xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านกรุงชิง นครศรีฯ ยิ้มหลังศาล ปค.ออกสืบพยานเพื่อพิจารณาผลกระทบจากเหมืองแร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - ชาวบ้านหมู่ที่ 8 ตำบลกรุงชิง ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง มีความผ่อนคลายมากขึ้น หลังจากเข้าสืบพยานเหมืองแร่เขาไม้ไผ่ต่อหน้าตุลาการศาลปกครองที่เข้ามาตรวจสอบพื้นที่อย่างละเอียด เพื่อพิจารณาคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว

วันนี้ (8 พ.ค.) ภายหลังจากชาวบ้านหมู่ที่ 8 ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 55 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่บนเขาไม้ไผ่ หมู่ที่ 8 ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ ซึ่งมีบริษัทพีแอนด์เอสแบไรน์ไมนิ่ง จำกัด เป็นรู้รับสัมปทาน ได้เข้าร้องต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช เพื่อขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวผลกระทบจากการทำเหมืองที่สร้างความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศ และยังสร้างความเสียหายให้แก่สุขภาพของประชาชน รวมทั้งเชื่อว่าการรับสัมปทานนั้นได้มาโดยไม่ปกติ สืบเนื่องจากการออกแปลงสัมปทานนั้นไปทับซ้อนกับที่ดินทำกินของชาวบ้านที่ตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษจำนวนมาก

โดยนายอาทร คุระวรรณ ตุลาการเจ้าของคดี ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อทำการเผชิญสืบต่อหน้าผู้ร้องหรือการสืบพยานนอกศาล ที่เป็นชาวบ้าน และผู้ถูกร้องที่เป็นภาคราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งทนายความผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทผู้รับสัมปทาน เพื่อพิจารณาคำขอคุ้มครองชั่วคราวของผู้ร้องคือ การทำเหมืองที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะลำคลองที่ชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภคไม่สามารถใช้ได้เนื่องจากกลายเป็นโคลนตม และคุณภาพน้ำที่ขุ่น และมีตะกอนจากการทำเหมืองปะปน

นายพิธาน ทองพนัง ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เปิดเผยว่า ชาวบ้านทั้ง 55 ราย ที่ได้รับความเดือดร้อนได้ร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ในประเด็นความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และการกระทำของเหมืองแร่ที่ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยเฉพาะเรื่องของลำคลองสาธารณะ

 
“ขณะเดียวกัน ในส่วนของการร้องต่อศาลปกครองนั้นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการออกแปลงสัมปทานนั้นมีมากถึงกว่า 30 แปลง เนื้อที่รวมกว่า 200 ไร่ ที่ทับซ้อนกับที่กำกินของชาวบ้านจากเหมืองในแปลงที่ 4 และ 5 จากทั้งหมด 4 แปลง นอกจากนั้น ในจำนวนนี้ยังมีชาวบ้านอีก 15 ราย ที่ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าดำเนินคดีในฐานบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งที่พวกเราไม่ได้โค่นต้นไม้แต่ทำเกษตรกรรมไม้ผลมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ แต่แปลกหรือไม่ที่ป่าไม้กลับส่งเสริมให้มีการทำเหมืองที่ทำลายทั้งต้นไม้ ทั้งหน้าดินแทน” ตัวแทนชาวบ้านระบุ

นายวีระ ชุมพันธุ์ ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายคดีสิ่งแวดล้อมสภาทนายความแห่งประเทศไทย ระบุว่า ตุลาการได้ลงพื้นที่ด้วยตัวเองเพื่อสอบเผชิญสืบในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจริง เพื่อพิจารณาร้องขอคุ้มครองชั่วคราว โดยสภาทนายความได้ให้การช่วยเหลือว่าคดีให้ผู้ร้องที่เป็นชาวบ้านทั้งหมดทุกรายที่ได้รับผลกระทบ

ส่วนในพื้นที่นั้นพบว่า มีการถม และปรับเปลี่ยนร่องธารน้ำธรรมชาติจนเสียสภาพความสวยงามที่มีอยู่เดิม คุณภาพของน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งการนำเอาเศษดินที่เหลือจากการทำเหมืองมาทิ้งนอกเขตสัมปทาน ขณะที่บ้านของชาวบ้านอย่างน้อย 2 หลัง ถูกเศษหินปลิวหลังจากการระเบิดภูเขาใส่หลังคาบ้านได้รับความเสียหาย ส่วนถนนนั้นมีสภาพชำรุด และเต็มไปด้วยฝุ่น ซึ่งตุลาการผู้พิจารณาจะรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปสู่การคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่อีกครั้ง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น