ศาลยกฟ้อง “กษิต ภิรมย์” อดีต รมว.ต่างประเทศปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ ปี 51 “ทักษิณ” ต้องการยึดประเทศไทย และเอเอสทีวีนำไปเผยแพร่ ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ชี้วิพากษ์วิจารณ์และติชมโดยสุจริต
ที่ห้องพิจารณา 902 วันนี้ (26 ธ.ค.) ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.1037/2552 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มอบอำนาจให้ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ และนายอุดม โปร่งฟ้า ทนายความ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ, บริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด และบริษัท เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328
โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 3, 11 และ 29 พ.ย. 2551 ขณะที่นายกษิต ภิรมย์ อดีตรมว.ต่างประเทศ ร่วมชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีที่ทำเนียบรัฐบาล ทำนองว่าโจทก์เป็นคนไม่จงรักภักดี ต้องการยึดประเทศไทยเป็นสมบัติส่วนตัว สั่งเจ้าหน้าที่รัฐสังหารมุสลิมทางภาคใต้ ฆ่าตัดตอนผู้ค้ายาเสพติด โจทก์ต้องการเป็นประธานาธิบดีล้มล้างสถาบันและต้องการตั้งราชวงศ์ใหม่ ซึ่งโจทก์ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยได้รับโทษตามกฎหมายและลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน และลงคำพิพากษาในเว็บไซต์ผู้จัดการ โดยในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลเห็นว่าคดีมีมูลจึงให้ประทับรับฟ้องการปราศรัยในวันที่ 3 พ.ย.และวันที่ 29 พ.ย. แต่ให้ยกฟ้องการปราศรัยของจำเลยในวันที่ 11 พ.ย. ต่อมาโจทก์อุทธรณ์ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้รับฟ้อง
ศาลพิเคราะห์คำเบิกความแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย โดยวันเวลาที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงต่อประชาชนในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งมีข้อความพาดพิงโจทก์โจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายนายอุดม โปร่งฟ้า ผู้รับมอบอำนาจ เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ปราศรัยด้วยข้อความอันเป็นเท็จ มีเนื้อหาทำนองว่าโจทก์เป็นนักโทษชาย โจทก์พยายามทุกวิถีทางที่จะยึดประเทศไทย โจทก์ต้องการเป็นประธานาธิบดีและต้องการล้มล้างสถาบัน โจทก์ต้องการตั้งราชวงศ์ใหม่ ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ถ่ายทอดคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 ทาง อินเตอร์เน็ตและจำเลยที่ 3ถ่ายทอดสดการปราศรัยของจำเลยที่ 1 ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี เห็นว่าข้อความที่โจทก์อ้างว่าคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 มีเนื้อหาทำนองดังกล่าว เมื่อพิจารณาตามความรู้สึกของประชาชนโดยทั่วไปแล้ว ข้อความที่จำเลยที่ 1 ปราศรัยอาจทำให้บุคคลที่รับฟังการปราศรัยเชื่อว่าโจกท์กระทำการดังกล่าว ซึ่งเป็นการกระทำที่บุคคลทั่วไปไม่อาจยอมรับได้ การปราศรัยของจำเลยที่ 1 ย่อมทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง อย่างไรก็ดี ข้อความที่จำเลยที่ 1 ปราศรัย เนื้อหาเกี่ยวข้องและสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีของโจทก์ โดยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารมีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการให้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล การปฎิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีของโจทก์จึงย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศชาติในวงกว้างและทำให้ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต
นอกจากนี้ แม้โจทก์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วก็ตาม แต่โจทก์ก็เป็นบุคคลมีชื่อเสียงในทางการเมืองและสังคมเศรษฐกิจ ที่อาจถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ได้ สอดคล้องกับทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ปราศรัยเพื่อประโยชน์สาธารณะ มีเจตนาปกป้องสถาบันและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ แม้ข้อความที่จำเลยที่ 1 ปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์จะใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมหรือใช้ถ้อยคำไม่สุภาพบ้าง แต่เมื่อพิจารณาถึงถ้อยคำโดยรวมแล้ว จำเลยที่ 1 ปราศรัยไปก็ด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติและสถาบัน การปราศรัยของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการปราศรัยในลักษณะที่ประชาชนสามารถกระทำได้ เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 1 นำสืบมามีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความต้องฟ้อง เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และ 3 จึงไม่เป็นควมผิดด้วย พิพากษายกฟ้อง
ภายหลัง นายกษิตกล่าวว่า ขอขอบคุณศาลและทีมทนายความ โดยสิ่งที่พูดไปไม่มีเจตนาร้ายต่อบุคคลใดและต้องขอโทษหากเป็นการล่วงเกินโดยไม่เจตนา จากนี้ไปตนเองก็จะตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม และต่อเพื่อสิ่งที่ถูกต้องต่อไป