xs
xsm
sm
md
lg

เสธ.เจมส์-สมุนอ่วม! เจอ 4 ข้อหา “อั้งยี่-รีดส่วย” ผู้ค้าพัฒน์พงศ์

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ล.ต.เจนรณรงค์ เดชวรรณ หรือ “เสธ.เจมส์” อายุ 55 ปี ผู้ทรงคุณวุฒิประจำสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม
นายทหารพระธรรมนูญคุมตัว “เสธ.เจมส์” พร้อมสมุน ส่งให้ ตร.แจ้ง 4 ข้อหาฉกรรจ์ “อั้งยี่-ซ่องโจร-กรรโชกทรัพย์-เรียกรับสินบน” ก่อนคุมตัวไปฝากขังที่ศาลอาญาผลัดแรก ด้านเจ้าตัวปฏิเสธตั้งตัวเป็นมาเฟีย อ้างความเป็นจิตอาสาเพื่อเข้าไปขจัดความขัดแย้งในแผงการค้าย่านพัฒน์พงศ์ โดยมีผู้ค้าส่วนหนึ่งมามอบดอกไม้ให้กำลังใจด้วย



วันนี้ (5 ส.ค.) ที่กองปราบปราม พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ พล.ม.2 รอ.พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร ได้เชิญตัว พล.ต.เจนรณรงค์ เดชวรรณ หรือ “เสธ.เจมส์” อายุ 55 ปี ผู้ทรงคุณวุฒิประจำสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม เข้าพบ พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.สุวัฒน์ แสงนุ่ม พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ บก.ป.เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา หลังจากร่วมกับพวก ประกอบด้วย น.ส.นงนุช สิทธิรัตน์ อายุ 44 ปี, นายปานทอง ศิริวรรณ์ อายุ 40 ปี, นางจันทิมา โชติกิตติเกษม อายุ 44 ปี และ น.ส.สุรัตน์ พุ่มพวง อายุ 46 ปี เรียกเก็บค่าคุ้มครองจากผู้ค้าย่านพัฒน์พงศ์ เขตบางรัก กทม.

ทั้งนี้ พล.ต.เจนรณรงค์มีสีหน้ายิ้มแย้ม ไม่ได้แสดงถึงความวิตกกังวลใดๆ พร้อมกันนั้นยังได้เข้าไปทักทายบรรดาผู้ค้ากว่า 50 คนจากย่านพัฒน์พงศ์ที่นำดอกกุหลาบเดินทางมาคอยให้กำลังใจและชูป้ายที่มีข้อความระบุว่า “เสธ.เจมส์ เป็นคนดี มีน้ำใจ ไม่ใช่มาเฟีย” โดย พล.ต.เจนรณรงค์ลงจากรถด้วยเครื่องแบบเต็มยศ พร้อมกำลังสารวัตรทหารคอยดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ก่อนจะเดินไปยังห้องประชุมสุรสีหนาท บก.ป.เพื่อพบพนักงานสอบสวน โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่าขอบคุณสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจ แต่ยังปฏิเสธที่จะตอบคำถามหรือชี้แจงเกี่ยวกับกรณีการถูกกล่าวหา

สำหรับข้อหาที่พนักงานสอบสวนได้แจ้งดำเนินคดีต่อ พล.ต.เจนรณรงค์ กับพวก ประกอบด้วย 1. ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลปกปิดวิธีการที่มีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย กระทำผิดฐานอั้งยี่ 2. ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตน หรือผู้อื่นในการจูงใจให้เจ้าพนักงานโดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมาย ให้กระทำการหรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือโทษแก่บุคคลใด 3. ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการหรือไม่กระทำการใด โดยกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจ หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย และ 4. ข่มขืนใจผู้อื่นยอมให้ทรัพย์สินโดยใช้กำลงประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่งกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สิน กระทำผิดฐานกรรโชกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209, 143, 309 และ 337 ตามลำดับ

พ.ต.อ.ประสพโชคกล่าวว่า เนื่องจากในวันเดียวกันนี้ครบกำหนด 7 วัน ตามอำนาจ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกในการกักตัวผู้ถูกกล่าวหา ทางเจ้าหน้าที่ทหารได้เชิญตัว พล.ต.เจนรณรงค์ ที่ถูกกักตัวที่ พล.ม.2 รอ.กับพวกที่เป็นพลเรือนอีก 4 คนมาส่งมอบให้พนักงานสอบสวน พร้อมกันนั้นได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีในความผิดรวม 4 ข้อหา ซึ่งทางพนักงานสอบสวน บก.ป.ก็จะพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดได้ทราบ ส่วนจะให้การอย่างไรก็ถือเป็นสิทธิ

พ.ต.อ.ประสพโชคกล่าวต่อว่า หลังจากกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหามีการพิมพ์ลายนิ้วมือทำประวัติเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดส่งไปฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพใต้เป็นครั้งแรก มีกำหนด 12 วัน รวมทั้ง พล.ต.เจนรณรงค์ เนื่องจากทางทหารไม่ได้ทำเรื่องประสานมาว่าจะรับตัวไปควบคุม ส่วนเรื่องการยื่นขอประกันตัวก็เป็นสิทธิของผู้ต้องหา และเป็นดุลพินิจของศาลว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ อย่างไรก็ดี สำหรับการคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาหรือไม่นั้น ทางพนักงานสอบสวนจะพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่งก่อน

ต่อมาเจ้าหน้าที่อนุญาตให้ พล.ต.เจนรณรงค์ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชน โดยเจ้าตัวกล่าวว่าอยากจะเรียนผ่านสื่อมวลชนไปยังผู้บังคับบัญชา โดยเฉพาะปลัดกระทรวงกลาโหม หรือ ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าตนไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้ภาพลักษณ์ของกองทัพเสียหาย การเข้ามาจัดการกับความขัดแย้ง หรือเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องผู้ค้าขายย่านพัฒน์พงศ์ที่เคยถูกกดขี่รังแกก็เป็นไปด้วยการที่มีจิตอาสา จนเวลานี้ได้ถูกกล่าวหาจนทำให้ภาพลักษณ์กองทัพต้องเสียหายนั้น คงต้องกล่าวขอโทษ แต่ก็เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจที่ทำไป ก็ต้องขอฝากโทษพี่น้องประชาชนด้วย

พล.ต.เจนรณรงค์กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่ถูกกักตัวที่ พล.ม.2 รอ.เป็นเวลา 7 วันนั้นได้รับการดูแลเป็นอย่างดี เรื่องการกินอยู่หลับนอนไม่มีข้อบกพร่องใดๆ จึงต้องขอขอบคุณไปทางกองทัพด้วย อย่างไรก็ดี ในส่วนของข้อกล่าวหาต่างๆ นั้นคงต้องขอพิจารณาก่อนต้องเข้าสู่กระบวนการต่อสู้คดีในชั้นศาล ยืนยันว่ากรณีที่เกิดขึ้นตนเข้าไปทำเองด้วยจิตอาสา เข้าไปช่วยผู้ที่ถูกรังแกในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง แม้ว่าในทางข้อกฎหมายนั้นไม่สามารถกระทำได้ แต่เป็นการช่วยเหลือสังคมขจัดความขัดแย้ง เป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยให้กับคู่ขัดแย้ง ใช้หลักการคือสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในสังคม และความขัดแย้งลักษณะนี้มีทั่วประเทศทุกที่ เพียงแต่ว่าใครจะกล้าอาสาเข้าไปจัดการกับความขัดแย้งนั้น

พล.ต.เจนรณรงค์กล่าวด้วยว่า กรณีที่พัฒน์พงศ์ก็มีการร้องเรียนจากกลุ่มแม่ค้าไปยังกระทรวงมหาดไทยก่อนหน้านี้ และในฐานะที่ตนเป็นคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อได้รับร้องเรียนจึงลงพื้นที่ ได้ไปพบผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประสานกับ ผกก.ในท้องที่เพื่อเข้าไปรับทราบปัญหามาเฟียในพื้นที่ จนสุดท้ายก็มีการทำแบบสอบถามความพึงพอใจของพ่อค้าแม่ค้าว่าการที่เราเข้ามาเขามีความสุขมากขึ้นหรือไม่ และจัดการกับความขัดแย้งโดยเราตัดขั้นตอนของมาเฟียออกไป และในส่วนนี้ก็ได้ให้พ่อค้าแม่ค้าได้เก็บเงินกันเองและให้มีการบริหารจัดการกันเองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายส่วนต่างๆ จนมีเรื่องราวกล่าวหาว่าตนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องดังกล่าว ซึ่งตนเข้าไปดูแลแก้ไขปัญหาที่ย่านพัฒน์พงศ์ นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สำหรับปัญหาที่ได้รับร้องเรียนเป็นอย่างมาก คือ กรณีของการเรียกเก็บเงินค่าคุ้มครองในจำนวนมากจนกลุ่มผู้ค้าเดือดร้อนอยู่ไม่ได้ แต่มีใครที่เป็นผู้เรียกเก็บเงินส่วนนี้บ้างขอให้ทางพ่อค้าแม่ค้าได้เป็นคนพูดเอง ตนเข้าไปเพียงให้คำแนะนำว่าควรจะจัดการกันอย่างไรเพื่อให้อยู่กันได้

ต่อมาเวลา 14.00 น. ภายหลังการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัว พล.ต.เจนรณรงค์กับพวกรวม 5 คนขึ้นรถตู้ ออกไปโดยมีรถเจ้าหน้าที่ร่วมหัวและท้ายขบวน เดินทางไปยังศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อขออำนาจศาลฝากขังต่อไป


ผู้ค้าย่านพัฒน์พงศ์ส่วนหนึ่งเดินทางมาให้กำลังใจ
แจ้ง 4 ข้อหาหนักเสธ.เจมส์และพวกซึ่งเป็นพลเรือน 4 คน
ควบคุมตัวไปขออำนาจศาลฝากขัง










กำลังโหลดความคิดเห็น