xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโปงธุรกิจ “เก็บศพ” แย่งทำดีถึงฆ่ากันตาย ตั้งมูลนิธิฯบังหน้า-เบื้องหลังสมุนนักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ครอบครัวของนายอดิเทพ พิริยะกุล อาสาสมัครมูลนิธิปอเต็กตึ้ง ถูกอาสาสมัครมูลนิธิร่มไทรยิงเสียชีวิต ร่ำไห้เสียใจ
ASTVผู้จัดการ - ปฏิบัติการแย่งกันทำความดี จนต้องฆ่ากันตายนั้น อาจจะยังค้างคาใจว่ามีเหตุอะไรจูงใจให้หลายๆมูลนิธิฯต้องแข่งขันกัน คำตอบน่าจะอยู่ที่ผลประโยชน์ของมูลนิธิฯเองที่มาในรูปแบบต่างๆเช่นยอดการบริจาค เงินสนับสนุนต่างๆ และขั้นเลวร้ายที่สุดคือการเข้ามาของขบวนการฟอกเงิน

กลายเป็นเรื่องขึ้นมาอีกแล้ว หลังจากที่เคยเปิดศึกราวีเสียเลือดเสียเนื้อกันมาหลายครั้ง

กลางดึก 1 ธ.ค.ที่ผ่านมานายอดิเทพ พิริยะกุล อายุ 23 ปีอาสาสมัครมูลนิธิปอเต็กตึ้ง ถูกนักเลงในคราบนักบุญอาสาสมัครมูลนิธิร่มไทร กระหน่ำยิงจนเสียชีวิตเหตุเกิดหน้าหมู่บ้านโฮมเพลส ปากซอยรามคำแหง 140 เขตสะพานสูง กทม.โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่ทราบตัวมือปืนแล้วกำลังติดตามมาดำเนินคดี

ส่วนสาเหตุน่าจะมาจากการแย่งกันปฏิบัติหน้าที่จิต “จิตสาธารณะ”

เมื่อพิจารณาถึงปมการฆ่าฟันกันว่ามาจาก “จิตสาธารณะ”สังคมอาจจะยิ่งมึนงงเพราะการทำงานเพื่อส่วนรวมหรือการบำเพ็ญตนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมนั้นทำไมต้องเกิดความขัดแย้ง แย่งกันทำความดีด้วยความตาย และคงเป็นแห่งเดียวในโลกที่มีเหตุการณ์อันน่าหดหู่ใจนี้

พลิกปูมหลังเมื่อปี พ.ศ.2480 ได้ก่อเกิดมูลนิธิปอเต็กเชียงตึ้ง ขึ้นเป็นครั้งแรกและแยกเป็นกิจการสาธารณะกุศลคนเจ็บคนตายราว 50 ปีที่ผ่านมานี้โดยมีแรงบันดาลใจมาจากนายอุเทน เตชะไพบูลย์ นักธุรกิจชาวจีนคนหนึ่งที่เข้ามาอาศัยร่มโพธิสมภารจนประสบความสำเร็จและต้องการสนองคืนสังคมเริ่มด้วยการจัดตั้งโรงพยาบาลหัวเฉียว และแตกมาเป็นมูลนิธิปอเต็กเชียงตึ้ง ช่วยเหลือผู้ประสบภัย คนยากคนจนตลอดจนเก็บศพไร้ญาติ

ต่อมาได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่เป็นเนืองๆ เมื่อเกิดคดีฆาตกรรมหรือคดีต่างๆที่เกิดขึ้นกิจการมูลนิธิปอเต็กเชียงตึ้ง จึงขยายมาเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน (ตำรวจ) อย่างเต็มตัวโดยภารกิจหลักคือการเก็บศพในทุกรูปแบบ และพัฒนามาเป็นหน่วยกู้ชีพช่วยผู้ประสบภัยต่างๆ เช่นอุบัติเหตุรถชน ตึกถล่ม ปั๊มแก๊สระเบิด เป็นต้น ซึ่งต่อมากลายเป็นที่นิยมของบรรดาผู้มีจิตอาสา ทั้งดาราและประชาชนมาสมัครเป็นอาสาปอเต็กเชียงตึ้ง อาทิ แอ๊ด คาราบาว นักร้องดังกับตลกตระกูลชวนชื่น เป็นต้น

เมื่อปรากฏผลงานด้านสาธารณกุศลอย่างชัดเจน ชื่อเสียงของมูลนิธิปอเต็กเชียงตึ้ง จึงเป็นที่รู้จักทั้งในหมู่คนไทยและคนจีนอย่างกว้างขวางแน่นอนว่า ย่อมมีผู้ศรัทธาเข้าสมทบในรูปแบบทั้งๆอย่างคับคั่ง ทั้งด้านการเงินหรือบริจาคสิ่งของรวมทั้งโลงศพ ทำให้มีคนมองเห็นช่องทางจนเกิดมูลนิธิฯเล็กๆ ขึ้นมาอีกมูลนิธิหนึ่งชื่อ “ร่วมกตัญญู” ก่อตั้งโดยนายสมเกียรติ สมสกุลรุ่งเรือง ก่อตั้งเมื่อปี 2513 ซึ่งต่อมาได้รับเลือกเป็นประธานมูลนิธิฯ

เส้นทางมูลนิธิร่วมกตัญญู ลอกเลียนแบบ “ปอเต็กเชียงตึ้ง” เน้นเฉพาะการเก็บศพ สำนักงานเดิมอยู่ย่านกล้วยน้ำไทย เริ่มจากรถปิกอัพ 1 คันมีเด็กคลองเตยเป็นพนักงานขับรถ คนเก็บ-ส่งศพหนึ่งในนั้นก็คือนายสมศักดิ์ ปาลวัฒน์ ผู้จัดการมูลนิธิฯคนปัจจุบัน

อย่างรวดเร็ว เพียง 2-3 ปีมูลนิธิร่วมกตัญญู สามารถสร้างชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งเทคนิคที่ประสบความสำเร็จก็คือพยายามแย่งเก็บศพจากมูลนิธิปอเต็กเชียงตึ้ง ให้มากที่สุดเพราะในแต่ละครั้งจะปรากฏชื่อเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ด้วย ลูกเล่นที่ได้โฆษณาฟรีๆลงหน้า 1 หนังสือพิมพ์รายวันแทบทุกฉบับ โดยไม่เสียสตางค์แม้แต่บาทเดียวก็คือตอนเก็บศพไม่ว่าจะยืนเก็บ นั่งเก็บหรืออยู่ในมุมใดๆต้องมีพนักงาน 1-2 คนยืนหันหลังให้เห็นป้ายชื่อมูลนิธิฯที่ติดตัวโตๆ หลังเสื้ออย่างชัดเจน

นอกจากนั้น ก็คือการ “ซื้อใจ” เพราะทุกครั้งที่นักข่าวอาชญากรรมไม่ว่าสำนักใดก็ตามหาก “ตกภาพ” ไปถ่ายรูปในที่เกิดเหตุไม่ทันก็จะได้รับการอนุเคราะห์จากมูลนิธิฯซึ่งต่างจาก “ปอเต็กเชียงตึ้ง”ในยุคก่อนที่ไม่ยืดหยุ่น ไม่ให้ความสำคัญกับสื่อจึงเปิดโอกาสให้ร่วมกตัญญู โตวันโตคืนจนมาถึงยุคปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ มีศูนย์ประสานงานตั้งอยู่หน้าวัดหัวลำโพง ปทุมวัน คาดว่ามีทรัพย์สินกว่า 1 พันล้านบาท มีนักร้องดาราให้การสนับสนุนอย่างมากมายเช่นบิณฑ์ บันลือฤทธิ์ ต่าย สายธาร ฝันดี ฝันเด่น และตลกตระกูล “เชิญยิ้ม” เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กว่าจะมาถึงวันนี้ทั้งมูลนิธิปอเต็กเชียงตึ้ง และมูลนิธิร่วมกตัญญู ต่างเคยกระทบกระทั่งกันมาหลายครั้ง เรียกว่าเคยเซ่นสังเวยเลือดเนื้อกันมาก่อนเช่นกันจนถึงยุค พล.ต.ท.จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธ์ เป็น ผบช.น.ได้แก้ปัญหา “แย่งทำความดี” หรือ “แย่งเก็บศพ” ด้วยการแบ่งเขต กองบังคับการตำรวจนครบาลเหนือ (บก.น.เหนือ) กองบังคับการตำรวจนครบาลใต้ (บก.น.ใต้) และ กองบังคับการตำรวจนครบาลธนบุรี (บก.น.ธนฯ) และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนมาเป็นวันคู่วันคี่เริ่มตั้งแต่ 8 โมงเช้าสามารถแก้ปัญหาได้ในระดับหนี่ง

แต่ที่เกิดเป็นเรื่องราวบ่อยครั้งก็เพราะมีมูลนิธิเกิดใหม่อีกหลายมูลนิธิฯเช่น ประชาร่วมใจ – มูลนิธิร่มไทร เป็นต้น

ทั้ง 2 มูลนิธินี้แม้จะมาในรูปจิตอาสา เป็นนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรแต่มุ่งเน้นงานสาธารณกุศล หากแต่ในความจริงแล้วเฉพาะในส่วนของมูลนิธิร่มไทร ซึ่งมีนายสุธี มีนชัยนันท์ คนนามสกุลเดียวกับนายวิชา มีนชัยนันท์ นักการเมืองชื่อดังเป็นประธานฯ ย่อมเป็นที่สงสัยของสังคมว่า นอกจากงานการกุศลแล้วยังมีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

เพราะทราบกันดีว่ามูลนิธิร่มไทร นั้นนอกจากอยู่ในการดูแลของสกุล “มีนชัยนันท์”แล้วยังมีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตนักการเมืองคนดังร่วมสนับสนุนด้วย

มีข้อมูลปรากฏในกลุ่มอาสา หรือบรรดามูลนิธิทั้งหลายว่าระบบการทำงานของมูลนิธิฯในปัจจุบันทั้งปอเต็กเชียงตึ้ง กับร่วมกตัญญู ไม่มีปัญหาอะไรกันแล้วเนื่องจากกำหนดพื้นที่ วันเวลาตารางการทำงานอย่างชัดเจน

แต่ที่เป็นปัญหาก็คือกลุ่มคนทำงานของมูลนิธิร่มไทร ซึ่งยึดพื้นที่แนวตะเข็บชานเมืองโดยเฉพาะด้านตะวันออก ของกทม.ประกอบด้วยมีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง และย่านลำลูกกา เป็นต้น พื้นที่ดังกล่าวห้ามมูลนิธิฯ ใดย่างกรายเข้าไป แต่ที่เกิดเป็นเรื่องกระทบกระทั่งกันบ่อยครั้ง ก็เพราะมีการประสานงานมาจากศูนย์เอราวัณ (งานแพทย์ กทม.) หรือศูนย์นเรนทร กระทรวงสาธารณะสุข เมื่อแจ้งไปยังมูลนิธิใดแล้วเผลอรีบไปช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุโดยลืมว่า มีเจ้าถิ่นคอยเอาเรื่องอยู่ก็จะเกิดปัญหาได้ เบาสุดคือขับรถปาดหน้าด่าทอ ขยับไปถึงขว้างปาสิ่งของใส่และอาจถึงทะเลาะวิวาทจนมีการใช้อาวุธ

ปฏิบัติการแย่งกันทำความดีจนต้องฆ่ากันตายนั้นอาจจะยังค้างคาใจว่ามีเหตุอะไรจูงใจให้หลายๆ มูลนิธิต้องแข่งขันกัน คำตอบน่าจะอยู่ที่ผลประโยชน์ของมูลนิธิเองที่มาในรูปแบบต่างๆ เช่นยอดการบริจาค เงินสนับสนุนต่างๆ และขั้นเลวร้ายที่สุดคือการเข้ามาของขบวนการฟอกเงิน

ส่วนข้อปลีกย่อยต่างๆที่ยังเป็นปัญหาก็คือการเข้ามาของพนักงานหรืออาสาทั้งหลายนั้นส่วนใหญ่มาจากร้อยพ่อพันแม่ ไม่มีระบบควบคุมที่ดีเห็นได้จากมีข่าวแอบอ้างชื่ออาสา ชื่อมูลนิธิไปกระทำผิดกฎหมายขนของเถื่อน ค้ายาเสพติดหรือบางครั้งนำไปก่ออาชญากรรมร้ายแรง

จึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานรับผิดชอบประกอบด้วยกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้อนุญาตและผู้ควบคุม จะต้องรีบเข้ามาตรวจสอบการประกอบกิจการต่างๆ ของมูลนิธิฯทั้งหลายว่าถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้หรือไม่ ตัวอย่างเช่นมูลนิธิใหญ่แห่งหนึ่งมีทรัพย์สินมากมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดไว้ว่าการจัดการทรัพย์สินของมูลนิธิฯต้องไม่เป็นการหาผลประโยชน์เพื่อผู้ใดฯ และข้อบังคับที่กำหนดให้มีคณะกรรมการของมูลนิธิฯประกอบด้วยบุคคลอย่างน้อย 3 คนเป็นผู้ดำเนินกิจการของมูลนิธิตามกฏหมายและข้อบังคับของมูลนิธิฯนั้น ปรากฏว่ามูลนิธิฯดังกล่าวมีเมีย เป็นประธาน สามีเป็นผู้จัดการ และน้องเมียเป็นเลขาฯ สามารถทำได้หรือไม่ และในแต่ละปีมีการจัดบัญชีรายรับรายจ่ายไว้อย่างไรบ้างกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบมองเห็นเรื่องนี้เป็นสิ่งปกติ หรือผิดปกติ

นอกจากกระทรวงมหาดไทยแล้วยังมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อีกหน่วยงานหนึ่งที่ปล่อยปละละเลย ทั้งที่เป็นงานรับผิดชอบของตัวแต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตามไม่เคยมี ผบ.ตร.คนใดแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่นการแบ่งเขตทำงานของมูลนิธิปอเต็กตั้ง และร่วมกตัญญู ยังคงใช้ตามระบบกองบัญชาการตำรวจนครบาล เดิมเมื่อ 30 ปีก่อนคือ เหนือ – ใต้-ธนฯทั้งที่ความจริงมีการแบ่งซอยอย่างชัดเจนเป็น 9 กองบังคับการไปแล้ว อีกทั้งมูลนิธิฯน้องใหม่ที่ได้แรงหนุนจากนักการเมืองดัง แทนที่จะเป็นจิตอาสาแต่กลายเป็นนักบุญในคราบของนักเลงอันธพาลซึ่งถือเป็นภัยร้ายแรงของสังคม

นี่ยังไม่รวมเรื่องปลีกย่อยเช่นการใช้ไฟวาบ สัญญาณไซเรน ที่ปัจจุบันการขับรถอย่างเร่งรีบ ทำกันอย่างครึกโครมจนสร้างความตกอกตกใจ อีกทั้งอาจจะมีอันตรายจากอุบัติเหตุซ้ำขึ้นได้นั้นก็ล้วนแต่ต้องแก้ไขเพราะเป็นปัญหาหมักหมมกันมานาน

เอาจังหวะนี้แหละจัดระเบียบให้เรียบร้อย จิตอาสาที่ดีเขาจะได้ทำหน้าที่ด้วยความเบิกบานใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น