xs
xsm
sm
md
lg

“สมยศ” พอใจสายด่วน 1599 คลายเครียดตำรวจ ผลตอบรับดี

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.ขณะตรวจเยี่ยมการทำงานของทีมจิตแพทย์ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา
ผบ.ตร.ติดตามผลกรณีเปิดสายด่วน 1599 จัดทีมจิตแพทย์รับปรึกษาปัญหาตำรวจเครียด พบ 2 วันมีตำรวจโทร.มาปรึกษาปัญหา 10 ราย ส่วนใหญ่เครียดเรื่องงาน-หนี้สิน ด้าน ผบช.สกพ.ระบุตั้งแต่เดือน ก.ย.-ต.ค.มีตำรวจฆ่าตัวตาย 5 ราย

วันนี้ (12 ต.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.ได้เปิดเผยว่าหลังจากที่ได้เปิดให้จิตแพทย์มานั่งให้คำปรึกษาปัญหาความเครียดของพี่น้องข้าราชการตำรวจทางสายด่วน 1599 มา 2 วัน นั้นตนเองก็ได้ติดตามผลสอบถามข้อมูลและพูดคุยหารือกับ พล.ต.ต.นพ.สมบูรณ์ ตันตระกูล รรท.นายแพทย์ใหญ่ (สบ 8) พร้อมกับทีมจิตแพทย์ ที่มานั่งให้คำปรึกษา รวมถึงจากการที่ตนนั้นได้เคยศึกษาข้อมูลจากการวิจัยของหน่วยงานต่างๆ ที่สรุปมูลเหตุของการฆ่าตัวตายของข้าราชตำรวจว่าเกิดจากสาเหตุจากการที่ถูกตำหนิติเตียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของ ตำรวจในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำคดีอาชญากรรม การอำนวยการจราจร หรือแม้กระทั่งเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันแล้วนำภาพที่ถูกนำเสนอเหล่านั้นมาเหมารวมเป็นภาพตำรวจทั้งหมด ซึ่งตนมองว่าเป็นการสรุปที่ตื้นเขินเกินไป เนื่องเพราะในความเป็นจริงในอีกด้านหนึ่งของตำรวจนั้นก็เป็นปุถุชน เป็นประชาชนที่สวมหมวกอีกใบในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ซึ่งมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน ดังนั้น หากมองตำรวจอย่างเข้าใจและเข้าถึงเนื้องานก็จะพบว่าพวกเขาเหล่านั้นแบกภาระหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างหนักอึ้งไว้บนบ่า จึงไม่แปลกที่ผลการศึกษาของกองวิจัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ข้าราชการตำรวจมีความเครียดมากกว่าอาชีพอื่นๆ แต่ที่กำลังเป็นปัญหาต่อ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือ ความเครียดที่เกิดขึ้นกับตำรวจนั้นกลับนำไปสู่การฆ่าตัวตายซึ่งมีอัตราสูงกว่าประชากรประมาณ 3 เท่า และยังสูงกว่าข้าราชการทุกหน่วยงาน

พล.ต.อ.สมยศยังกล่าวอีกว่า ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามไปมากกว่านี้ตนจึงมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทำการศึกษาให้ถึงต้นตอของปัญหา พบว่าสาเหตุไม่ได้มีแค่ความเครียดส่วนตัวหรือหน้าที่การงานเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น อาวุธปืนใกล้ตัวหยิบจับง่าย ขาดความรู้ด้านโรคจิตเวชเพื่อการดูแลตัวเอง ที่สำคัญหลายกรณีที่เกิดขึ้นเพราะเรื่องไม่เป็นเรื่อง จากคำพูดและการกระทำของผู้บังคับบัญชา ประกอบกับกับการที่ไม่มีช่องทาง ให้ตำรวจที่กำลังมีปัญหาได้ใช้ปรึกษา พูดคุย หรือระบายความในใจ

“จากเรื่องราวเหล่านี้จึงเป็นที่มาที่ตนได้เกิดแนวคิดเปิดให้ใช้ศูนย์รับแจ้งเหตุ 1599 ของ ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) มาประยุกต์ปรับใช้เป็นสายด่วน 1599 เพื่อเป็นอีกช่องทางให้ตำรวจชั้นประทวนได้ใช้ปรึกษาปัญหาหนักอกทั้งหลาย โดยจะมีทีมจิตแพทย์ และนักจิตวิทยาจาก รพ.ตำรวจ ที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาให้คำปรึกษาในเวลา 13.00 น.ถึงเวลา 16.00 น.ทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี อยากให้ตำรวจที่มีความเครียดได้โทร.เข้ามาปรึกษาเพื่อหาทางออกแก้ปัญหาให้กับตัวเองแล้วจะได้มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป” พล.ต.อ.สมยศกล่าว

ด้าน พ.ต.ท.หญิง นิภาพร คำอั้น นักจิตวิทยา (สบ 2) กล่าวว่า หลังเปิดศูนย์ฯ มาได้ 2 วัน ก็มีตำรวจโทร.เข้ามาปรึกษาแล้วประมาณ 10 ราย ส่วนใหญ่ปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับการทำงาน เช่น ความรู้สึกที่อยากสอบเลื่อนขั้นเป็นสัญญาบัตร แต่สอบไม่ได้ซักที จึงเกิดความเครียด แล้วเขาก็อยากรู้ว่าทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะสามารถช่วยเหลือเขาได้อย่างไร นอกจากนี้ยังมีตำรวจที่มีปัญหาเรื่องครอบครัว และหนี้สินส่วนตัวโทรเข้ามาปรึกษาด้วย ข้อมูลของจากศูนย์ฯ ทำให้เห็นว่าตำรวจวัยเกษียณอายุราชการ เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่โทร.เข้ามาขอรับคำปรึกษา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาด้านสุขภาพ และโรคประจำตัว

“ยอมรับว่าการที่ตำรวจซึ่งมีภาวะเสี่ยงฆ่าตัวตายและมีอาวุธปืนประจำตัวอยู่ใกล้ตัวก็ทำให้เขาตัดสินใจคิดสั้นได้ทันทีเมื่อซึ่งในการป้องกันนั้น สายด่วนนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยยับยั้ง แต่ที่สำคัญกว่าคือ ครอบครัว คนรอบข้าง รวมทั้งผู้บังคับบัญชาที่อยู่ใกล้ชิดพวกเขา ต้องหมั่นเอาใจใส่ดูแลสอบถามสารทุกข์สุขดิบ หากพบว่าเริ่มมีปัญหาก็ควรเรียกเก็บอาวุธปืนไว้ก่อน ผู้บังคับบัญชามีส่วนสำคัญ เป็นคนที่มีความใกล้ชิดกับคนเหล่านี้ เพราะแม้จะพยายามจัดกิจกรรมสันทนาการใดๆ เพื่อผ่อนคลายความเครียด แต่ก็คงไม่อาจเข้าถึงตัว เนื่องจากคนเครียดมักจะเก็บตัว ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร” พ.ต.ท.หญิง นิภาพรกล่าว


ด้าน พล.ต.ต.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รรท.ผบช.สกพ.เปิดเผยว่า ตนนั้นเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเบื้องตนเมื่อ ผบ.ตร.ได้มีนโนบายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักงานกำลังพล ไปประสานกับสำนักงานยุทธศาสตร์ และโรงพยาบาลตำรวจ แล้วได้รวบรวมข้อมูลการฆ่าตัวตายของตำรวจ โดยสถิติตั้งแต่ปี 2551-2556 พบว่ามีตำรวจฆ่าตัวตาย 172 คน โดยอยู่ในช่วงอายุ 41-50 ปี และเป็นตำรวจฝ่ายป้องกันปราบปรามมากที่สุด ต่อมาเมื่อเดือน ก.ค. 2556 - ก.ค. 2557 พบว่า มีตำรวจฆ่าตัวตาย 44 นาย โดยเป็นตำรวจฝ่ายป้องกันปราบปรามมากที่สุดอีกเช่นกัน รองลงมาเป็นตำรวจฝ่ายสืบสวน ล่าสุดที่ได้มีการรวบรวมไว้เมื่อวันที่ 5 ก.ย.จนถึงวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีตำรวจฆ่าตัวตาย 5 ราย โดยเป็นตำรวจฝ่ายป้องกันปราบปราม 3 ราย ส่วนอีก 2 รายอยู่ฝ่ายปฏิบัติการพิเศษและสอบสวน สำหรับโดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหาครอบครัว ปัญหาหนี้สิน ปัญหาสุขภาพ และปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่การงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น