สภาทนายความชี้มะกันลักชิ้นส่วนทารกส่งออกมีความผิดชัดเจนตั้งแต่แจ้งสำแดงเท็จ ให้การเท็จ และลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ แต่ ตร.ไทยให้เกียรตินักเที่ยวต่างชาติเกินเหตุ ทำให้ถูกมองว่าการบังคับใช้กฎหมายอาญาสองมาตรฐาน
วันนี้ (19 พ.ย.) ที่สภาทนายความ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ได้ออกแถลงการณ์ของสภาทนายความฉบับที่ 18/2557 เรื่องการดำเนินคดีต่อการกระทำผิดกฎหมายไทยของคนต่างชาติ
นายเดชอุดมกล่าวว่า จากกรณีที่มีการดำเนินคดีต่อสองนักท่องเที่ยวสัญชาติอเมริกันที่ลักทรัพย์ชิ้นส่วนมนุษย์จากพิพิธภัณฑ์นิติเวช โรงพยาบาลศิริราช เพื่อส่งผ่านพัสดุไปรษณีย์ไปยังสหรัฐอเมริกา โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้งสองคนทันทีที่เกิดเหตุซึ่งตามหลักการของกฎหมายถือว่านักท่องเที่ยวทั้งสองคนมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรตั้งแต่แรก เนื่องจากมีการลงรายมือชื่อในใบแจ้งขนส่งซึ่งตามกฎหมายศุลกากรนั้น ผู้ที่ส่งจะต้องรับผิดชอบสินค้านั้นๆ และในข้อเท็จจริง สภาทนายความเห็นว่าคดีนี้ตำรวจไม่ได้มีการตรวจสอบเอกสารใบขนส่งสินค้า เพราะหากตรวจสอบจะพบว่า นักท่องเที่ยวทั้งสองคนมีการลงลายมือชื่อเป็นผู้จัดส่ง ดังนั้นจึงเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายศุลกากร เพราะได้กระทำการโดยสมคบกันส่งชิ้นส่วนมนุษย์ออกไปนอกประเทศ โดยชิ้นส่วนมนุษย์นั้นถือเป็นสินค้าต้องห้าม หรือต้องจำกัดตามพระราชบัญญัติศุลกากร และไม่สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศ และกรณีนี้ยังมีการสำแดงรายการสินค้าที่จะส่งอันเป็นเท็จอีกด้วย จึงถือว่านักท่องเที่ยวทั้งสองคนมีความผิดชัดเจนแต่แรกแล้ว
อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา และปล่อยตัวกลับไป ในที่สุดแล้วนักท่องเที่ยวทั้งสองคนได้เดินทางออกนอกประเทศไทยไปแล้ว และในเวลาต่อมาตำรวจยังตรวจสอบพบว่าชิ้นส่วนมนุษย์ได้ถูกขโมยมาซึ่งนักท่องเที่ยวทั้งสองคนได้ให้การเท็จกับตำรวจแต่แรกว่าซื้อชิ้นส่วนมนุษย์มาจากตลาดนัดแห่งหนึ่ง ดังนั้นจึงเข้าข่ายความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ราชการอีกด้วย อย่างไรก็ตาม จากคดีนี้ตนเห็นว่าในอนาคตการบังคับใช้กฎหมายควรเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือชาวต่างชาติ แม้ว่าตำรวจอาจจะให้เกียรติกับชาวต่างชาติก็ตาม แต่เมื่อมีการกระทำความผิดตามหลักของกฎหมายไทยแล้ว ตำรวจควรต้องดำเนินคดีตามกฎหมายไทย
นอกจากนี้ ทางสภาทนายความได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 17/2557 เรื่องความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 จากกรณีคำพิพากษาของศาลฎีกาลงโทษนายสุรัตน์ มณีนพรัตน์สุดา จำเลยในคดีที่เป็นผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลยืนตามอุทธรณ์และศาลชั้นต้นที่ได้พิพากษาลงโทษจำเลยโดยลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 หนึ่งในสามคงปรับ 133,600 บาท
นายเดชอุดมกล่าวต่อว่า จากกรณีดังกล่าวการปรับบทกฎหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลนั้นเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของผู้พิพากษาซึ่งกระทำการในนามพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ยอมรับ และเชื่อได้ว่าคำพิพากษาของศาลนั้นได้กระทำไปโดยสอดคล้องกับหลักนิติธรรมความโปร่งใส และตามหลักเกณฑ์ของการพิจารณาเรื่องเพศ อายุ การศึกษา ความเป็นอยู่ และต้นเหตุที่เป็นมูลเหตุจูงใจให้เกิดการกระทำความผิดครบถ้วนแล้ว ซึ่งกรณีการกระทำความผิดของลูกจ้างชั่วคราวของกรุงเทพมหานครรายนี้ซึ่งมีหน้าที่เก็บและคัดแยกขยะ ได้นำแผ่นซีดีที่เก็บจากการคัดแยกไปขายต่อโดยไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายอย่างสำคัญนั้น ตามหลักการของการบังคับใช้ของประเทศไทยในระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่กำหนดหลักการไว้โดยเด็ดขาดว่า “ไม่มีใครที่จะปฏิเสธไม่รู้กฎหมาย” ดังนั้นกฎหมายทุกฉบับที่ได้ประกาศและมีผลใช้บังคับโดยชอบแล้ว จึงต้องถือว่าประชาชนทุกคนทุกเชื้อชาติสัญชาติที่อยู่ในประเทศไทยต้องถูกบังคับให้รู้กฎหมายทั้งนั้น แม้ในข้อเท็จจริงอาจจะไม่รู้ว่ามีกฎหมายเช่นนั้นอยู่เช่นในกรณีดังกล่าวซึ่งไม่ใช่ข้อแก้ตัวตามกฎหมายที่อาจจะยกขึ้นอ้างได้
นายเดชอุดมกล่าวอีกว่า ซึ่งดุลยพินิจในการพิจารณาลงโทษของศาลจะมีน้ำหนักและเป็นตัวอย่างที่ดีอย่างมากสำหรับการพิจารณาลงโทษ โดยเฉพาะโทษทางอาญานั้นหากกฎหมายกำหนดไว้เป็นกรณีแน่ชัด ศาลก็ไม่อาจที่จะลดโทษให้ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ โดยเฉพาะในกรณีนี้ผู้กระทำความผิดถึงแม้จะเป็นลูกจ้างที่ยากจนแต่เมื่อกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายที่ควรต้องรู้และโทษปรับขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ก็มีจำนวนตั้งแต่ 200,000-1,000,000 บาท และปรับไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ชัดแจ้งแล้ว ศาลจึงไม่อาจจะพิจารณาตัดสินเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากจะลดให้เหลือต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ แต่หากผู้กระทำความผิดเป็นคนยากจนจึงไม่มีโอกาสที่จะชำระเงินขั้นต่ำสุด จึงต้องรับโทษกักขังวันละ 200 บาทแทนโทษปรับ
นายเดชอุดมกล่าวต่อว่า ตามที่พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่ใช้กับการกระทำความผิดและฟ้องต่อผู้กระทำผิดมายังศาลยุติธรรมถึง 3 ชั้นศาลในคดีนี้ มาจากเรื่องของการแก้ไขกฎหมายใหม่ที่เกิดขึ้นในปี 2551 ด้วยรัฐบาลในขณะนั้นมีความประสงค์ที่จะปรับปรุงมาตรฐานของกฎหมายทั้งเรื่องของภาพยนตร์และการควบคุมกิจการวีดิทัศน์และโทรทัศน์ให้อยู่ในองค์กรเดียวกัน และเพื่อลดความซ้ำซ้อน แต่อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์ของการเพิ่มบทลงโทษโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องของการผลิตและการค้าเทปวัสดุโทรทัศน์นั้น มีแรงกดดันมาจากต่างประเทศในเรื่องที่ประเทศไทยถูกกล่าวหาว่าไม่ส่งเสริมและออกมาตรการป้องกันลิขสิทธิ์ในรูปแบบของภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และเทปโทรทัศน์ที่มีการละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ดาษดื่น ทำให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ภายใต้การข่มขู่เศรษฐกิจโดยทางอ้อม แม้ในปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการลดลำดับบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองว่ายังมีการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอยู่มาก การแก้กฎหมายเพิ่มโทษโดยหวังว่าโดยตั้งใจที่จะปราบปรามผู้ที่กระทำผิดที่ประกอบธุรกิจการค้าสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แต่อาจจะไม่ได้นึกถึงผู้กระทำความผิดที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย เพราะหากทราบว่าการกระทำดังกล่าวมีบทลงโทษหนักขนาดนี้คงจะไม่นำมาขายต่อแน่นอน ทางสภาทนายความจึงเห็นว่ากฎหมายหลายฉบับที่ถูกนำมาใช้ในแต่ในละยุคสมัยอาจไม่ได้สร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน การกำหนดมาตรฐานการลงโทษสูงเกินกว่าความจำเป็น ที่ไม่เอื้ออำนวยให้ศาลได้ใช้ดุลยพินิจที่จะพิจารณารอการลงโทษสำหรับผู้ยากไร้ ถือว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการบังคับใช้กฎหมายนี้ จึงควรที่จะมีการแก้ไขกฎหมายฉบับโดยเฉพาะในปัจจุบันรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้มีการปฏิรูปกฎหมาย พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 จึงควรที่จะได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องกับสถาพสังคมปัจจุบัน