xs
xsm
sm
md
lg

ตัวแทนเชิด - เชิดเงินแรงงานไทย : ใครรับผิด ?

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

หลายครั้งที่เราได้ยินข่าว...ตัวแทนของบริษัทจัดหางานหรือกรณีนายหน้าที่ในวงการเรียกกันว่าสายเถื่อน รับเงินจากแรงงานไทยหรือคนหางานที่ประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศแล้ว แต่ไม่สามารถจัดส่งให้ไปทำงานตามที่ตกลงกันได้ แถมไม่ยอมคืนเงินที่เรียกเก็บ เช่นเดียวกับคดีที่ครองธรรมนำมาคุยกันในวันนี้ ซึ่งกรมการจัดหางานได้ยื่นฟ้องบริษัทจัดหางานแห่งหนึ่งต่อศาลปกครอง เนื่องจากตัวแทนเชิดของบริษัทได้เชิดเงินของผู้สมัครงานไปใช้ส่วนตัว เรื่องนี้จะลงเอยอย่างไร และแรงงานไทยจะได้เงินคืนหรือไม่ มาติดตามกันครับ...

คดีนี้บริษัทจัดหางานเกรท ซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานให้ประกอบกิจการจัดหางานให้คนหางานไปทำงานต่างประเทศ ตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 โดยมีธนาคารเอเข้าผูกพันเป็นผู้ค้ำประกันต่อนายทะเบียนจัดหางานกลางจำนวน 5 ล้านบาท ในกรณีหากต้องมีการเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้หางานอันเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของบริษัทจัดหางาน นายทะเบียนจัดหางานมีอำนาจตามกฎหมายในการที่จะสั่งหักหลักประกันตามสัญญาค้ำประกันจากธนาคารเอได้

ต่อมานายเมษาและนางราตรี ซึ่งเป็นลูกจ้างจดทะเบียนของบริษัทจัดหางานเกรท และนายสีเทา ซึ่งมิใช่ลูกจ้างของบริษัทดังกล่าว ได้มาชักชวนนายเจมมาและพวกรวม 23 คน ให้สมัครงานเพื่อไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล โดยเรียกรับเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายจากบุคคลดังกล่าวเป็นเงินคนละประมาณ 190,000 บาท ครั้นเมื่อถึงกำหนดเวลาตามสัญญาสมัครงาน บริษัทกลับไม่สามารถจัดส่งนายเจมมาและพวกให้ไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลได้ตามที่ตกลง

“งานก็ไม่ได้ทำ เงินก็จ่ายไปแล้ว” นายเจมมาและพวกบ่นพรึมพรำ แถมบางรายไปกู้เงินมาด้วย สุดท้ายจึงพากันไปร้องทุกข์ต่อกรมการจัดหางานเพื่อเรียกให้บริษัทดังกล่าวคืนเงินที่เรียกเก็บไป

บริษัทเกรทได้ยินยอมคืนเงินให้แก่ผู้หางานจำนวน 16 ราย แต่ปฏิเสธไม่ยอมคืนเงินให้แก่ผู้หางานอีก 7 ราย ที่ได้จ่ายเงินให้แก่นายสีเทา โดยอ้างว่านายสีเทาไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนจดทะเบียนของบริษัท และเงินที่เรียกเก็บไปนั้น นายสีเทาก็ได้เก็บไว้เองเป็นส่วนตัว ไม่ได้ส่งให้บริษัทแต่อย่างใด

กรมการจัดหางานจึงทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเห็นว่า นายสีเทาเป็นตัวแทนเชิดของบริษัทเกรท บริษัทจึงต้องรับผิดในการกระทำของนายสีเทาด้วย นายทะเบียนจัดหางานกลางจึงมีหนังสือแจ้งคำสั่งหักหลักประกันและให้ธนาคารเอผู้ค้ำประกันชำระเงินภายใน 7 วัน เมื่อครบกำหนดธนาคารเอก็มิได้นำเงินมาชำระ อีกทั้งบริษัทเกรทได้ยื่นอุทธรณ์ต่อปลัดกระทรวงแรงงานว่า นายสีเทาเป็นนายหน้าจัดหางานอิสระ โดยได้จัดส่งคนหางานให้แก่บริษัทจัดหางานหลายแห่ง และกรณีผู้หางานทั้ง 7 รายนั้น นายสีเทาได้นำเงินไปใช้ส่วนตัว ปลัดกระทรวงแรงงานพิจารณาแล้วยกอุทธรณ์ กรมการจัดหางานจึงมีคำสั่งแจ้งให้ธนาคารเอนำเงินมาชำระอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่มีการชำระ สุดท้ายกรมการจัดหางานจึงนำเรื่องมาฟ้องต่อศาลปกครอง

คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องกันโดยวินิจฉัยว่า บทบัญญัติของ พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 กำหนดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะในการคุ้มครองคนหางานมิให้ถูกเอาเปรียบ จึงมีข้อกำหนดให้บริษัทจัดหางานจะต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง ซึ่งใบอนุญาตดังกล่าวถือเป็นคำสั่งทางปกครอง รวมทั้งบังคับให้บริษัทจัดหางานต้องมีหลักประกันการปฏิบัติตามกฎหมาย และให้นายทะเบียนจัดหางานกลางมีอำนาจหักเงินจากหลักประกันดังกล่าวได้ ในกรณีที่บริษัทจัดหางานไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย นิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจึงอาศัยอำนาจตามกฎหมายจัดหางานและคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายปกครอง

แม้ว่าสัญญาค้ำประกันที่ธนาคารเอทำไว้กับนายทะเบียนจัดหางานกลาง จะมีรูปแบบของสัญญาเป็นสัญญาทางแพ่ง ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งว่าต้องบังคับชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อศาลยุติธรรม แต่เมื่อพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่กำหนดให้ต้องมีการทำสัญญาค้ำประกันแล้วจะเห็นได้ว่า มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองคนหางานให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ผู้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน อันเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ หนังสือค้ำประกันของธนาคารจึงถือเป็นสัญญาทางปกครอง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง
การที่กรมการจัดหางานจะใช้สิทธิเรียกร้องค่าบริการและค่าใช้จ่ายจากหลักประกันของธนาคารเอคืนให้แก่คนหางาน ศาลต้องวินิจฉัยก่อนว่าบริษัทจัดหางานเกรทต้องรับผิดหรือไม่ และย่อมมีอำนาจพิจารณาความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันของธนาคารเอ

จากข้อเท็จจริงตามที่พิพาท คนหางาน 7 คน ได้มาสมัครงาน พูดคุยรายละเอียด มีการพาไปตรวจโรค พาไปเรียนภาษา และได้ชำระเงินกับนายสีเทาภายในสำนักงานของบริษัทจัดหางานเกรท อันแสดงให้เห็นว่านายสีเทาเชิดตัวเขาเองแสดงเป็นตัวแทนของบริษัทเกรท รวมทั้งผู้หางานที่ได้เงินคืนจากบริษัทบางรายก็เป็นผู้ที่สมัครงานกับนายสีเทา จึงเชื่อได้ว่า บริษัทเกรทได้เชิดนายสีเทาให้เป็นตัวแทนของตนในการดำเนินการรับสมัครงานและเรียกเก็บค่าบริการ ฉะนั้นบริษัทจึงต้องรับผิดต่อคนหางานซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่านายสีเทาเป็นตัวแทนของตน ข้ออ้างที่ว่านายสีเทาดำเนินการรับสมัครงานเป็นการส่วนตัว จึงไม่อาจรับฟังได้

บริษัทเกรทจึงต้องคืนเงินที่เรียกเก็บแก่คนงานทั้ง 7 คน เมื่อคดีนี้กรมการจัดหางาน (ผู้ฟ้องคดี) ประสงค์ฟ้องบังคับเอาเงินจากหลักประกันที่วางไว้ตามสัญญาค้ำประกัน ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาให้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยคืนแก่ผู้ฟ้องคดี ภายใน 60 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด (คดีหมายเลขแดงที่ อ.385/2557)

เป็นอันว่า... หากบริษัทจัดหางานยินยอมให้นายหน้ามาดำเนินการรับสมัครงานภายในบริษัทของตน ในลักษณะที่รับรู้ จะอ้างว่าไม่ใช่ตัวแทนจดทะเบียนของบริษัท ก็ไม่อาจพ้นความรับผิดตามกฎหมายได้นะครับ

ครองธรรม ธรรมรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น