xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านแพรกษาเดือดร้อน! ฟ้องแพ่งเจ้าของบ่อขยะ-ที่ดิน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายศิลา ทองคำ ที่ปรึกษาเครือข่ายกลุ่มต่อต้านบ่อขยะแพรกษา พาชาวบ้านประมาณ 20 รายฟ้องศาลแพ่ง
“ชาวบ้านแพรกษา 20 ราย” ฟ้องแพ่ง “ผู้ประกอบการบ่อขยะ-เจ้าของที่ดินรวม 3 ราย” เรียกค่าเสียหาย รวม 2 ล้าน ทั้งขอให้ฟื้นฟูบำบัดที่ดินบ่อขยะไม่ให้เกิดภาวะมลพิษ ส่วนคดีที่ฟ้องศาลสมุทรปราการ 10 สำนวน ศาลนัดเจรจาไกล่เกลี่ยคดี



ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (15 ก.ย.) เวลา 13.00 น. นายธนวัฒน์ ตาสัก ทนายความจากสภาทนายความ รับมอบอำนาจนายเพทาย หมายสอนกลาง และชาวบ้านพักอาศัย ต.แพรกษา อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ รวม 20 คน เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายกรมย์พล สมุทรสาคร ผู้ประกอบกิจการคัดแยกฝังกลบบ่อขยะ, นายเด่นตง ตั้งเด่นไชย และนางบุญไทย ตั้งเด่นไชย ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดิน ต.แพรกษา อ.เมืองสมุทรปราการ เนื้อที่ 153 ไร่ ซึ่งจัดทำเป็นบ่อขยะ เป็นจำเลยที่ 1-3 ต่อแผนกคดีสิ่งแวดล้อม เรื่องละเมิดจากการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินจากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ต่อเนื่อง 3 ครั้ง บริเวณบ่อขยะ เมื่อเดือน มี.ค. 2557 ที่ผ่านมา เรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 รายละ 100,000 บาท รวม 2 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (15 ก.ย. 2557) และขอให้จำเลยทั้งสาม หยุดประกอบกิจการและดำเนินการฟื้นฟูระบบนิเวศน์วิทยา บริเวณบ่อขยะสารพิษที่เกิดเหตุ ให้กลับมามีสภาพเป็นปกติตามหลักวิชาการ หรือแบบแผนของกรมควบคุมมลพิษ ที่เป็นหน่วยงานตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยค่าใช้จ่ายให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดการชำระ หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติ ก็ขอให้โจทก์ทั้ง 20 ราย เป็นผู้ดำเนินการขนย้ายขยะในบ่อดังกล่าวออกไปทิ้งนอกพื้นที่ จ.สมุทรปราการ โดยให้จำเลยทั้งสามเป็นชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าว

ตามฟ้องระบุว่า การประกอบกิจการของจำเลยทั้งสาม ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง เกิดเพลิงไหม้จากการประกอบกิจการของจำเลยทั้งสามในพื้นที่ 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2557 ครั้งที่ 2 ระหว่าง 4-8 เม.ย. 2557 และครั้งที่ 3 ในวันที่ 12 พ.ค. 2557 ขณะที่ชาวบ้านได้มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางแล้ว ศาลได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมาจากผลการเกิดเพลิงไหม้ กรมควบคุมมลพิษเข้าตรวจสอบแล้วประกาศว่าพบสารอันตรายที่เป็นผลกระทบต่อสุขภาพโจทก์และชุมชนมากกว่า 4 ชนิด เช่น สารประกอบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในรัศมี 1-1.5 กิโลเมตรเกินค่ามาตรฐาน 10-20 เท่า ซึ่งการกระทำของจำเลยในการนำสิ่งปฏิกูลมาทิ้งในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งใกล้ถิ่นที่อยู่และชุมชนจนเกิดเหตุเพลิงไหม้จนเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ที่ให้จำเลยทั้งสามต้องดำเนินการขนย้ายขยะดังกล่าวออกจากพื้นที่ จ.สมุทรปราการ รวมทั้งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกับโจทก์รายละ 100,000 บาทด้วย ทั้งนี้ โจทก์ทั้ง 20 รายยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตยื่นฟ้องคดีโดยงดเว้นการวางค่าธรรมเนียมศาลด้วย เนื่องจากเป็นคดีสาธารณะ

โดยศาลรับคำฟ้องไว้ในสารบบความ หมายเลขดำที่ สว(พ) 9/2557 เพื่อมีคำสั่งต่อไปว่าจะประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณาพิพากษาหรือไม่

ขณะที่นายศิลา ทองคำ ที่ปรึกษาเครือข่ายกลุ่มต่อต้านบ่อขยะแพรกษา ที่นำชาวบ้านมาฟ้องคดีกล่าวว่า ที่ดินบ่อขยะแพรกษา เนื้อที่ 153 ไร่นั้น เดิมเจ้าของที่ดินได้ขุดหน้าดินไปขายให้แก่นิคมอุตสาหกรรมย่านบางปู ทำให้เกิดหลุมมีความลึกประมาณ20 เมตร ต่อมามีการนำขยะอันตรายประเภทสารเคมีซึ่งก่อให้เกิดผลมลพิษเป็นอันตรายนำมาทิ้ง กระทั่งช่วงเดือน มี.ค. 2557 เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่นาน 7 วัน แล้วยังเกิดไฟไหม้ต่อเนื่องอีก 2 ครั้ง ผลจากไฟไหม้สร้างมลพิษ เศษซากขยะและสัตว์เลื้อยคลานที่มีพิษ ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนต้องกินข้าวพร้อมกับกลิ่นขยะเคมีที่ลอยมาตามลม

นายศิลากล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้ร้องขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความซึ่งได้มีการจัดทีมทนายความช่วยฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ แต่คดีดังกล่าวยังอยู่ขั้นตอนที่ศาลให้มีการไกล่เกลี่ยคดีโดยพิจารณามากว่า 6 เดือนแล้วยังไม่เสร็จสิ้น ชาวบ้านส่วนหนึ่งจะขอใช้สิทธิตามกฎหมายมาฟ้องคดีต่อศาลแพ่งนี้ซึ่งถือว่าเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีทั่วประเทศ ขณะที่เราเห็นว่าศาลแพ่งมีแผนกคดีสิ่งแวดล้อมซึ่งมีผู้พิพากษาที่ชำนาญการในเรื่องนี้

“ตั้งแต่เกิดเหตุหน่วยงานรัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวกับสาธารณสุข หรืองค์กรส่วนปกครองในจังหวัด รวมทั้งเอกชนไม่เคยลงพื้นที่มาดูและชาวบ้านเลยสักครั้งเดียว ทำให้รู้สึกว่าประชานเหมือนจะโดนทอดทิ้ง และต่อไปจะมีการดำเนินการนำเรื่องนี้ส่งให้ คสช.ตรวจสอบว่า พอเกิดเหตุแล้วทำไมทางจังหวัดถึงเพิกเฉย ทุกวันนี้บ่อขยะยังไม่ได้รับการฟื้นฟูยังสร้างมลพิษต่อชาวบ้าน” นายศิลากล่าว และว่า คดีที่ได้ฟ้องต่อศาลปกครองก็ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้วให้เจ้าของบ่อขยะและหน่วยงานปิดบ่อถาวรไม่ให้ใครเข้ามายุ่งเกี่ยว แต่เจ้าของบ่อขยะตอนนี้มีพิรุธว่าดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่ และกำลังกระทำการใช้ประโยชน์ในที่ดินตรงนั้นอย่างไรต่อไป ชาวบ้านไม่สามารถรู้ได้เพราะมีการสร้างกำแพงสูงปิดกั้นรอบพื้นที่

นายสำนวน ประพิณ ทีมทนายจากสภาทนายความ กล่าวว่า สำหรับคดีนี้ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการนั้น ชาวบ้าน 2,000 คน ได้ยื่นฟ้องผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย รวม 10 สำนวนตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 2557 โดยชาวบ้านทั้ง 2,000 ราย เรียกค่าเสียหายรายละ 100,000 บาท รวม 200 ล้านบาท คดีอยู่ระหว่างไกล่เกลี่ยคดี โดยศาลนัดอีกครั้งในวันที่ 29 ก.ย.นี้ ขณะที่การฟ้องคดีต่อศาลแพ่งในวันนี้ มั่นใจว่าไม่ได้เป็นการฟ้องซ้ำ โดยหากศาลแพ่งมีคำสั่งให้ประทับรับฟ้องในคดีนี้ก็เตรียมที่จะขอให้โอนคดีจากศาลจังหวัดสมุทรปราการ มารวมเป็นคดีเดียวกัน



กำลังโหลดความคิดเห็น