ปปง.แถงผลการยึด-อายัดทรัพย์ “พงศ์พัฒน์” เพิ่มอีก 105 รายการ รวมมูลค่ากว่า 25 ล้านบาท ทั้งธนบัตรสกุลเงินต่างๆ เครื่องประดับพร้อมอายัดที่ดินจำนวน 33 แปลงของ “เสี่ยโจ้” มูลค่า 50 ล้านบาทซึ่งได้มาจากค้าน้ำมันเถื่อน
วันนี้ (15 ม.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. แถลงผลการยึดทรัพย์สินของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีต ผบช.ก.เพิ่มเติมอีกจำนวนกว่า 105 รายการ มูลค่ากว่า 25 ล้านบาท การตรวจยึดทรัพย์สินเพิ่มเติมครั้งนี้สามารถตรวจยึดธนบัตรสกุลดอลลาร์สหรัฐอเมริกา จำนวน 2,087 ฉบับ เป็นเงินไทย 5,493,017.36 บาท ธนบัตรไทย จำนวน 1,674,680 บาท ธนบัตรสกุลปอนด์ จำนวน 37,080 ปอนด์ เป็นเงินไทย 1,858,508.92 บาท ธนบัตรสกุลยูโร จำนวน 27,180 ยูโร เป็นเงินไทย 1,096,261.20 บาท ชุดเชี่ยนหมากทองคำ น้ำหนักประมาณ 2 กรัม จำนวน 16 ชิ้น ราคาประเมิน 490,000 บาท สร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองคำ 1 องค์ จำนวน 1 เส้น ราคาประเมิน 137,000 บาท และเครื่องลายครามมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีทรัพย์สินอื่นๆ อีกจำนวนกว่า 80 รายการ เช่น งาช้างแกะสลัก, กำไลงาช้าง, ชุดเครื่องประดับคล้ายทองคำ, พระเลี่ยมทองล้อมเพชร, นาฬิกาคล้ายทองฝังเพชร เป็นต้น ที่อยู่ระหว่างการประเมินราคา และคาดว่ามีมูลค่าหลายล้านบาท โดยจากการตรวจสอบทรัพย์สินพบว่าอดีต ผบช.ก.กับพวกซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดมูลฐานเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินที่มูลค่าสูงจำนวนมาก เป็นเรื่องที่ผิดปกติธรรมดาทั่วไปของข้าราชการที่มีเงินเดือนไม่มากนัก แต่มีทรัพย์สินจำนวนมากเกินฐานะ ประกอบกับเชื่อว่าทรัพย์สินดังกล่าวได้มาในช่วงที่มีการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และเริ่มมีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและความผิดเกี่ยวกับการพนันอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) และ (9) และมีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ตามมาตรา 5 ประกอบมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ทรัพย์สินต่างๆ ที่ได้มาดังกล่าว จึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ตามมาตรา 3 และเนื่องจากทรัพย์สินในคดีนี้ประกอบด้วยสังหาริมทรัพย์ที่สามารถโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้น ได้โดยง่าย หากมิได้มีการยึดไว้ชั่วคราว ต่อมาเมื่อศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สำนักงาน ปปง.อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ ดังนั้นคณะกรรมการธุรกรรมจึงมีมติให้ยึดทรัพย์สินจำนวน 105 รายการดังกล่าวไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน ตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
พ.ต.อ.สีหนาทกล่าวต่อว่า ส่วนคดีนายสหชัย เจียรเสริมสิน หรือเสี่ยโจ้ กับพวก สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2555 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดแถลงข่าวการจับกุมเรือโชคนำชัย 2 เรือประมงดัดแปลงเพื่อบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง มีน้ำมันดีเซลประมาณ 2,000 ลิตรอยู่ในลำเรือ แต่ไม่มีใบอนุญาตขนถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และจากการตรวจค้นภายในเรือยังพบเงินที่ใช้สำหรับซื้อน้ำมันเถื่อนอีก เป็นสกุลเงินมาเลเซีย จำนวน 4.8 ล้านริงกิต หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 50 ล้านบาท อยู่ในกล่องกระดาษจำนวน 6 กล่อง เจ้าหน้าที่จึงได้ยึดไว้พร้อมควบคุมตัวนายบุญเกิด มะณี ไต้ก๋งหรือผู้ควบคุมเรือ และลูกเรืออีก 4 คน มาทำการสอบสวน ในเบื้องต้นทุกคนให้การรับสารภาพว่า ทำหน้าที่เพียงวิ่งส่งน้ำมันเถื่อนให้แก่ลูกค้าเท่านั้น โดยเรือลำดังกล่าวเป็นของ “เสี่ยโจ้” เจ้าหน้าที่ได้คุมตัวไต้ก๋งและลูกเรือพร้อมแจ้งข้อหาว่าร่วมกันนำเรือพาของ (น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล) ที่ยังมิได้เสียภาษี หรือที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักร หรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆ ในการนำของ (น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล) ที่นำเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งของ (น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล) อันตนรู้ว่าเป็นของ (น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล) ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงอากรและควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลาดำเนินคดีตามกฎหมาย
ต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้กองบัญชาการสอบสวนกลางเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนี้แทน ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยพนักงานสอบสวนดำเนินการขอให้ศาลออกหมายจับผู้ต้องหาจำนวน 5 คน ได้แก่ นายพร สายนคร, นายมวน แสนสุข, นายบุญเกิด มะณี, นายประเชิญ แก้วพิจิตร และนายสมจิตร์ เสาร์นอก ในความผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 และต่อมาได้ขอให้ศาลออกหมายจับนายสหชัย หรือโจ้ เจียรเสริมสิน, นางอัญญมาลย์ ชาวไร่อ้อย, น.ส.แตงไทย บ้านมะหิงษ์, น.ส.ปริญญาพร เจียรเสริมสิน, นายฉัตรชัย บ้านมะหิงษ์, นางลดาวรรณ ธนูสังข์, นางศิริวรรณ สมบูรณ์ และนางสีอรุณ อินทรยง (เพิ่มเติม) ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (7) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542” ซึ่งทางสำนักงาน ปปง.ได้ตรวจสอบทรัพย์สินของนายสหชัย จนพบว่านางอัญญมาลย์ ชาวไร่อ้อย ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญา ที่ 1671/2557 ในข้อหาร่วมกันนำเรือพาของ (น้ำมันเชื้อเพลิง) ที่ยังมิได้เสียภาษี หรือที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักร หรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆ ในการนำของ (น้ำมันเชื้อเพลิง) ที่นำเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งของ (น้ำมันเชื้อเพลิง) อันตนรู้ว่าเป็นของ (น้ำมันเชื้อเพลิง) ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร และยังเป็นภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของนายสหชัย ได้มีการซื้อที่ดินจำนวน 33 แปลงในพื้นที่จังหวัดสงขลา และจังหวัดปัตตานี มูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท ภายหลังที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ดังกล่าว ที่ดินทั้ง 33 แปลงดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และเนื่องจากเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถโอนทางทะเบียนได้โดยง่าย หากมิได้มีการอายัดไว้ชั่วคราวอาจมีการโอนทางทะเบียนไปให้บุคคลภายนอกได้อีก ดังนั้นคณะกรรมการธุรกรรมจึงมีมติให้อายัดที่ดิน จำนวน 33 รายการ มูลค่าประมาณ 50 ล้านบาทดังกล่าวไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
พ.ต.อ.สีหนาทกล่าวอีกว่า สำหรับคดีของนายสมโภชน์ ศรีใหม่ กับพวก คดีนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากที่คณะกรรมการธุรกรรม ในคราวประชุมครั้งที่ 17/2557 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2557 ได้มีมติให้ยึดทรัพย์สินของนายสมโภช ศรีใหม่ นางลำใย ศรีใหม่ และนายอัมรินทร์ อยู่สุขดี จำนวน 13 รายการ ไว้ชั่วคราวมีกำหนดไม่เกิน 90 วัน ตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นบุคคลที่มีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันมีลักษณะเป็นการค้า ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (15) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2557 พนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณที่สาธารณประโยชน์ โคกหนองกรุง-หนองแก้ว อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา พบว่ามีการปลูกปลูกอ้อยในพื้นที่ดังกล่าวเป็นจำนวนมากเพื่อขายให้กับโรงงานน้ำตาล โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมายหรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นความผิดฐานเข้าไปยึดถือหรือครอบครองที่ดินของรัฐซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชน ใช้ประโยชน์ร่วมกันตามมาตรา 9 (1) ประกอบกับมาตรา 108 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นกระบวนการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันมีลักษณะเป็นการค้าซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน ตามมาตรา 3 (15) ดังกล่าว ซึ่งจากการรวบรวมพยานหลักฐานของสำนักงาน ปปง.ทำให้ทราบข้อเท็จจริงว่าโดยสรุปว่าในพื้นที่สาธารณประโยชน์โคกหนองกรุง-หนองแก้ว ดังกล่าวนั้น นางลำใย ศรีใหม่ (ภรรยาของนายสมโภช ศรีใหม่) และนางภริดา พลสม (ภรรยาของนายอัมรินทร์ อยู่สุขดี) ได้ขึ้นทะเบียนอ้อยในปีการผลิต 2557-2558 ไว้กับโรงงานน้ำตาลครบุรี โดยมีการทำสัญญาว่าต้องตัดอ้อยและส่งขายให้กับโรงงานน้ำตาลครบุรีเท่านั้น ส่วนอ้อยที่ปลูกนั้นมีพื้นที่รวมกันกว่า 1,000 ไร่ และปัจจุบันอยู่ในช่วงที่กำลังมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อส่งไปขายให้กับโรงงานน้ำตาลฯ ตามสัญญาดังกล่าว เมื่อมีการขายอ้อยได้เงินจำนวนเท่าใด โรงงานน้ำตาลจะหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นไว้ก่อน แล้วจึงจ่ายเงิน ที่เหลือให้แก่นางลำไย ศรีใหม่ และนางภริดา พลสม จึงเป็นกรณีที่นางลำใย ศรีใหม่ และนางภริดา พลสม เป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับเงินขายอ้อยดังกล่าวจากโรงงานน้ำตาล โดยสิทธิเรียกร้องในเงินค่าขายอ้อยดังกล่าวนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และหากนางลำไย ศรีใหม่ และนางภริดา พลสม ได้รับเงินตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ก็อาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้น ได้โดยง่าย ดังนั้น คณะกรรมการธุรกรรมจึงมติให้อายัดสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับเงินตามสัญญาขายอ้อยที่นางลำใย ศรีใหม่ และนางภริดา พลสม ทำไว้กับโรงน้ำตาล เฉพาะส่วนที่นางลำใย ศรีใหม่ และนางภริดา พลสม พึงมีสิทธิได้รับไว้ชั่วคราว เป็นเงินประมาณ 10 ล้านบาท มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน ตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 อย่างไรก็ตาม ในกรณีผู้ซึ่งถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินดังกล่าวประสงค์จะขอให้มีการเพิกถอนคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินดังกล่าวนั้น ก็มีช่องทางที่ดำเนินการได้ตามกฎหมาย โดยให้ยื่นคำขอต่อเลขาธิการ ปปง. พร้อมด้วยหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่แสดงว่าเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดดังกล่าวนั้น มิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ทั้งนี้ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือทราบคำสั่งยึดหรืออายัดจากสำนักงาน ปปง. โดยสำนักงาน ปปง.จะเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการธุรกรรมเพื่อพิจารณาว่าเพิกถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินแต่ละรายการนั้น หรือไม่ อย่างไร
พ.ต.อ.สีหนาทกล่าวต่อว่า ในกรณีรถของนายปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ หรือบอย ดารานักแสดงชื่อดังนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการนัดวันอาจจะนำรถเข้ามาส่งมอบให้ทาง ปปง. ภายในสัปดาห์หน้า แต่ทางนายปกรณ์ได้ทำเรื่องยื่นหนังสือข้อโต้แย้งสิทธิ์เข้ามาเพื่อชี้แจ้งแล้ว ทาง ปปง.จะมีการเรียกนายปกรณ์เข้ามาสอบสวนถึงที่มาของเงินที่นำไปซื้อรถอีกครั้งเพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าเป็นรายได้ที่ได้มาอย่างสุจริตหรือไม่ ส่วนในเรื่องของเส้นทางการเงินของขบวนการ สจล.นั้น อย่างที่ได้มีการแถลงข่าวไปในครั้งที่แล้วว่าทาง ปปง.ได้ตรวจสอบจนพบเครือทางการเงินเครือข่ายใหญ่ ทางปปง.ยังคงต้องขอเวลาเพื่อตรวจสอบยึดทรัยพ์เสียก่อนจึงจะมีการแถลงข่าวอีกครั้ง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินนั้นทราบหรือไม่ว่าใครเป็นบอส หรือหัวหน้าขบวนการนี้ พ.ต.อ.สีหนาทตอบว่า จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินนั้นทราบแค่ว่าใครเป็นศูนย์กลางในการโอนถ่ายเงิน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นหัวหน้าขบวนการหรือไม่ คนที่เป็นศูนย์กลางในการโอนถ่ายเงินอาจจะไม่ใช่หัวหน้าก็เป็นได้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ของอดีต ผบช.ก.ว่ามีการนำเงินไปทำธุรกรรมที่ต่างประเทศหรือไม่ พ.ต.อ.สีหนาทตอบว่ายังไม่พบการนำทรัพย์สินออกไปทำธุรกรรมใดๆ ที่ต่างประเทศ
พ.ต.อ.สีหนาทกล่าวต่ออีกว่า ขอแจ้งเตือนไปยังผู้ที่ถูกอายัดทรัพย์สิน ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์สิน และประชาชนโดยทั่วไปว่าการยักย้าย ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งเอกสารหรือบันทึก ข้อมูล หรือทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานยึดหรืออายัดไว้ หรือที่ตนรู้ หรือควรรู้ว่าจะตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นความผิดทางอาญา และมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ว่าก่อน ขณะหรือหลังการกระทำความผิดมิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน หรือกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาแหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใดๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นก็เป็นความผิดทางอาญาด้วยเช่นกัน และมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับ ตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับนอกจากนี้ ขอให้ประชาชนระมัดระวังอย่าตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อมิจฉาชีพที่มาหลอกลวงว่าท่านเป็นเครือข่ายของผู้ที่ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินดังกล่าวและหลอกให้โอนเงินเพื่อช่วยเหลือคดี เนื่องจากการกล่าวอ้างดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด อย่าได้หวาดกลัวและหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของคนร้ายอย่างเด็ดขาด และหากผู้ใดพบความผิดปกติ ก็ควรรีบวางสายโทรศัพท์ หรือให้รีบติดต่อสายด่วน ปปง. โทร. 1710 ทันที