกรรมการสอบสวนวินัยกันเป็นเรื่องฉาวโฉ่

สุดท้ายก็ผ่านพ้นไป พล.ต.อ.อดุลย์ ออกคำสั่ง ตร.ลงวันที่ 28 ธ.ค.2555 ให้ข้าราชการตำรวจรักษาการแทน พนักงานสอบสวนตำแหน่งต่างๆ ในสังกัด ศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดชายแดนใต้(ศชต.) โดยมีกำหนดระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ 7 ม.ค.2556 เป็นต้นไป จำนวน 29 ราย และคำสั่งลงวันที่ 8 ม.ค.2556 ให้ตำรวจไป รักษาการพนักงานสอบสวน ตำแหน่งต่างๆ ในสังกัด ศชต. โดยมีกำหนดระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่10 ม.ค.2556 จำนวน 106 ราย อีกชุดหนึ่ง

พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งช่วงนั้นยังเป็น ที่ปรึกษา(สบ.10) คุมงาน ศชต. บอกเงื่อนไข “พนักงานสอบสวน” ที่ลงพื้นที่ไปปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ว่า “จะได้รับพิจารณาอายุราชการแบบทวีคูณ เพื่อนำมาใช้ในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย เพื่อเลื่อนตำแหน่งในระดับสูงขึ้น”

นับจากช่วงนั้นที่ออกคำสั่ง จนถึงวันที่ 10 ม.ค.2558 ทั้ง 2 คำสั่ง ก็ครบกำหนดตามกำหนดระยะเวลาเรียบร้อย “พนักงานสอบสวน” ที่ลงไปทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ น่าจะได้กลับขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น ตามเงื่อนไขอายุราชการแบบทวีคูณ

แต่ “ขวัญ” และ “กำลังใจ” พนักงานสอบสวนทั้ง 130 ราย ที่ลงไปทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ก็โดนบั่นทอนหรืออาจจะถึงขั้น “พังทลาย” ทุกอย่างไม่เป็นไปตาม “ข้อตกลง”

พล.ต.ท.อนุรุต กฤษณะการะเกตุ ผบช.ศชต. ทำบันทึกเสนอ ตร.เพื่อขออนุมัติให้พนักงานสอบสวนทั้ง 130 ราย รักษาการพนักงานสอบสวน ต่อเนื่องต่อไป โดยอ้างเพื่อให้การปฏิบัติงานด้านสอบสวนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้ชะลอการเดินทางกลับต้นสังกัดไว้ก่อน

จริงอยู่สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พนักงานสอบสวน ยังคงมีความจำเป็นต่อการทำงานด้านการสอบสวน แต่การสั่งชะลอการเดินทางกลับ ไม่ทำตามข้อตกลง ไม่ทำตามเงื่อนไข ที่เขียนบอกไว้ตั้งแต่ต้นถูกต้อง เหมาะสมแล้วหรือ???

การทำงานในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ พื้นที่ที่ต้องใช้ “ขวัญ” และ “กำลังใจ” ในการทำงานอย่างมาก การไม่ทำตามข้อตกลง ชนิดเหมือน “หักหลัง”

พนักงานสอบสวนเหล่านี้จะรู้สึกอย่างไร

ตามหน้าที่ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” เชื่อว่าทุกคนหัวจิต หัวใจ พร้อมที่จะทำงานเพื่อประชาชนต่ออย่างไม่มีอะไรเคลือบแคลงสงสัยในตัวแต่ละคน แต่ลึกๆแล้วเชื่อว่าทุกคนท้อใจ ไม่ได้ท้อใจในการทำงาน แต่ท้อใจในผู้บังคับบัญชาที่ไม่ทำตามสัญญาอย่างแน่นอน

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง แม่ทัพใหญ่สีกากี อยากให้เป็นเช่นนั้นหรือ???
กำลังโหลดความคิดเห็น