xs
xsm
sm
md
lg

ตร.เผยผลศึกษา ตำรวจฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไป 3 เท่า

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ตร. เผยผลการศึกษาวิจัย พบอัตราตำรวจฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไป 3 เท่า ชี้เพราะเครียดงาน ปัญหารุมเร้า งาน - ส่วนตัว - หนี้สิน ครบองค์ประกอบก็มักจะก่อเหตุเศร้าสลด เพราะมีอาวุธอยู่ใกล้ตัว

เมื่อเวลา 17.00 น. วันนี้ (29 ก.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย รองผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพลกล่าวถึงเหตุตำรวจฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ว่า เรื่องนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญ โดยพล.ต.อ.วัชรพล ได้มอบหมายให้ทางสำนักงานกำลังพล โรงพยาบาลตำรวจ และสำนักยุทธศาสตร์ตำรวจ ทำการวิจัย ซึ่งขณะนี้ก็ได้วิจัยไปส่วนหนึ่งแล้ว โดยเราต้องการข้อมูลเพิ่มเติม เป็นข้อมูลที่ย้อนหลังไปประมาณ 5 - 10 ปี ซึ่งจากผลวิจัยส่วนหนึ่งสามารถสรุปได้เป็นกลุ่มๆ มีหลายสาเหตุ และพบว่าการฆ่าตัวตายของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกิดขึ้น มีสูงกว่าคนทั่วไป 2 - 3 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่พบ คือ เรื่องของความเครียดจากการปฏิบัติหน้าที่ที่หนักกว่าอาชีพอื่น และการที่จะต้องเผชิญกับปัญหาเฉพาะหน้าอยู่บ่อยครั้ง จึงเป็นสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง และปัญหารองลงมา เช่น ปัญหาสุขภาพ หนี้สิน และปัญหาภายในครอบครัว โดยปัญหาเหล่านี้เป็นส่วนประกอบของการคิดฆ่าตัวตาย เมื่อปัจจัยปัญหาครบรุมเร้าหลายเรื่องก็ลงมือ และที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีอาวุธอยู่ใกล้ตัว ก็จะทำให้การฆ่าตัวตายนั้น ค่อนข้างไม่ยาก อันตรายกว่าอาชีพอื่น เพราะในอาชีพอื่น เมื่อคิดจะฆ่าตัวตายแล้ว แต่ไม่มีอาวุธอยู่ในมือ จึงทำให้กระทำการลงมือได้ยากกว่า

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อว่า จากการวิจัยของโรงพยาบาลตำรวจที่ยืนยันมา คือ สิ่งที่จะช่วยได้เป็นอย่างยิ่ง ในเบื้องต้นจะเป็นการตรวจสอบพฤติกรรมเสี่ยงของบุคคลที่จะฆ่าตัวตาย ซึ่งจะสามารถตรวจสอบพฤติกรรมล่วงหน้าได้ 2 - 3 วัน โดยจะตรวจสอบจากอาการ ขาดงาน ซึมเศร้า ซึ่งตรงนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการแจ้งไปถึงผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดของทุกหน่วยให้ทำการตรวจสอบ ทั้งนี้ เราจะมีการขยายผลการศึกษาและรายละเอียดให้ครอบคลุม เพื่อจะได้แก้ไขให้ถูกทิศทางต่อไป นอกจากนี้ ในการศึกษาข้อมูลเพื่อแก้ไข ได้สั่งการให้ตรวจสอบข่าวสารย้อนหลัง เพราะพบว่าเมื่อมีกรณีตำรวจฆ่าตัวตาย ข่าวที่ปรากฏในสื่อ เป็นสาเหตุหนึ่ง เช่น หึงหวง หนี้สิน เครียดงาน ปัญหาสุขภาพ แต่พอสรุปสำนวนคดี หลายครั้งพบข้อมูลคลาดเคลื่อน อาจมีการช่วยกันในส่วนคดีที่กระทบผู้ตาย จึงทำให้ไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง ในการศึกษาจึงต้องหามูลเหตุโดยให้นำข่าวสารในสื่อมวลชนมาประกอบด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น