ป.ป.ท.-ดีเอสไอ-สตง.-ทหาร-ตร.ผสานกำลังบุกตรวจโกดังข้าว จ.ปทุมธานี หลังพบข้าวหายจากโกดัง 3 ครั้ง รวมกว่าแสนกระสอบ
วันนี้ (26 ธ.ค.) ที่ จ.ปทุมธานี นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่นั้น ผสานกำลังภายใต้คณะทำงานของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เข้าตรวจโกดังเก็บข้าวของบริษัท ฟีนิกซ์ อกริเทค (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ต.บางกะดี อ.เมือง จ.ปทุมธานี โกดังเก็บข้าว จำนวน 162,000 กระสอบ หลังจากมีการตรวจสอบเบื้องต้นไปแล้วเมื่อกลางปีที่ผ่านมาพบว่าข้าวหายไปกว่า 108,480 กระสอบ
นายประยงค์เปิดเผยว่า จุดประสงค์ของการลงพื้นที่วันนี้เพื่อตรวจสอบและดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุม โดยหากมีข้าราชการฝ่ายใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำผิดนี้ ภายหลังจากที่คณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐที่มี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานลงตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวในโกดังที่เก็บข้าวกว่าพันโกดังทั่วประเทศ พบว่ามีปริมาณข้าวคลาดเคลื่อนจากยอดตามบัญชีหน้าคลังสินค้าเกินกว่าร้อยละ 5 จำนวน 176 โกดัง แต่ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งความดำเนินคดีเพียง 33 โกดัง ที่เหลือแจ้งความไว้แค่เป็นหลักฐานเพื่อทราบเท่านั้น ป.ป.ท.จึงร่วมกับดีเอสไอ สตง. ทหารเข้าตรวจสอบคลังบางกะดีที่พบข้าวหายหลายครั้งทั้งที่มีเจ้าหน้าที่ อ.ต.ก.ประจำอยู่
จากการตรวจสอบพบว่ามีข้าวในโกดังหายไป 3 ครั้ง รวม 108,480 กระสอบ อีกทั้งในโกดังยังใส่กุญแจไม่ครบตามระเบียบที่กำหนดไว้ในสัญญา ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้าวในคลังดังกล่าวตามที่แจ้งจำนวน 10 กอง พบว่ามี 7 กอง ทำนั่งร้านล้อมกองข้าวไว้ 7 กอง ทำให้ตรงกลางโปร่งเพื่ออำพราง โดย 1 กองจะมีประมาณ 2 หมื่นกระสอบ พบข้าว 2 กองหายไปทั้งหมด และอีก 1 กองยังมีข้าวบางส่วนหลงเหลืออยู่
นายประยงค์กล่าวอีกว่า การที่ข้าวหายนับแสนกระสอบมีความเสียหายเกิดขึ้น ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่คลังสินค้า อ.ต.ก.จังหวัดปทุมธานี ได้มีการแจ้งความเอาผิดผู้ร่วมขบวนการที่เป็นประชาชนเพียง 24 คน โดยไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบหลังจากนี้ทาง ป.ป.ท.จะตรวจสอบว่ามีการแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องครบถ้วนหรือไม่ รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดรู้เห็น และดูว่าทำไมเจ้าหน้าที่คลังหรือคนเฝ้าที่เป็นผู้ถือกุญแจถึงไม่รู้ว่ามีการขนนั่งร้านเข้ามาในโกดังและไม่ทราบว่ามีข้าวหายไป รวมถึงตัวบุคคลของผู้บังคับบัญชาฯซึ่งดูแลในส่วนโกดังดังกล่าวได้มีการดำเนินการใดๆ หรือไม่ พนักงานสอบสวนที่ดำเนินคดีได้ดำเนินการคลอบคลุมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ทาง ป.ป.ท.จะตั้งอนุกรรมการตรวจสอบอีกครั้ง ทั้งนี้ยืนยันว่า ป.ป.ท. จะเร่งตรวจสอบให้เร็วที่สุด และหลังเทศกาลปีใหม่ ป.ป.ท. และดีเอสไอจะตรวจสอบคดีโครงการรับจำนำข้าวทั่วประเทศต่อไป
ขณะที่ พ.ต.ท.พงษ์อินทร์ อินทรขาว ผบ.สำนักคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้าวในโกดังคลังสินค้า อ.ต.ก.ในจังหวัดปทุมธานีดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าข้าวหายอย่างเป็นระบบ และเป็นการหายซ้ำ หายซ้อนหลายครั้ง นอกจากนี้ มีความผิดปกติที่พบเห็นหลายอย่าง อาทิ วิธีการนำนั่งร้านมาตั้งไว้ตรงกลางแล้วเอาข้าวมากองล้อมนั่งร้านอำพรางจำนวนข้าวที่หายไปอีกที ส่วนเจ้าของผู้เช่าโกดังก็นำกุญแจมาคล้องโกดังเองซึ่งผิดเงื่อนไขสัญญาให้เช่าคลังสินค้าที่ทำกับ อ.ต.ก.
นอกจากนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตความไม่ชอบมาพากล เช่น ทางบริษัท ฟีนิกส์ อกริเทค (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำสัญญาเช่าโกดังในราคาเดือนละ 360,000 บาท ในขณะที่ทำสัญญาให้ อ.ต.ก.เช่าเพียงเดือนละ 320,000 บาท ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติว่าเหตุใดจึงลงทุนทำธุรกิจทั้งที่ขาดทุน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนเกี่ยวข้องทั้ง 33 โกดังที่ตรวจสอบว่าข้าวหายนั้น ประกอบไปด้วย พิจิตร 16 โกดัง, เชียงราย 5 โกดัง, สุรินทร์ 5 โกดัง, เพชรบูรณ์ 3 โกดัง และชัยนาท ศรีสะเกษ ลำปาง ลำพูน อย่างละ 1 โกดัง ได้ดำเนินการใดๆ หรือไม่ภายหลังพบว่ามีข้าวหาย ตลอดจนได้มีการป้องกันหรือไม่
พ.ต.ท.พงษ์อินทร์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีโกดังข้าวอีกกว่า 130 โกดังที่ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เป็นประธานฯ ดำเนินการตรวจสอบพบความผิดปกติทั้งปริมาณและคุณภาพนั้น จะได้มีการหารือกับ อ.ต.ก.กับ อคส.ว่าได้มีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ในส่วนของกับ อ.ต.ก.กับ อคส.เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้น
แหล่งข่าวจากศูนย์อำนวยการต่อต้านทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เปิดเผยว่า จากการข่าวและข้อมูลที่ได้รับทราบมาเหตุที่ข้าวหายไปจากโกดังที่ จ.ปทุมธานี โดยไม่มีการดำเนินการใดๆ เนื่องมาจากพบความสัมพันธ์ระหว่าง “เสี่ย อ.” บริษัท มาวิน คอนโทรลเซอร์เวเยอร์ จ่ายเงินจำนวน 8 ล้านบาทให้กับผู้ต้องหาและคนทำหน้าที่เซอร์เวเยอร์ จึงเป็นที่มาของการที่คน อ.ต.ก.แจ้งความดำเนินคดีเพียง 33 โกดัง ทั้งที่ ม.ล.ปนัดดาลงไปตรวจสอบพบความผิดปกติแล้ว ในขณะที่จำนวนอีก 40 โกดัง ทาง อ.ต.ก.ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดี เพียงแต่แจ้งความไว้เป็นหลักฐานเพื่อทราบเท่านั้น ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นเรื่องทางผู้บริหารของ อ.ต.ก.จะต้องมีส่วนร่วมรู้เห็นในการกระทำความผิดด้วยอย่างแน่นอน