ASTVผู้จัดการ - เลขาฯ ไซเตส เยี่ยม สตช.ดูมาตรการปราบปรามการค้างาช้าง ขึ้นบัญชีบุคคลที่มีหมายจับหรือมีประวัติการค้าสัตว์ป่า ห้ามเข้าประเทศ ปัจจุบันมี 139 ราย และกำหนดพื้นที่วิกฤตที่เป็นแหล่งผลิต และแหล่งการค้าไว้ 12 จังหวัด
วันนี้ (4 ธ.ค.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.ต.ท.สุเทพ เดชรักษา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ฯ พร้อมด้วย ผู้แทนจาก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้แทนจากหน่วยงานการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมประมง กรมวิชาการเกษตร กรมศุลกากร กรมการปกครอง และกรมปศุสัตว์ ร่วมกันให้การต้อนรับ นายจอห์น อี. สแกนลอน (Mr. John E. Scanlon) เลขาธิการไซเตส(CITES) และ น.ส.ลิซ่า ฟารอเวย์ (Ms. Lisa Farroway ) เจ้าหน้าที่ ICCWC ในโอกาสที่ได้เดินทางเยือนประเทศไทยและมาพบหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเพื่อรับฟังข้อมูลผลการดำเนินการในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้างาช้างที่ผิดกฎหมาย ตามที่ประเทศไทยได้เคยเสนอแผนแก้ไขปัญหา ตามมติของคณะกรรมการบริหารอนุสัญญา CITES ครั้งที่ 64 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2556 ให้ดำเนินการ และมีกำหนดประเมินประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2558 ว่า ได้ดำเนินการบรรลุตามแผนดังกล่าวหรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดมาตรการในการกีดกันทางการค้า (Sanction) ของประเทศภาคีสมาชิกซึ่งมีมากถึง 180 ประเทศ
พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติกล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีแผนปฏิบัติการเฉพาะกิจปราบปรามการค้างาช้าง รองรับแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทยของรัฐบาลอยู่แล้ว ตามแผนดังกล่าว ให้ ตำรวจนครบาล บช.ภ.1-9 และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดทำฐานข้อมูลท้องถิ่น ผู้ผลิต และผู้จำหน่ายงาช้างและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างทั้งที่ตั้งเป็นร้านถาวร แผงค้า บุคคลเร่ขาย เพื่อทำประวัติไว้และควบคุมมิให้มีการนำงาช้างและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างผิดกฎหมายมาลักลอบจำหน่าย มีการจัดชุดปฏิบัติการงาช้าง (Task Force) ทั้งในส่วนกลางและในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะในจังหวัดพื้นที่วิกฤต เพื่อสืบสวนจับกุม และขยายผลขบวนการเครือข่าย ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยใช้มาตรการกฎหมายฟอกเงิน และการยึดทรัพย์มาใช้อย่างจริงจัง และให้กองการต่างประเทศ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ขึ้นบัญชีบุคคลที่มีหมายจับหรือมีประวัติการค้าสัตว์ป่า ห้ามเข้าประเทศ ปัจจุบันมี 139 ราย จาก 36 ประเทศ และกำหนดพื้นที่วิกฤติ ที่เป็นแหล่งผลิต และแหล่งการค้าไว้ 12 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, พระนครศรีอยุธยา, อุทัยธานี, นครสวรรค์, เชียงใหม่, สุรินทร์, บุรีรัมย์, กาญจนบุรี และภูเก็ต ส่วนพื้นที่อื่นๆ กำหนดเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง
“การดำเนินการดังกล่าว ทำงานแบบบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้ตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว ช่วยแจกแผ่นพับ ใบปลิว เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวหรือผู้เดินทางเข้าประเทศ เป็นการประชาสัมพันธ์มิให้มีการซื้อหรือสนับสนุนผู้ค้างาช้างหรือผลิตภัณฑ์งาช้างที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้จะมีการจัดประชุมผู้ประกอบการที่มีผลกระทบหากถูกกีดกันทางการค้า ให้มาเป็นเครือข่ายอาสาสมัครร่วมแจ้งเบาะแส หรือร่วมกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านการค้างาช้างและผลิตภัณฑ์จากงาช้างที่ผิดกฎหมายในประเทศไทยอีกด้วย” รอง ผบ.ตร.กล่าว