xs
xsm
sm
md
lg

“หมอพรทิพย์” กังขาคดีเกาะเต่าไร้แพทย์นิติเวชร่วมเก็บหลักฐาน ชี้ดีเอ็นเอพ่อยันลูกบริสุทธิ์ไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หมอพรทิพย์” กังขาคดีเกาะเต่าไร้แพทย์นิติเวชร่วมเก็บพยานหลักฐานทันทีหลังเกิดเหตุ โดยรอเวลาผ่านไปแล้ว 7 วัน ซึ่งอาจทำให้ได้ผลคลาดเคลื่อน อีกทั้งยังไม่มีจำลองเหตุการณ์ จึงเกิดข้อกังขาในโซเชียลมีเดีย หวังคดีนี้จะกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการทำคดีอาชญากรรมให้น่าเชื่อถือกว่าเดิม โดยเฉพาะงานนิติวิทยาศาสตร์ต้องแยกจากอำนาจตำรวจ พร้อมระบุตรวจดีเอ็นเอพ่อไม่สามารถยืนยันว่าลูกบริสุทธิ์ได้



วานนี้ (8 ต.ค.) พญ.พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการทำคดีฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ บนเกาะเต่า ว่า การทำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์แบ่งเป็น 3 ท่อน ท่อนแรก เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบการทำสำนวนคดี สอง เจ้าหน้าที่เก็บรวบรวมพยานหลักฐาน และสุดท้ายคือการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานต่างๆ ซึ่งคดีดังกล่าวจำเป็นต้องมีความรู้และใช้แพทย์จากนิติเวชเท่านั้น

“ท่อนแรกพนักงานสอบสวนจำเป็นต้องมีความรู้ จุดอ่อนคือตำรวจไม่เข้าใจว่ากรณีนี้ต้องมีแพทย์นิติเวช เจ้าหน้าที่เก็บรวบรวมพยานหลักฐานเลยไม่ได้ติดตามแพทย์นิติเวชจากโรงพยาบาลสุราษฎร์ฯ ให้มาดำเนินการ ที่ซึ่งคดีนี้เป็นการฆาตกรรมมี 2 ศพ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องมีแพทย์นิติเวชเท่านั้น” พญ.พรทิพย์ กล่าว

ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ผู้ที่เข้ามาในที่เกิดเหตุต้องรับข้อมูลจากแพทย์ก่อน โดยแพทย์จะหาสาเหตุการเสียชีวิต เพราะจุดเกิดเหตุอาจไม่ได้มีเพียงจุดเดียว โดยเฉพาะคดีนี้ไม่ได้มีการดำเนินการในทันที จึงอาจทำให้ได้ประเด็นต่างๆ ไม่ครบถ้วน

อีกทั้งแนวทางการสืบสวนสอบสวนยังคงใช้ระบบเดิม คือ การเก็บรวบรวมพยานหลักฐานและการพิสูจน์หลักฐานต่างๆ อยู่ที่พนักงานสอบสวนเท่านั้น รวมทั้งพนักงานสอบสวนยังเป็นผู้รวบรวมการทำงานทั้ง 3 ส่วนเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นวิธีคิดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับหลักนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจเป็นเพราะพนักงานสอบสวนมองว่าเมื่อพยานหลักฐานมีเพียงพอก็สามารถสรุปสำนวนคดีได้ แต่ส่วนตัวมองว่ากฎหมายยังต้องมีการแก้ไข โดยเฉพาะคดีลักษณะนี้ ที่ต้องใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์เป็นตัวนำ หรือเข้าไปดูในส่วนใดที่ยังไม่มีความชัดเจน ก่อนสรุปสำนวนส่งฟ้อง

พญ.พรทิพย์ ยังกล่าวอีกว่า ขั้นตอนที่หายไปคือการจำลองเหตุการณ์ ซึ่งเป็นขั้นตอนทางนิติวิทยาศาสตร์ การไม่มีขั้นตอนนี้จึงเป็นประเด็นข้อกังขาทางโซเชียลมีเดีย เพราะมีเพียงการทำแผนประกอบคำรับสารภาพเท่านั้น นอกจากนี้ การเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอต้องเก็บให้ถูกวิธี ถูกขั้นตอน โดยการตรวจพิสูจน์สามารถทราบผลได้ใน 24 ชั่วโมง โดยคดีต่างๆ มักเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ 2 ส่วน ทั้งจากพยานหลักฐานและจากบุคคล นอกจากนี้ การเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากวัตถุพยานหลักฐานยังขึ้นอยู่กับสภาพความเสื่อม ความเสียหายที่ประกอบ เช่น อุณหภูมิ สารเคมี ระยะเวลา รังสี เชื้อโรค ฯลฯ นอกจากนี้ การตรวจดีเอ็นเอของ นายวรพันธ์ ตู้วิเชียร อดีตผู้ใหญ่บ้านเกาะเต่า ก็ไม่สามารถยืนยันความบริสุทธิ์ของ นายวรท ตู้วิเชียร บุตรชายได้

“ดีเอ็นเอบนจอบ หากจอบอยู่ในน้ำ โอกาสขึ้นไม่มีเลย แต่ถ้าไม่อยู่ในน้ำแล้วตรวจไม่ขึ้น ก็อาจเพราะตรวจไม่ตรงตามตำแหน่ง ผู้ตรวจพิสูจน์ต้องเห็นศพ ถ้าเห็นศพก็จะรู้เลยว่ามันเป็นการกระหน่ำตีมากกว่า 10 คน ต้องตรวจได้ดีเอ็นเอ 100 เปอร์เซ็นต์ และพอเห็นแผลก็จะรู้กระบวนการจับอาวุธ ถ้าจำลองได้ ก็จะเก็บดีเอ็นเอได้ถูกตำแหน่ง แต่ถ้าคนที่เก็บไม่รู้ข้อมูลก็เก็บไม่ถูก ทำให้คลาดเคลื่อนได้”

พญ.พรทิพย์ กล่าวด้วยว่า ภาพรวมคดีนี้อาจเป็นตัวกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงการทำคดีอาชญากรรม เพราะของเดิมไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้ประชาชนได้ โดยเฉพาะงานนิติวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องแยกออกจากอำนาจตำรวจ ทั้งนี้หากมีโอกาสร่วมทำคดีนี้จะไม่ให้มีข้อกังขาแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น