xs
xsm
sm
md
lg

อสส.ชี้สำนวนไต่สวนคดี “ปู โกงข้าว” ยังไม่สมบูรณ์ ตั้งคณะทำงานร่วม ป.ป.ช.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


อัยการสูงสุดยังไม่ฟ้องอดีต “นายกฯ ปู” ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ฐานละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการทุจริตรับจำนำข้าว ชี้ 3 ประเด็นบกพร่องสำนวนไต่สวน ป.ป.ช.ตั้งคณะทำงานร่วมหาข้อยุติการฟ้องคดีต่อไป



เมื่อเวลา 14.00 น.วันนี้ (4 ก.ย.) นายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และนางสันทนี ดิษยบุตร รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวความคืบหน้าในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งสำนวนพร้อมมติชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เรื่องละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 123/1 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจโดยมิชอบ จากกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ว่า ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งรายงานการไต่สวนคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว มายังอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณานั้น อัยการสูงสุดได้ตั้งคณะทำงานซึ่งมีนายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุดเป็นหัวหน้าคณะทำงาน พร้อมคณะทำงานอัยการรวม 9 คน โดยคณะทำงานมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าสำนวนคดียังมีข้อไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีตามข้อกล่าวหา และเสนอความเห็นต่อนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด ซึ่งทางอัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้วโดยเซ็นคำสั่งเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา เห็นว่า สำนวนของป.ป.ช.มีประเด็นที่ยังไม่สมบูรณ์สรุป

ดังนี้ 1.ประเด็นเรื่องโครงการรับจำนำข้าว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโครงการรับจำนำข้าวดังกล่าวเป็นโครงการของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้เป็นนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 178 บัญญัติให้ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมายและนโยบายที่ได้แถลงไว้ ต่อรัฐสภาด้วย ดังนั้น จึงควรรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้ความชัดว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการที่จะยับยั้งโครงการที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาแล้วหรือไม่ 2.ประเด็นเรื่องการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ควรทำการไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐาน ให้สิ้นกระแสความว่า ภายหลังจากที่โครงการรับจำนำข้าวได้ถูกท้วงติงจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาได้ดำเนินการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตหรือไม่ อย่างไร ผลการตรวจสอบเป็นอย่างไร 3.ประเด็นเรื่องการทุจริต ควรไต่สวนพยานเพิ่มเติมให้ได้ความว่า โครงการ รับจำนำข้าวที่ยืนยันว่ามีการทุจริตนั้น พบการทุจริตในขั้นตอนใดและมีการทุจริตอย่างไร นอกจากนั้นมีการกล่าวอ้างถึงรายงานวิจัยโครงการนโยบายข้าวของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ TDRI) ว่า โครงการดังกล่าวมีการทุจริตและมีความเสียหายจำนวนมาก แต่ในสำนวนการไต่สวนปรากฏว่า มีเพียงหน้าปกรายงานวิจัยเท่านั้น ดังนั้นจึงให้รวบรวมรายงานวิจัย ทั้งฉบับเป็นพยานหลักฐานในสำนวนการไต่สวนให้สมบูรณ์ด้วย

นายวันชัย กล่าวอีกว่า โดยสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีหนังสือแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วในวันนี้ (4 ก.ย.) และมีคำสั่งตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างอัยการและ ป.ป.ช. ภายใน 14 วัน สำหรับคณะทำงานร่วมนั้นประกอบด้วยผู้แทนจากอัยการจำนวน 10 คน และผู้แทนจากทาง ป.ป.ช. จำนวน 10 คน โดยมีนายวุฒิพงศ์ รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงานในส่วนของทางอัยการ และส่วนใหญ่เป็นคณะทำงานเดิม เพื่อพิจารณาหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์ และรวบรวมพยานหลักฐานไต่สวนพยานเพิ่มเติมให้สำนวนคดีมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับการฟ้องคดีต่อไป ส่วนกรอบระยะเวลาในการพิจารณานั้นขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานในสำนวนว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งทางคณะทำงานร่วมจะเป็นผู้กำหนดกรอบระยะเวลาดังกล่าว ส่วนกรณีผู้ถูกกล่าวหาจะร้องขอความเป็นธรรมนั้น คงจะต้องให้คณะทำงานร่วมทั้ง 2 ฝ่ายพิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ตามขั้นตอนแล้วเมื่อคณะทำงานร่วมพิจารณาเสร็จสิ้น ก็จะเสนอความเห็นไปยังอัยการสูงสุดชี้ขาดอีกครั้ง ถ้าหากมีความเห็นสั่งฟ้องตรงกันก็จะยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่หากความเห็นไม่ตรงกันก็จะส่งสำนวนกลับคืนให้ทาง ป.ป.ช. ซึ่งทาง ป.ป.ช. ก็สามารถแต่งตั้งทนายความยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า สำนวนของทางป.ป.ช. มีความไม่สมบูรณ์อย่างไรบ้าง นายวันชัย กล่าวว่า รายละเอียดในสำนวนของ ป.ป.ช. ระบุเพียงว่ามีการทุจริตทุกขั้นตอน แต่ไม่ลงรายละเอียดว่ามีการทุจริตอะไรบ้าง ตรงส่วนไหน ที่ไหน อย่างไร ใครเป็นคนทำ และผู้ถูกกล่าวหามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร ซึ่งหากคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์มากกว่านี้ ซึ่งขณะนี้ถือว่ายังไม่เพียงพอ

เมื่อถามว่าผลงานวิจัยของทีดีอาร์ไอ ถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญในคดีหรือไม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่ทางทนายความผู้ถูกกล่าวหาร้องขอความเป็นธรรมไว้ นายวันชัย กล่าวว่า ผลงานวิจัยของทีดีอาร์ไอเป็นเพียงส่วนหนึ่งในพยานหลักฐานเท่านั้น ซึ่งทางป.ป.ช.กลับไม่นำเนื้อหาของผลงานวิจัยทั้งหมดมาใส่ในสำนวนคดี มีเพียงหน้าปกของงานวิจัยเท่านั้นจึงทำให้ยังไม่ทราบในรายละเอียด แต่คณะทำงานร่วมจะต้องพิจารณาให้พยานหลักฐานครบถ้วนสมบูรณ์ในทั้ง 3 ประเด็นที่ทางอัยการสูงสุดแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจจะต้องมีการสอบปากคำพยานเพิ่มเติมและรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะพิจารณาไปพร้อมกับประเด็นที่ทนายความผู้ถูกกล่าวหาได้ร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา ซึ่งคดีนี้ก็คล้ายกับคดีของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ที่จะต้องมีการตั้งคณะทำงานร่วมในการพิจารณาพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อให้สำนวนมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้วหากคดีขึ้นสู่ศาล แล้วหากศาลยกฟ้องใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ จะไปบอกว่าทางป.ป.ช.ไต่สวนบกพร่องหรืออัยการบกพร่องก็คงไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องทำให้ดีที่สุด อย่างคดีคุณหญิงจารุวรรณ เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานได้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ทางอัยการสูงสุดก็มีความเห็นสั่งฟ้องในที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า การพิจารณาคดีดังกล่าวซึ่งผู้ถูกกล่าวหาเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ทางอัยการมีแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองหรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ทางอัยการพิจารณาไปตามพยานหลักฐานและทำหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งคงไม่กังวลต่อกระแสกดดันทางการเมืองใดๆ

ต่อมา นางสันทนี ดิษยบุตร รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงข่าวกรณีที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และนาย คัมภีร์ สมใจ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานและทรัพยากรบุคคล (ตำแหน่งขณะเกิดเหตุปี 2546) ปฎิบัติหน้าที่มิชอบกรณี การจัดสัมมนา จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2546 ว่า ภายหลังจากที่คณะทำงานร่วม อัยการ และ ป.ป.ช. ได้รวบรวมพยานหลักฐานและสรุปความเห็นเสนอ นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุดแล้ว เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา อัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งให้ดำเนินคดีอาญาฟ้อง คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 กับพวก ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 83 ตามข้อยุติของคณะทำงานร่วม และมีหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการนำตัวผู้ถูกกล่าวหามาเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลอาญา โดย กล่าวหาว่า เมื่อครั้งคุณหญิงจารุวรรณ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ร่วมกับพวกจัดให้มีการสัมมนาขึ้นที่จังหวัดน่านทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ มีการสัมมนากันจริงแต่เพื่อให้บุคคลที่มีรายชื่อเข้ารับการสัมมนาไปร่วมงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน สามารถเบิกค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้

รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวต่อว่า หลังจากที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ฟ้องแล้วได้มอบหมายให้อัยการสำนักงานคดีพิเศษ 5 เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนยื่นฟ้องคดี หาก ป.ป.ช.นำตัวผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 คนมาส่งให้อัยการ ขณะที่คดีนี้ได้มีการแจ้งข้อไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับพยานหลักฐานไปเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2556 โดยเมื่อคณะทำงานร่วมอัยการและ ป.ป.ช.ได้ใช้เวลา 1 ปีร วบรวมพยานหลักฐานจนครบถ้วน แล้วจึงส่งให้อัยการสูงสุดเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา











กำลังโหลดความคิดเห็น