ปอท.จับแก๊งแฮกเกอร์ปลอมแปลงอีเมล์บริษัทจำหน่ายวัสดุก่อสร้างชื่อดัง ลวงให้คู่ค้าโอนเงินกว่า 6 ล้านเข้าบัญชีปลอมเชื่อมโยงประเทศไนจีเรีย แต่ผู้ต้องหายังการปฏิเสธ ก่อนถูกดำเนินคดีฐานกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
วันนี้ (16 ก.ค.) ที่กองบัญชาการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ชั้น 8 ศูนย์ราชการอาคารบี พ.ต.อ.สมพร แดงดี รอง ผบก.ปอท. พ.ต.อ.โยธิน โตสง่า ผกก.3 บก.ปอท. ร่วมแถลงผลจับกุม นางนวลจันทร์ ชาฤทธิ์ อายุ 43 ปี และนายตัมเบ อีชู เอลวิส อาโค หรือจอห์น (Mr.Tambe Echu Elvis Ako) อายุ 33 ปี สัญชาติไนจีเรีย
พ.ต.อ.สมพรกล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ค.มีบริษัทเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทย ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างเข้าแจ้งความร้องทุกข์ว่าถูกแฮกข้อมูลของบริษัทฯ ปลอมแปลงอีเมล์ก่อนส่งข้อความแจ้งว่ามีการเปลี่ยนแปลงบัญชีรับโอนเงินค่าสินค้า ไปยังคู่ค้าของบริษัทที่ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 6 ล้านบาท ทำให้ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือ จากนั้น ปอท.จึงเข้าไปตรวจสอบบัญชีพบว่าเป็นบัญชีของนิติบุคคลของนางนวลจันทร์ ชาฤทธิ์ ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตการณ์และพฤติกรรมจนพบว่ามีชาวแอฟริกันผิวดำร่วมขบวนการด้วย
จากการตรวจสอบพบว่า บัญชีธนาคารของนางนวลจันทร์นั้นเชื่อมโยงหลายบัญชีธนาคารในประเทศไนจีเรีย รวมถึงไอดีแอดเดรสของอีเมลปลอมก็อยู่ในประเทศไนจีเรียด้วย กระทั่งจับกุมนายตัมเบ อีชู เอลวิส อาโค หรือจอห์น ขณะกำลังเบิกเงินจากตู้เอทีเอ็มของธนาคารแห่งหนึ่งย่านสีลมจึงรวบตัวมาสอบสวนและขยายผลจับนางนวลจันทร์ คาดเป็นแฟนสาวนายจอห์นที่ห้องพักย่านสีลมด้วย ทั้งนี้ สอบสวนผู้ต้องหาทั้ง 2 คนยังให้การภาคเสธ โดยนางนวลจันทร์ยอมรับว่าเป็นเจ้าของบัญชีดังกล่าวที่นายจอห์นแฟนหนุ่มให้เปิดไว้ทำบริษัทรับแรงงานต่างด้าวมาทำงานในไทย ส่วนนายจอห์นอ้างว่ามีเพื่อนจะโอนเงินมาให้ จึงให้เลขบัญชีไปเท่านั้น ไม่มีส่วนรู้เห็นเรื่องแฮกเกอร์อีเมลปลอม หรือที่มาของเงินว่าเป็นการหลอกมาจากบริษัทญี่ปุ่น และไม่เกี่ยวข้องกับคนที่อยู่ไนจีเรียแต่อย่างใด
เบื้องต้นตำรวจแจ้งข้อหาร่วมกันนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการน่าจะเกิดความเสียหายแดกประชาชนตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอมอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา พร้อมคุมตัวผู้ต้องหาไปดำเนินคดีต่อไป
พ.ต.อ.สมพรกล่าวอีกว่า บริษัทผู้ประกอบธุรกิจกับคู่ค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้ตรวจสอบอีเมลทุกครั้งที่มีการติดต่อประสานงานและควรมีช่องทางอื่นติดต่อควบคู่กันไปด้วย หากพบว่ามีความผิดปกติ ผิดสังเกต อาทิ แจ้งเปลี่ยนบัญชีโอนเงิน หรือเอกสารยืนยันการส่งสินค้า ควรตรวจสอบกลับไปยังบริษัทคู่ค้าด้วยทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย