ศาลอาญาจำคุกแก๊งฮั้วประมูลนมโรงเรียน ใน จ.เชียงใหม่ คนละ 26 ปี ปรับคนละ 3 ล้านกว่าบาท ชี้โจทก์มีพยานหลักฐานแน่นหนา และทำให้ราชการได้รับความเสียหาย
ที่ห้องพิจารณา 805 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (21 ต.ค.) ศาลอ่านคำพิพากษาคดี ฮั้วประมูล อ.3603/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้อง นายโสภณ ใจจันทร์ อายุ 49 ปี เจ้าของ หจก.เชียงใหม่โสภณพาณิชย์, นายอินสม นาระต๊ะ อายุ 62 ปี, พนักงานขับรถยนต์ หจก.เชียงใหม่ฯ และ นายณัฐภูมิ หรือ อ้ายมั่น ขันคำ อายุ 33 ปี ผู้จัดการแผนกนม หจก.เชียงใหม่ฯ ทั้งหมดเป็นชาว จ.เชียงใหม่ เป็นจำเลยที่ 1 - 3 ตามลำดับในความผิดฐาน ร่วมกันตกลงในการเสนอราคาเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งมีสิทธิ์ทำสัญญากับหน่วยงานของราชการโดยเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม
โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2553 สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 6 ต.ค. - 18 พ.ย. 2551 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันตกลงเสนอราคาเพื่อทำสัญญาจัดซื้อนมโรงเรียนพาสเจอร์ไรซ์ และ นมยูเอชที ขนาด 200 มิลลิลิตร กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนระดับประถมศึกษา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 9 พื้นที่ รวม 13 สัญญา ใน จ.เชียงใหม่ โดยใช้กลอุบาย และการสมยอมเพื่อกีดกันไม่ไห้ผู้มีสิทธิเสนอราคาตามประกาศการประกวดราคา อันมิใช่เป็นธรรม โดยทุกครั้งที่มีการประกวดราคาจัดซื้อนมโรงเรียนจำเลยคนหนึ่งคนใดจะเสนอราคากลาง ขณะที่จำเลยคนอื่นจะเสนอราคาที่สูงกว่าราคากลางเสมอ เหตุเกิดที่ ต.บ้านหอย อ.จอมทอง, ต.ท่าเดื่อ อ.ดอยเต่า, ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และที่อื่นเกี่ยวพันกัน ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษพวกจำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 3, 4 ประกอบประมวลกำหมายอาญา มาตรา 83, 91 จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างกันแล้วเห็นว่า ฝ่ายโจทก์ มี นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เบิกความว่า จากการตรวจค้น หจก.เชียงใหม่ฯ ของจำเลยที่ 1 พบหนังสือมอบอำนาจ และตรายางของบริษัทห้างร้านอื่นที่ค้านม ซึ่งจำเลยทั้งสาม นำไปใช้ในการยื่นซองประกวดราคาต่อสถานศึกษาต่างๆ ซึ่งจำเลยทั้งสามไม่ได้ทำในฐานะส่วนตัว แต่เป็นการทำหน้าที่แทนในลักษณะสมรู้ร่วมคิดกับ บริษัท ห้างร้าน และ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาลต่างๆ ที่สามารถกำหนดให้ใครเป็นผู้ชนะการประกวดราคาก็ได้ในท้องที่นั้นๆ โดยจำเลยทราบเรื่องดี และตกลงรับหน้าที่เพื่อผู้ยื่นซองประกวดราคา และได้ประโยชน์ตอบแทนจากการว่าจ้างขนส่งนม และอื่นๆ จากผู้ชนะการประกวดราคา การกระทำของพวกจำเลยเป็นการฝ่าฝืนวัตถุประสงค์ของการประกวดราคา ย่อมทำให้หน่วยงานราชการได้รับความเสียหาย ข้อต่อสู้ของพวกจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 3, 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน รวม 13 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี เป็นจำคุกคนละ 26 ปี อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายให้จำคุกจำเลยไว้สูงสุดคนละ 10 ปี ปรับคนละ 3,706,741 บาท