จัดระเบียบ จยย.สาธารณะวันแรก มีผู้ขับขี่ร่วมลงทะเบียนกว่า 1 แสนราย ส่วนเสื้อวินประจำตัวผู้ขับขี่ คาดจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ ก่อนบังคับใช้จริง 1 ม.ค. 58 ระบุเสื้อจะมีหลายเลขประจำที่ตัวเสื้อ เพื่อตรวจสอบเลขรถและผู้ขับขี่ได้ทันทีหากเกิดเหตุ รวมทั้งป้องกันกลุ่มอิทธิพลเรียกเก็บค่าคุ้มครอง ย้ำหากเลขที่ประจำตัวผู้ขับขี่และเลขรถไม่ตรงกัน ถูกจับกุมทันที
วันนี้ (4 ก.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) พล.ต.ต.จิตติ รอดบางยาง รอง ผบช.น. พร้อมด้วยตัวแทนฝ่าย พล.1 รอ. พ.อ.วณัฐ ลักษณศิริ รองเสนาธิการ พล.1 รอ. นายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อธิบดีกรมขนส่งทางบก และนายสาธิต รังคสิริ หัวหน้าฝ่ายเทศกิจ แถลงความคืบหน้าการจัดระเบียบจักรยานยนต์ในเขต กทม. ซึ่งมีผู้เข้าร่วมลงทะเบียนแล้ว 50 เขต รวมทั้งสิ้น 104,134 คน ส่วนเสื้อวินประจำตัวผู้ขับขี่จักรยานยนต์สาธารณะ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ และจะมีมาตรการบังคับใช้เสื้อดังกล่าวในวันที่ 1 ม.ค. 2558 ที่จะถึงนี้
ด้านนายอัฌษไธค์กล่าวว่า สำหรับการลงทะเบียนผู้ขับขี่จักรยานยนต์สาธารณะมียอดรวมทั้งสิ้น 104,134 คน โดยจะต้องมายืนยันและแสดงตนเพื่อที่จะจัดลำดับคิว ตรวจสอบเลขรถ เสื้อวิน บัตรประจำตัวผู้ขับขี่ว่ามีหมายเลขหรือเลขที่จดทะเบียนตรงกันหรือไม่ เพื่อป้องกันการซื้อขาย ส่วนเสื้อวินใหม่คาดว่าจะเสร็จสิ้นเดือนนี้ และจะเริ่มสวมเสื้อวินใหม่ในวันที่ 1 ม.ค. 2558 เป็นต้นไป การจัดระเบียนจักรยานยนต์สาธารณะครั้งนี้เพื่อให้มีความครอบคลุมและมีประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนที่ใช้บริการ ทั้งนี้ ผู้ขับขี่จักรยานยนต์สาธารณะจะต้องผ่านการอบรมจากคณะอนุกรรมการในเขตพื้นที่ทั้ง 4 ฝ่าย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่กรมขนส่งทางบก และเจ้าหน้าที่เทศกิจ เพราะหากมีการก่อเหตุจะสามารถดูเลขที่ประจำตัวที่เสื้อวินได้ทันที แล้วนำหมายเลขไปแจ้งที่เจ้าหน้าที่ ทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบทันที รวมทั้งยังป้องกันผู้มีอิทธิพลต่างๆ เข้ามาควบคุมวินด้วย
ด้าน พ.อ.วณัฐกล่าวว่า ผลการจัดระเบียบจักรยานยนต์รับจ้างในระยะที่ 2 และที่ 3 ปัญหาที่พบ คือ การจอดรถไม่เป็นระเบียบ กีดขวางประชาชน, ค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรม, ผู้มีอิทธิพลหาผลประโยชน์ และความไม่มั่นคงในอาชีพจักรยานยนต์รับจ้าง จึงเป็นเหตุให้ทางคณะ คสช. และกองกำลังรักษาความสงบ มอบหมายให้กอง พล.1 รอ.ดำเนินการจัดระเบียบจักรยานยนต์สาธารณะโดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 จะเป็นระยะเร่งด่วน เพื่อลดปัญหาประชาชน โดยเริ่มปฏิบัติตั้งแต่ 13 มิ.ย. - 9 ก.ค. 57 เช่น 1. การทำป้าย 2. การปรับจุดจอดรับส่งผู้โดยสารให้เป็นระเบียบ 3. การออกใบรับรองวินที่จดทะเบียนแล้ว 4. สถานีตำรวจเก็บหลักฐาน 5. การจัดอบรมชี้แจงมารยาท 6. การแต่งตั้งคณะกรรมการทั้ง 4 ฝ่าย 7. การดำเนินการต่อผู้มีอิทธิพลทั้งหมด 8. การขยายเวลาให้ผู้ขับขี่ใหม่หรือจักรยานยนต์ที่ยังไม่ลงทะเบียนในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล และ 9. การพิจารณากฎหมายหรือระเบียบข้อเกี่ยวข้อในการปฏิบัติทั้งหมด
ระยะที่ 2 ระยะกลาง คือ การแก้ไขภายใต้กรอบกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. - 31 ส.ค. 57 ได้แก่ 1. การพิจารณาจัดตั้งวินใหม่ 2. การพิจารณาสมาชิกใหม่ 3. การกำหนดจุดจอดรับส่งผู้โดยสารตามหลักเกณฑ์ ถูกต้องตามกฎหมาย และ 4. การจัดการกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ขั้นตอนเสนอคณะ คสช. พ.ร.บ.รักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อย พ.ศ. 2535 มาตรา 17 ที่ระบุว่าให้มีจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ, แก้ไข พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 64 ระบุว่าให้เพิ่มโทษผู้ขับขี่รถยนต์ที่ไม่มีใบอนุญาต, กฎกระทรวงที่กำหนดหลักเกณฑ์การเพิกถอนทะเบียนจักรยานยนต์สาธารณะ พ.ศ. 2553 และกฎกระทรวงที่กำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสำหรับจักรยานยนต์สาธารณะ พ.ศ. 2548
ระยะที่ 3 ระยะยาว ที่คอยแก้ไขผลกระทบทุกด้าน โดยเริ่มตั้งแต่ ก.ย. 57 เป็นต้นไป ได้แก่ 1. การจดทะเบียนสมาชิกใหม่ในวินเดิม การจัดตั้งวินใหม่ 2. การกำหนดจุดจอดรถรับส่งผู้โดยสาร 3. การติดตามแก้ไขปัญหา และประเมินสถานการณ์ต่างๆ และ 4. การกำหนดให้ผู้ขับขี่จักรยานยนต์สาธารณะทุกคนที่มีป้ายเหลืองถูกต้องตามกฎหมาย ทำบัตรประจำตัวผู้ขับขี่จักรยานยนต์สาธารณะ เพื่อเป็นเครื่องหมายยืนยันการตรวจสอบ และเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ประชาชนที่ใช้บริการ โดยจะกำหนดให้มีการใส่เสื้อวินเดิมถึงวันที่ 31 ธ.ค.เท่านั้น ส่วนในวันที่ 1 ม.ค. 2558 ผู้ขับขี่จักรยานยนต์สาธารณะทุกประเภทจะต้องสวมเสื้อวินแบบใหม่ที่มีหมายเลขประจำตัวให้เรียบร้อย
อย่างไรก็ตาม หากมีการตรวจสอบเลขที่ประจำตัวผู้ขับขี่ และเลขรถจักรยานยนต์ไม่ตรงกันจะมีการจับกุมตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายทันที