รองปลัด ยธ.เสนอ ใช้งบกองทุนยุติธรรม 120 ล้านบาท วางเงินประกันตัวช่วยผู้ต้องหายากจนในคดีลหุโทษที่ต้องขังและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจำนวนเฉียด 6 หมื่นราย แก้ปัญหานักโทษล้นคุก
วันนี้ (24 ก.ย.) นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการแก้ไขปัญหานักโทษล้นคุกว่า สัปดาห์หน้าตนจะเสนอโครงการอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบรอบ 88 พรรษา โดยจะนำงบประมาณกองทุนยุติธรรมจำนวน 120 ล้านบาทมาช่วยประกันตัวผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีจากศาลจำนวน 59,000 รายที่ต้องโทษคดีลหุโทษ เช่น คดีการพนัน คดีบุกรุกที่ดินรัฐ หรือบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งผู้ต้องขังเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีฐานะยากจน เมื่อถูกจับกุมจะไม่มีเงินวางศาลเพื่อประกันตัวออกไปสู้คดี ทำให้เสียโอกาสในการทำมาหากิน หรือดูแลครอบครัว ตนจะเสนอ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้พิจารณาอนุมัติ และจะทำหนังสือถึงนายวิทยา สุริยะวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้ทำการสำรวจและคัดกรองผู้ต้องหาที่เข้าหลักเกณฑ์ว่ามีจำนวนเท่าใด เบื้องต้นมีผู้ต้องขังทั่วประเทศจำนวนกว่า 310,000 คน แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีจากศาลจะได้รับการพิจาณาทั้งหมด แต่จะมอบหมายให้กรมราชทัณฑ์เป็นผู้ทำการคัดกรองว่ามีจะผู้ต้องขังที่เข้าหลักเกณฑ์กี่ราย
นายธวัชชัยกล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวนอกจากจะช่วยแก้ปัญหานักโทษล้นคุกแล้ว ยังทำให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงยุติธรรมสามารถนำเงินจำนวนนี้ไปช่วยเหลือผู้ต้องขัง 10-20 เปอร์เซ็นต์ออกจากเรือนจำได้ ก็จะช่วยให้ผู้ทำผิดโดยไม่ได้ตั้งใจมีโอกาสกลับตัวตามระบบยุติธรรมพื้นฐานได้
นอกจากนี้ ตนยังมีแนวคิดที่จะนำเงินมาช่วยค้ำประกันผู้ที่ถูกคุมประพฤติในสถานพินิจ และกรมคุมประพฤติ เพื่อให้คนกลุ่มนี้ออกไปใช้ชีวิตกับครอบครัวได้ตามปกติด้วยเช่นกัน โดยโครงการดังกล่าวจะทำคู่ขนานกับการแก้กฎหมายอาญาที่ยอมความได้ที่กระทรวงยุติธรรมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาต่อไป
ด้านนายวิทยา สุริยะวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นการให้โอกาสกับผู้ผู้ต้องขังที่ด้อยโอกาส ไม่มีเงินค่าประกันตัว และต้องถูกคุมขังไว้ระหว่างพิจารณาคดี ได้มีโอกาสเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและได้รับความเป็นธรรม สำหรับขั้นตอนปกติสามารถใช้เงินกองทุนยุติธรรมมาซื้อประกันให้กับผู้ต้องหา โดยไม่จำเป็นต้องวางเงินสดประกันตัวผู้กระทำผิดแต่การที่จะให้ประกันหรือไม่นั้นเป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาว่าจำเลยมีพฤติกรรมหลบหนี ข่มขู่พยานหรือไม่ แต่ในกรณีที่มีการเสนอเป็นคดีประเภท คดีลหุโทษ โทษอาญาไม่ร้ายแรงคงไม่มีปัญหาเพราะขั้นตอนของกรมราชทัณฑ์ก็คุมขังตามหมายศาลเท่านั้น สำหรับตัวเลขผู้ต้องขังที่จะเข้าเกณฑ์หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่นิ่ง เนื่องจากผู้ต้องขังมีหลายประเภทจำนวนจึง ขยับขึ้นลงตลอด ทั้งผู้ฝากขังระหว่างสอบสวน ผู้ฝากขังระหว่างพิจารณา และอุทธรณ์ฎีกา