สตช.มอบหมาย บช.ก.บก.รฟ.เพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่โดยสารรถไฟ ปรับยุทธวิธีติดตามจับกุมคนร้าย โดยนำกรณี ตร.บางชันยิงใส่รถนิสิตจุฬาฯ มาเป็นกรณีศึกษา
วันนี้ (7 ส.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.เรืองศักดิ์ จริตเอก ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้สั่งการในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) ให้ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) กองบังคับการตำรวจรถไฟ ( บก.รฟ.) เพิ่มมาตรการป้องกันเหตุ ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินดูแลความปลอดภัยของประชาชนที่โดยสารรถไฟให้เป็นรูปธรรมที่มีความชัดเจนในการปฏิบัติ และประสานขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย และสถานีตำรวจท้องที่ เพื่อสนับสนุนกำลังพล วัสดุอุปกรณ์ แนวทางการปฏิบัติ และให้กองสารนิเทศ ประสานข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดถึงมาตรการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะดำเนินการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน และให้ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) เป็นเจ้าภาพหารือร่วมกับกองบัญชาการศึกษา โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สำนักงานกฎหมายและคดี (กมค.) และสถาบันส่งเสริมการสอบสวน กำหนดมาตรการและแนวทางการปฏิบัติการทางด้านยุทธวิธีติดตามจับกุมคนร้าย ให้มีความปลอดภัยและสามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ โดยนำบทเรียนจากเหตุการณ์จับกุมคนร้ายของชุดสืบสวน สน.บางชัน มาเป็นกรณีศึกษา เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก และให้ สธ.พิจารณาเรื่องการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชน และชี้แจงการดำเนินการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ขณะเดียวกัน พล.ต.ท.เรืองศักดิ์ยังได้สั่งการให้ กมค.ประสานกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กองแผนงานอาชญากรรม สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ และหน่วยที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลที่เกี่ยวกับการปราบปรามอบายมุข ตู้จักรกลไฟฟ้า มาพิจารณาประกอบคำสั่ง และประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมทั้งกฎหมายปกติ เพื่อพิจารณาวางแผนการป้องกันและการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมแหล่งอบายมุข และนำไปสู่การขยายผลดำเนินคดีและทำลายขอกลาง
ทั้งนี้ ให้กองการต่างประเทศ (ตท.) นำข้อมูลคลิปวิดีโอการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ รวมทั้งกฎหมายห้ามใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถในต่างประเทศ ส่งให้กองบังคับการตำรวจจราจร เพื่อเป็นเจ้าภาพในการหารือร่วมกับ ผก.สยศ.ตร. ศึกษาและขยายผลในการบังคับใช้กฎหมายต่อไป และให้ สตม. และ รพ.ตร. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์และกำหนดมาตรการป้องกันโรคไวรัสอีโบลา การแจ้งเตือน การรายงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเฝ้าระวังกลุ่มบุคคลที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่มีการแพร่ระบาด