ป.ป.ท.เผย 4 กระทรวงใหญ่มีข้าราชการถูกร้องทุจริตมากที่สุด ระบุมีการร้องเรียนยักยอกเงินใช้ประโยชน์ส่วนตัว ปลอมแปลงเอกสาร เตรียมวางมาตรการป้องกันการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ หลังพบกว่าร้อยละ 80 ส่อทุจริต
วันนี้ (7 ส.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. แถลงความคืบหน้าการดำเนินงานตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 69/2557 เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในภาครัฐซึ่งได้หารือกับเครือข่ายแนวร่วมภาคส่วนต่างๆ เพื่อแสดงพลังปกป้อง รับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน หรือหน่วยงาน และมีการแลกเปลี่ยนความเห็นกับ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งทั้ง ป.ป.ท.และสำนักนายกรัฐมนตรี มีความพร้อมในการขับเคลื่อนมาตรการแก้ปัญหาทุจริตภาครัฐ
นอกจากนี้ ได้เข้าหารือกับนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ที่จะผลักดันโครงการสุนัขเฝ้าบ้าน (watch dogs) ให้ขยายตัวไปยังสังคมและชุมชนทั่วไป โดยจะพยายามให้ทุกหมู่บ้านมีเครือข่ายเฝ้าระวังการทุจริตด้วย
ขณะที่การเร่งรัดผลการดำเนินคดีตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน ถึงวันที่ 6 สิงหาคม มีเรื่องเสนอเข้าพิจารณา 534 เรื่อง รับไว้ไต่สวนข้อเท็จจริง 130 เรื่อง ชี้มูลแล้ว 29 เรื่อง ส่วนการที่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เขต 1 ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ และที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ ปรากฏว่าตั้งแต่มีการประกาศ คสช. หน่วยงานที่รับผิดชอบและประชาชนในพื้นที่ตื่นตัวมากขึ้น สามารถคืนผืนป่ากลับมาเป็นสมบัติของชาติได้ 3,233 ไร่ ราคาไร่ละ 1-1.5 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 พันล้าน ทั้งนี้ คสช.และ ป.ป.ท.ยังมีมาตรการเชิงรุก และทำงานร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อย่างต่อเนื่อง
นายประยงค์กล่าวว่า ป.ป.ท.ยังพบการทุจริตในการจัดงบโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ที่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก และพบว่ามีมูลถึงร้อยละ 70-80 โดยทาง พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช.ได้อนุมัติมาตรการเชิงรุกในการป้องกันการทุจริต 3 ระยะ คือ 1. ก่อนเกิดภัยพิบัติ ต้องรวบรวมข้อมูลว่าจะทำอย่างไร ต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ 2. มาตรการขณะเกิดเหตุ โดยเมื่อประกาศว่ามีภัยพิบัติแล้วต้องการใช้งบเท่าไหร่ และ 3. มาตรการหลังเกิดภัยพิบัติ จะต้องส่งข้อมูลการใช้งบประมาณให้ตรวจสอบทันที
นอกจากนี้นยังมีรายงานแจ้งว่า มีข้าราชการมักถูกร้องเรียนใน 5 เรื่อง คือ 1. การยักยอกหรือเบียดเบียนเงินราชการไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว 2. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อาทิ การจับกุมคุมขังไม่เป็นไปตามกฎหมาย 3. การปลอมแปลงเอกสาร การเรียกเก็บเงิน หรือการใช้เอกสารเท็จในการเบิกจ่ายงบประมาณ 4. เรียกรับเงินหรือผลประโยชน์ใต้โต๊ะ และ 5. รับรองเอกสารที่เป็นเท็จ หรือเอกสารปลอม
สำหรับหน่วยงานที่มีข้าราชการถูกร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ 1. กระทรวงมหาดไทย เนื่องจากมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสังกัด 2. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 3. กระทรวงศึกษาธิการ ที่มีเรื่องร้องเรียนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการโยกย้าย และทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง และ 4. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายด้วยการตรวจสอบข้อเท็จจริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ป.ป.ท.รับเรื่องร้องเรียนทุจริตในภาครัฐตั้งแต่ปี 2551-2557 รวม 15,206 เรื่อง โดยในเดือนกรกฎาคม 2557 รับเรื่องร้องเรียน 494 เรื่องออกเลขสำนวน 156 เรื่อง และขอเอกสารเพิ่มเติม 137 เรื่อง