xs
xsm
sm
md
lg

สยอง!มูลนิธิฯเก็บศพทั้งคืน ยัดแน่นรถเช้าค่อยส่งนิติเวช เบิกค่าสัปเหร่อหัวละ500-1พัน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ครอบครัวของนายอดิเทพ พิริยะกุล อาสาสมัครมูลนิธิปอเต็กตึ้ง ถูกอาสาสมัครมูลนิธิร่มไทรยิงเสียชีวิต ร่ำไห้เสียใจ (แฟ้มภาพ)
เผยเหตุขัดแย้งมูลนิธิกู้ภัยถูกกีดกันห้ามเก็บศพ กติกาโคตรแปลกให้ “ปอเต็กตึ้ง – ร่วมกตัญญู”ผูกขาดเก็บศพ ส่วน “ร่มไทร”แค่ช่วยคนเจ็บ เจอทีเด็ดอาสาตัวดี “ใบเคส”หรือใบเสร็จบันทึกการเก็บศพมีค่าหัว 500-1 พันบาท สุดแสบตระเวนเก็บศพสะสมทั้งคืนรวมยอดให้เยอะจนคุ้มค่าน้ำมันก่อนส่งแช่ตู้เย็นนิติเวชฯ ด้าน“กู้ภัยร่มไทร”วอนสังคมให้ความเป็นธรรม ยันเหตุกระทบกระทั่งเป็นเรื่องของบุคคลไม่เกี่ยวแย่งผลประโยชน์

ผ่านไปเพียงเดือนเดียวศึก 2 มูลนิธิฯดังเกิดเขม่นทำท่าลุกลามเป็นเรื่องใหญ่โตอีกครั้งทำให้สังคมต้องตั้งคำถามซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าสาเหตุมาจากอะไรกันแน่ และใครจะเป็นผู้ยุติความขัดแย้งไม่ให้เหล่าจิตอาสาทั้งหลายกลายเป็นอันธพาลสร้างความวุ่นวายในบ้านในเมืองเสียเอง

2 มูลนิธิฯที่ว่าก็คือปอเต็กตึ้ง ในฐานะพี่ใหญ่ของวงการคนเก็บศพ หรือที่พัฒนามาเป็นหน่วยกู้ภัยช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ที่ประสบอุบัติภัยทุกรูปแบบ อีกมูลนิธิหนึ่งคือ “กู้ภัยร่มไทร”น้องใหม่อันดับสาม ของภารกิจที่คล้ายคลึงกัน

หลังเกิดเหตุนายอดิเทพ พิริยะกุล อายุ 23 ปีอาสาสมัครมูลนิธิปอเต็กตึ้งถูกอาสาสมัครมูลนิธิกู้ภัยร่มไทร กระหน่ำยิงจนเสียชีวิตเหตุเกิดหน้าหมู่บ้านโฮมเพลส ปากซอยรามคำแหง 140 เขตสะพานสูง กทม.เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา จนล่าสุดกลางดึกวันที่ 3 ม.ค.2558 ข้ามปีมาเพียงไม่กี่วัน อาสากู้ภัยของ 2 มูลนิธิฯซึ่งล้วนอยู่ในวัยหนุ่มเกิดกระทบกระทั่งกันอีก มีการชูนิ้วกลางให้ของลับกันจนต่างฝ่ายต่างยกพวกขับรถปาดหน้าปาดหลัง และลงมือลงไม้บาดเจ็บกันพอหอมปากหอมคอจนเป็นคดีความขึ้นโรงพักกันอีกครั้ง

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยครั้งโดยมีสมมุติฐานมาจากเรื่องผลประโยชน์ทำให้มูลนิธิฯเกิดความขัดแย้งกันโดยทีมข่าวอาชญากรรม astv ผู้จัดการนำเสนอมาอย่างต่อเนื่องเจาะลึกลงไปให้เห็นภาพต่างๆให้ชัดเจนยิ่งขึ้นโดยเฉพาะความเป็นมาของมูลนิธิกู้ภัยร่มไทร ซึ่งจัดความสำคัญเป็นลำดับที่สามของวงการกู้ภัยในระดับประเทศ และนอกจากเรื่องราวที่ควรทราบแล้วยังมีข้อมูลตีแผ่เรื่องผลประโยชน์ต่างๆที่สังคมส่วนใหญ่ยังเชื่อว่านั่นคือปัจจัยหลักของความขัดแย้งทั้งหมด

จุดกำเนิดของมูลนิธิกู้ภัยร่มไทร มาจากตำรวจชั้นประทวนคนหนึ่งที่รับราชการประจำอยู่ สน.มีนบุรี รับรู้ปัญหาและความขาดแคลนต่างๆในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เมื่อยามเกิดเหตุคับขัน ตำรวจผู้นั้นคือ ดต.พูลวิทย์ สุวรรณวารีปัจจุบันเกษียณอายุราชการไปหลายปีแล้วโดยทุกครั้งเมื่อออกเวรยาม ดาบพูลวิทย์ มักจะแวะเวียนมาพูดคุยกับเพื่อนตำรวจที่ป้อมยามมีนบุรี ซึ่งเดิมทีเพียงแค่พูดคุยกันเล่นฐานะคนชอบนอนดึกแต่เป็นที่น่าสังเกตว่าทุกคืนมีอุบัติเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเสมอจากที่มาคุยเล่น ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในบางครั้งบางคราวจึงกลายเป็นนำรถปิกอัพส่วนตัวมาจอดรอประจำจุดป้อมยามสี่แยกมีนบุรี เพื่อทำหน้าที่อาสากู้ภัยกันอย่างจริงจังแต่ก็ยังขาดแคลนเครื่องไม่เครื่องมือ เป็นจิตอาสาอย่างตามมีตามเกิด

กลับไปกว่า 20 ปีสภาพบ้านเมืองแถบมีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง มิได้เป็นอย่างปัจจุบัน ถนนหนทางทุกเส้นทั้งรามอินทรา สุวินทวงศ์ นิมิตใหม่ สุขาภิบาล 1-2 และ3 (ปัจจุบันเป็นถนนรามคำแหง ถนนเสรีไทยและถนนนวมินทร์)ยังเป็นถนนราดยางแค่ 2 เลนให้รถวิ่งสวนไปมา แน่นอนว่ายามดึกถนนโล่งเมื่อผู้ขับขี่ใช้ความเร็วอุบัติเหตุร้ายแรงจึงเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ดาบพูลวิทย์ กับสมัครพรรคพวกราว 6-7 คนยังคงบำเพ็ญตนเป็นพวกจิตอาสาบริการสังคมอย่างเงียบๆไม่เป็นที่รู้จักเว้นแต่ตำรวจร่วมสถานี หรือมูลนิธิปอเต็กตึ้ง และร่วมกตัญญู ที่ผ่านไปแถวนั้นจะทราบดีว่ามีอาสากู้ภัยโดยดาบพูลวิทย์ อาสามาดูแลพื้นที่ชานเมืองแถบตะวันออก

จนพ.ศ.2536 พ.ต.ท.พินิต มณีรัตน์สวญ.สน.มีนบุรี คนใหม่ในขณะนั้นเข้ามารับตำแหน่ง(ปัจจุบันเลื่อนยศเป็นพล.ต.ต. ตำแหน่ง ผบก.จ.มหาสารคาม ) การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของอาสากู้ภัยโนเนมที่เป็นกิจกรรมของตำรวจตัวเล็กๆกลายเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาเมื่อสารวัตรใหญ่คนใหม่ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นนักพัฒนา-ประชาสัมพันธ์ตัวยงออกตรวจท้องที่ผ่านไปยังสี่แยกมีนบุรี ก็พบดาบพูลวิทย์ กับสมัครพรรคพวกก้มๆเงยๆตรวจสภาพความพร้อมของรถกู้ภัยคันเก่งอยู่ เมื่อสอบถามทราบความเป็นมาพ.ต.ท.พินิต จึงเก็บเป็นการบ้านโดยมองเห็นช่องทางเข้าถึงชาวบ้านแถบนั้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นไทยมุสลิมและมักมีปัญหากระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงหยิบแนวทางตำรวจชุมชนสัมพันธ์ขึ้นมาปรับทิศทาง อีกไม่กี่วันต่อมามีการประสานไปยังชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านโดยเสนอจัดตั้งเป็นชมรมฯในเบื้องต้น และเชิญพ่อค้าคหบดีในเขตมีนบุรี มาร่วมด้วย 1 ในนั้นคือนายสุธี มีนชัยนันท์ ประเดิมด้วยเงินทุน 5 แสนบาทจัดตั้งชมรมอาสากู้ภัยร่มไทร และบริจาคเงินอีก 15 ล้านสร้างหอประชุมมีนชัยนันท์ ให้กับตำรวจมีนบุรี เนื่องจากอาคารเก่าเป็นเรือนไม้มีสภาพคับแคบ ปัจจุบันนอกจากใช้เป็นที่ประชุมแล้วยังเป็นที่ทำการของฝ่ายสืบสวน บก.น.3

กว่า 20 ปีจากชมรมฯพัฒนากลายเป็นมูลนิธิฯมีอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่กว่า 2 พันคน และแน่นอนว่าบุคคลากรทั้งหมดหลากหลายตามสภาพสังคมท้องถิ่นคือมีทั้งไทยพุทธ และไทยมุสลิมร่วมหน้าที่จิตอาสาอย่างแข็งขัน

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆด้วยความตั้งใจจริงของชุมชนคนมีนบุรี ภาพลักษณ์ที่ควรจะได้รับความชื่นชมจากสังคมกลับมาติดลบจากพฤติการณ์ห่ามจนศรัทธากลายเป็นความน่าเบื่อหน่ายนายสมชาย ศรีทองกูร รองประธานมูลนิธิกู้ภัยร่มไทร ชี้แจงกับทีมข่าวอาชญากรรม astv ถึงเหตุการณ์กระทบกระทั่งกับมูลนิธิปอเต็กตึ้งหลายต่อหลายครั้งว่ามาจากเรื่องของบุคคล และยอมรับว่าบางครั้งคนของกู้ภัยร่มไทร เองก็เป็นต้นเหตุซึ่งต้นสังกัดมีระเบียบชัดเจนว่าหากไปก่อเรื่องทำตัวไม่เหมาะสมจะต้องให้ออกจากการเป็นอาสาสมัครเพียงอย่างเดียว ส่วนสาเหตุที่ถูกมองว่ามีเรื่องของผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องนั้นขอยืนยันว่าไม่มีแน่นอน

“กู้ภัยร่มไทรของเราไม่มีสิทธิ์เก็บศพนะครับ คือเรื่องมันเป็นอย่างนี้เมื่อประมาณปี 43-44 เราจะปฏิบัติงานแถวชานเมืองจริงๆ เป็นพื้นที่ที่ปอเต็กตึ้ง กับร่วมกตัญญู เขาไม่ค่อยมาส่วนใหญ่วิ่งอยู่ชั้นใน พวกเราก็ออกช่วยเหลือชาวบ้านย่านมีนบุรี ลาดกระบัง หนองจอก เจียรดับ ลำหิน เรียกว่าเมื่อ 20 ปีก่อนไปกันไม่ถูกเพราะมันไกลมากแต่พอเราเอาศพมาส่งที่โรงพยาบาลตำรวจ ก็ถูกนักเลงดีมาดักทำร้าย ทุบรถบ้าง ตีคนบ้างจนต้องแจ้งความกันที่ สน.ปทุมวัน และเรื่องก็เงียบไม่มีใครดำเนินการอะไรให้จนถึงปี 45 เราเห็นว่าไม่ปลอดภัยแล้วและนายตำรวจท่านหนึ่งก็กำหนดกติกากันออกมาโดยให้ปอเต็กตึ้ง กับร่วมกตัญญู ผลัดกันเก็บศพคนละวัน ส่วนพวกผมมูลนิธิกู้ภัยร่มไทร ให้ทำงานในพื้นที่ บก.น.3 เช่นมีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง คันนายาว บางชัน สะพานสูงโดยให้ช่วยเหลือแต่คนเจ็บเท่านั้น คนตายห้ามเก็บยังคงเป็นหน้าที่ของปอเต็กตึ้ง และร่วมกตัญญู”

ตรงนี้เองที่เป็นปัญหาเพราะการแบ่งงานในลักษณะนี้มีความยากในการปฏิบัติเช่นกรณีได้รับแจ้งทางวิทยุ ว่ามีอุบัติเหตุรถชนกันมีคนเจ็บติดอยู่ในรถ พอกู้ภัยร่มไทร ไปถึงพบว่ามีคนบาดเจ็บอยู่จริงแต่อาการสาหัสมากจึงใช้เครื่องบีบถ่างช่วยเหลือ บางกรณีสามารถส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลได้ บางกรณีขาดใจตายระหว่างพยายามช่วยออกจากรถแต่กลับถูกมูลนิธิรุ่นใหญ่เล่นแง่หาว่าจะมาแย่งศพบ้าง มาช่วยแล้วทำให้เขาตายบ้างถึงขนาดไม่ยอมเก็บศพมูลนิธิกู้ภัยร่มไทร ก็ต้องขอคำยืนยันจากตำรวจว่าถ้าให้ไปส่งศพที่นิติเวช รพ.ตร.ต้องรับรองความปลอดภัย หรือบางครั้งต้องขอให้ตำรวจนั่งติดรถไปด้วยก็มี

“การกระทบกระทั่งที่เกิดขึ้น ผมยังยืนยันว่าเป็นเรื่องของบุคคล อาสาที่มีปัญหามีไม่กี่คนทางปอเต็กตึ้ง ก็รู้ดีส่วนหนึ่งเป็นอดีตคนของเราที่ออกไปแล้วมีความคิดไม่ดีต่อองค์กรเดิม พวกนี้บางครั้งดักฟังเครือข่ายวิทยุบ้าง ว.รบกวนบ้าง ใช้คำหยาบคายบ้างมีการยั่วยุกันตลอด คนของเราบางคนก็ใจร้อน บางคนที่ไปสร้างปัญหามีเรื่องก็ต้องให้ออกเพราะคุณสุธี อายุมากแล้ว เคยเป็นอดีตนายกสมาคมไทย-จีน เสียสละสังคมมามากเขาไม่อยากเสียชื่อเสียง ย้ำตลอดเรื่องรับคนเข้ามาเป็นอาสา

ตอนนี้เรากำลังมีโครงการเปิดคลินิกมูลนิธิกู้ภับร่มไทร เพื่อรักษาไต รักษาตา และมีศูนย์การเรียนรู้เด็กออทิสติก เปิดรักษาฟรีไม่คิดมูลค่าในวันที่ 2 ก.พ.นี้ซึ่งจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบต่อไป ผมยืนยันอีกครั้งว่าเราไม่มีผลประโยชน์ ทุกคนทำด้วยจิตอาสา ทำด้วยอุดมการณ์ รายได้จากการบริจาคสามารถตรวจสอบได้ทุกปี ทั้งประธานฯ กรรมการ เลขาฯมาจากคนในพื้นที่ หลากหลายไม่เอาลูกผัว เอาเมียเอาญาติพี่น้องมาเป็น จึงขอให้ประชาชนและผู้บริจาคสบายใจได้”

และเมื่อย้ำถึงปัญหาความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นอีก พร้อมกับแนวทางแก้ไขนายสมชาย บอกว่าเรื่องนี้คงต้องให้ผู้ใหญ่ของมูลนิธิฯมาคุยกันอีกซึ่งที่ผ่านมาเคยคุยกันแล้วแต่ไม่ทราบว่าเพราะอะไรถึงเกิดเรื่องขึ้นอีก ต้องว่ากันไปแล้วแต่กรณี ทราบมาว่าพล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์รองผบช.น.กำลังเร่งหาทางแก้ไขอยู่

ส่วนประเด็นใบบันทึกการปฏิบัติงานบริการการแพทย์ฉุกเฉินระดับพื้นฐาน ของศูนย์บริการการพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ)หรือที่เรียกกันว่า “ใบค่าเคส”ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายให้สำหรับมูลนิธิฯที่เก็บศพ ศพละ 500 -1,000 บาทนายสมชาย บอกว่ามูลนิธิกู้ภัยร่มไทร ไม่มีสิทธิ์เก็บศพจึงไม่มีผลประโยชน์ตรงนั้นแต่ในทัศนะของตนว่าคงไม่คุ้มเท่าไหร่เพราะเกิดอุบัติเหตุทีเสียค่าซ่อมเป็นหมื่นเป็นแสนก็คงไม่คุ้มในส่วนของกู้ภัยร่มไทร มีค่าส่วนคนเจ็บหรือใบเคสอีกกรณีหนึ่ง กทม.จะจ่ายคนเจ็บสาหัส 500 บาท บาดเจ็บเล็กน้อย 300 บาทซึ่งในแต่ละรายนั้นบางครั้งเหตุเกิดที่ลาดกระบัง แต่เขามีบัตรประกันสังคมแถวบางเขน เราก็ต้องบริการให้ ไกลแค่ไหนก็ทำให้เพราะพวกเราอุทิศตนให้กับสังคมแล้ว ขอย้ำว่าการทะเลาะวิวาทเป็นเรื่องของบุคคล เรื่องผลประโยชน์อื่นๆเช่นความไม่โปร่งใสกับยอดเงินบริจาคก็ขอให้รัฐ หรือผู้เกี่ยวข้องจัดการสะสางบ้างคงดีไม่น้อยประชาชนจะได้หายสงสัย

อย่างไรก็ตาม แม้จะจบการสนทนาจากรองประธานฯมูลนิธิกู้ภัยหมายเลข 3 ไปแล้วแต่ประเด็น “ใบเคส”และอื่นๆยังคงติดในใจหลายคนเพราะมีเสียงลือในหมู่อาสากู้ภัยทั้งหลายว่ารถเก็บศพบางมูลนิธิฯออกตระเวนล่าศพตั้งแต่ค่ำยันรุ่งสาง จาก 1 เป็น 2 เป็น 3สะสมศพไปเรื่อยๆจนถึงเวลาออกกะจึงนำส่งสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อความคุ้มค่าประหยัดน้ำมัน บางกรณีว่ากันว่าศพเป็นกองทับกันยิ่งกว่าโรงเชือดส่งสุกรตามตลาดสด 5-6 ศพยัน 10 ศพ แน่นอนว่าหลายคนไม่เป็นเช่นนั้น แต่บางคน บางผลัดมีพฤติกรรมตามที่ตั้งข้อสงสัยไว้หรือไม่

ปอเต็กตึ้งและร่วมกตัญญู ควรออกมาชี้แจงโดยพลัน


กำลังโหลดความคิดเห็น