ที่ประชุม สนช.มีมติ 197 เสียงรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การค้างาช้าง เพื่อสอดรับกับอนุสัญญาไซเตส สกัดขบวนการลักลอบซื้อขายงาช้างข้ามชาติ พบส่วนใหญ่สนับสนุน แต่เป็นห่วงจำแนกช้างไทย หวั่นเปิดช่องทุจริต และเป็นเหตุถูกฟ้องร้อง อีกด้านผ่านร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
วันนี้ (2 ต.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การค้างาช้าง พ.ศ. ... โดยมีหลักการและเหตุผลคือ ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมการค้าการครอบครองงาช้าง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้าง ตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า แต่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมการค้าและการครอบครองงาช้าง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะ จึงมีการนำช้างป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ามาสวมสิทธิและจดทะเบียนเป็นสัตว์พาหนะเพื่อตัดงาช้าง รวมถึงลักลอบนำเข้างาช้างแอฟริกาเพื่อนำมาค้า หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้าง ประกอบกับไทยมีได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส (CITES) จึงมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องมีมาตรการควบคุมการค้างาช้าง หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากการแปรรูปงาช้างภายในประเทศมิให้ปะปนกับงาช้างที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ ร่างดังกล่าวมีการกำหนดให้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ผู้ประกอบกิจการค้างาช้างต้องยื่นคำขออนุญาตประกอบกิจการต่ออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาต การประกอบกิจการ และการพักใช้หรือเพิกถอนในอนุญาต ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ห้ามผู้ใดส่งออกหรือนำเข้างาช้างเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี ผู้ใดที่มีงาช้างไว้ครอบครองต้องมาแจ้งต่ออธิบดีเพื่อออกเอกสารการครอบครองไว้เป็นหลักฐาน หากกรณีใดน่าสงสัยให้ผู้ครอบครองนำเอกสารมายืนยันว่าได้งาช้างมาถูกต้องตามกฎหมาย แต่ถ้าไม่สามารถพิสูจน์ได้ก็ให้ยึดตกเป็นของแผ่นดินภายใน 30 วัน แต่เจ้าของมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ภายใน 15 วัน โดยให้คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีเป็นอันสิ้นสุด
นอกจากนี้ หากผู้ครอบครองช้างต้องการโอนการครอบครอง เปลี่ยนแปลงสถานที่ แปรสภาพ หรือเปลี่ยนรูปร่างงาช้างที่อยู่ในความครอบครอง ต้องแจ้งเป็นหนังสือต่ออธิการบดีก่อนวันดำเนินการ โดยกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงาน (ตำรวจ) สามารถเข้าไปตรวจสอบสถานที่ประกอบกิจการในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการของสถานที่เพื่อตรวจสอบ
ส่วนการกำหนดบทลงโทษ หากไม่มีการแจ้งประกอบการกับอธิบดี หรือนำเข้า ส่งออกโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หากมีไว้ครอบครองแล้วไม่มีแจ้ง หรือโอนการครอบครอง เคลื่อนย้าย แปรสภาพงาช้างโดยไม่แจ้งก่อนล่วงหน้า มีโทษปรับไม่เกิน1ล้านบาท และหากไม่อำนวยความสะดวกให้กับเจ้าพนักงานโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท
ทั้งนี้ สมาชิกส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนร่างดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้มีปัญหาเกี่ยวกับการลักลอบซื้อขายงาช้างจำนวนมาก แต่แสดงความเป็นห่วงต่อการจำแนกช้างไทย ที่ผ่านมาไม่ได้มีการทำอย่างเป็นระบบและรัดกุมเพียงพอ อาจก่อให้เกิดช่องโหว่ให้เจ้าหน้ารัฐแสวงหาประโยชน์ หรือกลายเป็นเหตุถูกฟ้องร้อง
จากนั้นได้ลงมติเอกฉันท์ 197 เสียงรับหลักการวาระ1 พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจำนวน 15 คน อีกทั้งยังมีการรับหลักการร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ... ด้วยมติเอกฉันท์ จำนวน 196 คน โดยใช้คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดเดียวกับร่าง พ.ร.บ.การค้างาช้าง