xs
xsm
sm
md
lg

"คดีเกาะเต่า"ยังไม่สิ้นสงสัย คาใจวิชามาร "กวนดีเอ็นเอ"

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายวรพันธุ์ ตู้วิเชียร หรือผู้ใหญ่วอ เจ้าของร้านเอซีบาร์ พานายวรท ตู้วิเชียร หรือโดโด้ บุตรชาย ซึ่งถูกโจมตีทางโซเชียลเน็ตเวิร์กว่าเป็นผู้มีอิทธิพล และเกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรมสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษบนเกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา เดินทางเข้าพบ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ขอตรวจดีเอ็นเอเพื่อเปรียบเทียบกับตัวอย่างดีเอ็นเอที่เก็บได้ในตัวผู้เสียชีวิต(30 ต.ค.)
คดีฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวเกาะเต่าใกล้จบแต่ยังไม่จบ วงการนิติวิทยาศาสตร์กลัววิชามาร “กวนดีเอ็นเอ”โลกโซเชียลฯทำใจหากฆาตกรตัวจริงลอยนวล

แม้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ผบ.ตร.และ นายวรพันธ์ ตู้วิเชียร หรือ ผู้ใหญ่วอ เจ้าของร้านเอซีบาร์ กับ นายวรท หรือ นมสด หรือ โดโด้ ตู้วิเชียร ลูกชายจะออกมาร่วมแถลงข่าวยืนยันความบริสุทธิ์ด้วยการโชว์การตรวจ อีเอ็นเอ ต่อกองทัพสื่อมวลชนไปแล้ว แต่แทนที่จะหายสงสัยกลับมีคำถามตามหลังมาอีกมากมาย ซึ่งล้วนแต่ เป็นคำถามเดิมๆ ที่นายตำรวจใหญ่ และ 2 พ่อลูกกลับไม่ยอมชี้แจง

ไม่ว่าจะเป็นชายต้องสงสัยที่ปรากฏในวงจรปิด หรือขั้นตอนการตรวจเก็บดีเอ็นเอ ว่า ชัวร์ น่าเชื่อถือ และ ไม่สามารถสลับสับเปลี่ยนกันได้

ประเด็นเหล่านี้ ยังคงค้างคาใจผู้คนในวงกว้าง โดยเฉพาะสังคมออนไลน์ ยังไม่มีกระแสใดยอมรับการแถลงข่าวของตำรวจ และครอบครัว “ตู้วิเชียร”ในครั้งนี้กลับเรียกร้องให้ตำรวจออกมาชี้แจง ถึงประเด็นภาพเคลื่อนไหวของชายวัยรุ่นคนหนึ่งที่ถอดเสื้อ สวมกางเกงขาสั้นวิ่งไปมานั้น ใช่คนเดียวกับนายวรท หรือไม่ เพราะ จากลักษณะต่างๆเช่นทรงผมมีจอนแหลม กับแขนข้างซ้ายคอก หรือโก่งงอไม่เข้ารูป นอกจากนั้นยังมีส่วนสูงที่ตรงกัน โดยประเด็นนี้ พล.ต.อ.สมยศ กล่าวแบบผ่านๆ คล้ายตัดบทว่า วันเวลาดังกล่าว เมื่อตรวจพิสูจน์ไม่พบว่า นายวรท อยู่เกาะเต่าจึงไม่จำเป็นต้องนำตัวมาสอบสวนซึ่งขัดแย้งกับข้อสังเกตของนักสืบไซเบอร์อย่างจัง

ดังนั้นหากในการแถลงครั้งล่าสุดนี้ ถ้ามีการอธิบายกันอย่างละเอียดถึงประเด็นต่างๆที่ว่านี้ สังคมจะได้ประโยชน์ เพราะ มีความชัดเจนมากขึ้น

ประเด็นต่อไป คือการเก็บหลักฐานต่างๆของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเฉพาะตัวอย่างดีเอ็นเอ ของ 2 ผู้ต้องหาชาวพม่านั้นมีขั้นตอนตรวจรับกันอย่างไร เก็บไว้ที่ไหน และ สามารถนำไปสลับสับเปลี่ยนกันได้หรือไม่

ซึ่งตามปกติหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจเก็บดีเอ็นเอ ก็คือ สถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม และ อีกหน่วยงานหนึ่ง คือ กลุ่มงานตรวจชีววิทยาและดีเอ็นเอ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ แต่กรณีเกาะเต่าไม่มีสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ฯของแพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยจึงอยู่ที่ 2 หน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งควรอธิบายขั้นตอนต่างๆให้ประชาชนที่สนใจคดีได้เห็นภาพและเกิดความเชื่อมั่นในการทำงานของตำรวจมากขึ้น

สำหรับขั้นตอนการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ นั้นถือว่า เป็นความก้าวหน้าทางนิติวิทยาศาสตร์ที่กระบวนการยุติธรรมทั่วโลกให้การยอมรับเพราะโอกาสคลาดเคลื่อนมีเท่ากับ 0 เปอร์เซ็นต์ซึ่งขั้นตอนตามปกติจะเริ่มจากการตรวจเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ ในที่เกิดเหตุ ขั้นที่สองคือการสกัดจากเซลล์ตัวอย่างที่เก็บมาอาทิเลือด น้ำลาย เนื้อเยื่อ คราบอสุจิ กระดูกและเส้นผมเป็นต้น ขั้นตอนที่สามตรวจแยกลายพิมพ์ดีเอ็นเอ และสุดท้ายคือการแปลผลลายพิมพ์

ขณะเดียวกัน มีการพูดถึงการตรวจดีเอ็นเอ คดีเกาะเต่า กันอย่างกว้างขวางด้วยจนเกิดศัพท์เฉพาะขึ้นมาคำหนึ่งว่า “กวนดีเอ็นเอ” หมายถึง มีการนำเอาดีเอ็นเอ ผู้ต้องหามาผสมกับดีเอ็นเอ ของน.ส.ฮันนาห์ วิทเธอร์ริดจ์ เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังมีอีกหลายขั้นตอนที่มัดตัว 2 หม่องจนดิ้นไม่หลุด ซึ่งแม้จะดูเป็นการหวาดระแวงต่อต้นธารยุติธรรม หรือ ตำรวจไทยมากเกินไป แต่เป็นกระแสที่เกิดขึ้นจริงตาม “ต้นทุน”ของตำรวจเองจากอดีตจนถึงปัจจุบันเพราะการเก็บหลักฐานสำคัญที่สุดนี้ก็อยู่ในเงื้อมมือของตำรวจ

เรียกว่าสอบเอง จับเอง รวบรวมพยานหลักฐานเองและส่งฟ้องเองจึงเกิดเป็นข้อครหามาได้ทุกยุคทุกสมัย

เมื่อกลับไปดูการทำงานของตำรวจไทย จะเห็นได้ว่าเดินสวนทางกับความสงสัยของชาวโซเชียล อย่างสิ้นเชิง นอกจากไม่เคยติดใจกลุ่มมาเฟียไทยบนเกาะเต่าแล้ว ยังดูประหนึ่งว่า ภาระหน้าที่ของตำรวจหมดสิ้นแล้วเมื่อส่งสำนวนถึงมืออัยการ หากแต่ยังทิ้งความขุ่นข้องหมองใจให้กับคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่เกรงว่าฆาตกรตัวจริงกำลังจะลอยนวล
ดังนั้นความกดดันเสียดทานต่างๆอาจจะส่งตรงไปยัง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ผบ.ตร.ในฐานะผู้รับผิดชอบสูงสุดขององค์กรจำเป็นต้องแบกรับต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สองผู้ต้องหาชาวพม่าที่ถูกจับกุมก่อนหน้านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น